xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยรักอันยิ่งใหญ่! 34 คู่บ่าวสาวชาวไทย-ต่างชาติร่วมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างสุรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

34 คู่บ่าวสาวชาวไทย-ต่างชาติร่วมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างในงาน “จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ครั้งที่ 10 ตามประเพณีดั้งเดิมของชาวกูยคนเลี้ยงช้าง ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต.กระโพ  อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ วันนี้ ( 14 ก.พ.)
สุรินทร์ - ด้วยรักอันยิ่งใหญ่! 34 คู่บ่าวสาวชาวไทย-ต่างชาติ ร่วมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างสุรินทร์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในงาน “จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ครั้งที่ 10 ตามแบบประเพณีดั้งเดิมของชาวกูย คนเลี้ยงช้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความอบอุ่น เข้มแข็งแห่งรักผูกพันของสามีภรรยาให้แน่นแฟ้น

วันนี้ (14 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายวินัย ตรงจิตรพิทักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในการประกอบพิธีซัตเต เรียกขวัญคู่บ่าวสาวแบบชาวกูย คนเลี้ยงช้าง และมอบใบทะเบียนสมรสใบใหญ่บนหลังช้าง ในงาน “จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ครั้งที่ 10 เนื่องในวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความอบอุ่น ความเข้มแข็งแห่งความรักผูกพันของสามีภรรยาให้แน้นแฟ้น

โดยมี นายกิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดงาน นายเมตต์ แสงจันทร์ นายอำเภอท่าตูม ในฐานะนายทะเบียนอำเภอท่าตูม ร่วมมอบทะเบียนสมรสบนหลังช้างให้แก่คู่รักทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ จำนวน 34 คู่ ที่เข้าร่วมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างในครั้งนี้

อีกทั้งในปีนี้ได้รับเกียรติจากคู่สมรสกิตติมศักดิ์ 2 คู่ คือ คู่สมรสของ พล.ต.มนัส หนูวัฒนา ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน กับนางอุษา หนูวัฒนา และคู่สมรสของนายธัชชัย สีสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และนางสุชาดา สีสุวรรณ เข้าร่วมพิธีสมรสบนหลังช้างวันนี้ด้วย

ทั้งนี้ พิธีซัตเต เรียกขวัญคู่บ่าวสาว เป็นประเพณีของชาวพื้นเมืองสุรินทร์คนเลี้ยงช้างที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก โดยการแต่งกายของเจ้าบ่าวต้องนุ่งโสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าไหมพาดบ่า พร้อมด้วยด้ายมงคล 3 สี ใช้สวมศีรษะ ส่วนเจ้าสาวต้องนุ่งผ้าซิ่นไหมลายกวย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน (ขาว ครีม หรือชมพู) พาดด้วยสไบสีแดง และศีรษะสวม “จะลอม” (มงกุฎที่ทำจากใบตาล)

จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมากนั่งช้างไปรับเจ้าสาว ก่อนจูงมือกันเข้าประกอบพิธีตามลำดับความสำคัญ คือ พิธีสวมด้ายมงคลบ่าวสาว บายศรีสู่ขวัญ และพิธีถอดคางไก่ทายชีวิตคู่บ่าวสาวโดยหมอพราหมณ์ รวมถึงเลี้ยงอาหารช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล และการจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์สุดประทับใจ






กำลังโหลดความคิดเห็น