xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน “ผ้าสีมายา” จากดินและภาพวาดฝาผนังถ้ำอายุพันปี สู่ลวดลายบนผืนผ้าความภูมิใจชาวยะลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - กลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา บ้านหน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา สร้างแนวคิดใหม่นำดินมายามาย้อมสีผ้าเกิดเป็น “ผ้าสีมายา” เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผ้าของคนยะลา และมีที่เดียวในประเทศไทย

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่กลุ่มผลิตภัณฑ์สีมายา บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งมีการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” โดยมี นางเนาวรัตน์ น้อยพงษ์ เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกกลุ่มอีก 25 ราย

โดย นางเนาวรัตน์ น้อยพงษ์ ได้เล่าให้ฟังว่า “ผ้าสีมายา” มีความเป็นมาคือ การนำเอาดินที่อยู่ภายในถ้ำภูเขากำปั่น และภูเขาวัดถ้ำ ซึ่งเป็นดินลักษณะเฉพาะที่ชาวบ้านใช้เป็นปุ๋ยในการเพาะปลูกต้นไม้ โดยจะทำให้ต้นไม้นั้นมีความเจริญงอกงามดีมาก แต่ในช่วงระยะหลังๆ การนำเอาดินมายามาทำเป็นปุ๋ยได้ลดน้อยลง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันคิ ดและนำเอาดินมายามาทำประโยชน์ให้มากกว่านี้
 

 
จึงได้แนวคิดในการนำเอาดินมายามาทำเป็นสีย้อมผ้า โดยเอาดินมายามาทำเป็นสี เนื่องจากเคยสังเกตพบว่า หากเสื้อเลอะดินมายาแล้วจะล้างออกยาก เลยมีความคิดว่าน่าจะเอามาทำสีย้อมเสื้อขาวได้ เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ในการนำเอาดินมายาดังกล่าวไปตรวจสอบ พบว่า สามารถจะนำมาทำเป็นสีย้อมผ้าได้จริงๆ 

“นอกจากนี้ ดินมายามีความพิเศษคือ เป็นดินที่ผสมกับมูล หรือขี้ค้างคาวทับถมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี และมีอยู่ที่เดียวในจังหวัดยะลา คือ ที่บ้านหน้าถ้ำ จ.ยะลา โดยในสมัยก่อนนั้นคนโบราณที่อยู่อาศัยภายในถ้ำได้นำเอาดินดังกล่าวนี้ใช้เขียนภาพประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องราวชีวิตลงบนผนังถ้ำ ซึ่งพบได้ภายในถ้ำศิลป์ จ.ยะลา และสีที่ได้จากดินมายานั้นเป็นสีส้มคล้ายๆ สีอิฐ ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ และมีความคงทน” นางเนาวรัตน์ กล่าว

กลุ่มชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” โดยในแต่ละวันนั้นก็จะช่วยกันทำผ้ามัดย้อม โดยวิธีการทำนั้นก็เหมือนกับการทำผ้ามัดยอมทั่วไป แต่สำหรับการทำผ้าสีมายานั้นจะเริ่มจากการนำเอาดินมายามาต้มกับน้ำเดือด และนำเอาผ้าไม่ว่าเป็นผืนผ้า หรือเสื้อ กางเกง มาทำการมัด และทำลวดลายตามแบบที่ต้องการ ซึ่งทางกลุ่มมีลวดลายของผ้าทั้งหมด 8 แบบ คือ 1.ลายใยแมงมุม 2.ลายปล้องไผ่ 3.ลายดอกทานตะวัน 4.ลายข้าวหลามตัด 5.ลายดอกพิกุล 6.ลายขดลวด 7.ลายริ้วทอง และ 8.เป็นลายภาพเขียนบนผนังภายในถ้ำ ซึ่งเป็นภาพเขียนสองยุค 2 สมัย คือ สมัยศรีวิชัย ประมาณ 2 พันปี และยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพวิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณกำลังล่าสัตว์ จึงได้ให้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และหอศิลป์ไปถ่ายภาพเขียนที่มีอยู่ภายในถ้ำศิลป์ และนำภาพดังกล่าวมาแกะบล็อกสกรีนลงบนผืนผ้า โดยภาพเขียนดังกล่าวแต่ละภาพมีอายุมากกว่า 3 พันปี ซึ่งถือเป็นสิ่งล้ำค่า และความภาคภูมิใจของชาวบ้าน ต.หน้าถ้ำ ที่มีผลิตภัณฑ์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่
 

 
ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” ยังเล่าอีกว่า นอกจากการทำผ้ามัดย้อมจากดินมายาที่ได้จากภายในถ้ำแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านก็ยังมีผ้ามัดย้อมที่ทำจากแกนไม้ขนุน ฝักราชพฤกษ์ ใบหูกวาง ใบลองกอง เปลือกมังคุด ซึ่งทั้งหมดทำออกมาแล้วก็ได้ผล มีสีสวย เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่พบเห็น โดยหลังจากที่มีการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ออกไปด้วยการจัดนิทรรศการในแต่ละงานที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับจากผู้ที่ชื่นชอบเสื้อผ้า สีของผ้า และลวดลายของผ้า ทั้งจำหน่ายหมดและมีการสั่งจองกันเข้ามา ลูกค้าบางรายทราบข่าวจากการติดตามเฟซบุ๊กก็ได้เดินทางมาเลือกซื้อถึงกลุ่มผลิต โดยการผลิตนั้นจะมีหลายแบบ ทั้งแบบผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้าโพกศีรษะ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกง ชุดแซก เสื้อผ้าแฟชั่น และผ้าชิ้น สำหรับนำไปตัด และออกแบบเสื้อผ้าเอง โดยราคาจะเริ่มตั้งแต่ 40 บาท สำหรับผ้าเช็ดหน้า ไปจนถึง 700 บาท สำหรับเสื้อผ้า และผ้าชุด

ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวยะลา ที่ได้อนุรักษ์ไว้ทั้งรูปแบบวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณมาไว้บนผืนผ้า ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ และสัญลักษณ์ให้ผู้คนได้จดจำว่า ผ้า “สีมายา” คือผ้าของคนยะลา และมีที่เดียวในประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดของผ้ามัดย้อม “สีมายา” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นางเนาวรัตน์ น้อยพงษ์ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม “สีมายา” ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1368-6300
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น