xs
xsm
sm
md
lg

ฝนกุมภาพันธ์ - เสียงด่าแม่ผีของใครบางคน - กรณีฆาตกรรมฝังหลุมของกลุ่มวัยรุ่นที่ศรีนครินทร์ – และพืชพันธุ์แห่งวรรณกรรมบนผืนแผ่นดินพัทลุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชักรูปร่วมกันในวันสุดท้าย
 

1.


ต้นเดือนกุมภาพันธ์ สายฝนสาดกระหน่ำจนท้องฟ้า และแผ่นดินจังหวัดพัทลุงเปียกแฉะ ชาวสวนยางที่จ่อมทุกขเวทนาอยู่กับราคาผลผลิตตกต่ำอยู่แล้ว ยิ่งหม่นหวังซังกะตายท่ามกลางค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่รัดคออยู่รอบด้าน ใครบางคนสบถถึงท่านผู้นำกลางฟ้าฝน “แม่ม...ถ้าบ้าๆ พันนี้ น่าว่าได้เข้าคอมกันหล่าว”

คำสบถของเขาอาจทีเล่นทีจริง และเป็นการตีโวหารที่ดูตกยุคไปสักหน่อย แต่เนื้อหาสาระกลับสะท้อนภาวะอัดอั้นตันใจของผู้คนในผืนแผ่นดินที่หาอยู่หากินผลผลิตทางการเกษตรอย่างถ้วนทั่ว

กระนั้น นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ในยุคสมัยที่ชาวบ้าน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบ หรือจะใช้ถ้อยคำอะไรก็แล้วแต่ กลายเป็นพวกโง่เง่า ตัวตลก อยู่ในจอทีวีแทบทุกๆ ค่ำวันศุกร์เช่นนี้ ไม่ใช่แค่พัทลุงหรอก ไม่ว่าปริมณฑลไหนๆ ของประเทศนี้ ชะตากรรมของพวกเขาก็จำต้อง “โง่ - จน - เจ็บ” และคอยเป็นบาทฐานให้ “ผู้หวังดี” ต่อประเทศชาติทั้งหลาย ใช้เป็นที่วางฝ่าเท้าย่ำย่างขึ้นไป “อธิบายความหมาย” เพื่อพวกพ้องของเขาบนยอดภูผาแห่งการพัฒนาอยู่วันยังค่ำ

การ “นั่งด่าแม่ผี” อยู่คนเดียวนั่นกระมังที่เป็นทางออกให้พวกเขาพอจะระเบิดระบายออกมา ก่อนที่อกจะแตกตายซะก่อน!?

 

 
2.

ไม่ใช่แค่เสียงสบถที่มาพร้อมฟ้าฝนหรอกที่อึ้งอลอยู่รอบด้านแผ่นดินเมืองพัทลุง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ข่าววัยรุ่นสี่นายร่วมกันฆาตกรรมขุดหลุมฝังคู่อริ ข่มขืนแฟนสาวที่กำลังท้อง กะซวกแทงไม่ยั้ง ก่อนจะพาไปทิ้งเหว ก็สะเทือนเลื่อนลั่นแข่งกับเสียงฟ้าฝนอยู่ในอินเทอร์เน็ต จอทีวี และหน้าหนังสือพิมพ์ทุกสำนัก

“คนพัทลุงโหดร้ายฉิบ” ใครบางคนตั้งข้อสังเกตบนสเตตัสเฟซบุ๊ก นั่นอาจเป็นข้อสังเกตที่ประมวลมาจากแง่มุมบางด้านเกี่ยวแก่จังหวัดพัทลุงบนเวทีเรื่องเล่าทาง “ประวัติศาสตร์ผิวเผิน” ที่เจ้าของสเตตัสพอจะรับรู้มาก่อนหน้า ทั้งเรื่องเล่าว่าด้วยชุมนักเลงบ้านดอนทราย อนุสาวรีย์โจร กรณีไข่หมูก และพี่น้องตระกูลเส้งเอียด การฆาตกรรมหมู่บนเกาะรังนก ซุ้มมือปืน และข่าวคราวการปล้นฆ่า รวมถึงกรณีศพเอกยุทธ เชิงเขาจิงโจ้

ข้อสังเกตดังกล่าวจะมีเหตุผลตรงกับข้อวิเคราะห์ของ “ประวัติศาสตร์เชิงลึก” มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือจริงๆ แล้ว “คนพัทลุงโหดร้าย” หรือไม่นั้น คงไม่ใช่หน้าที่ที่จะอรรถาธิบายในที่นี้

แต่ข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ก็คือ ท่ามกลางฟ้าฝนคำรามของต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ข่าวคราวฆาตกรรมสะเทือนขวัญดังกล่าวก็ส่งเสียงคำรามลามลั่นอยู่บนริมฝีปากของคนพัทลุง และใครต่อใครแทบทุกหัวระแหง

แน่นอน คนพัทลุง หรือใครๆ ก็ล้วนแต่ไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่เกิด แต่จะหยุดยั้งสุ่มเสียงนั้นอย่างไรได้ ในเมื่อมันส่งเสียงดำรงอยู่จริงๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธ
 

 
3.

กระนั้นก็ตาม ฟ้าฝนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ได้มาพร้อมกับข่าวแย่ๆ ที่ครอบคลุมผืนแผ่นดินพัทลุงอยู่ด้านเดียวเท่านั้น อีกฟากหนึ่งของผืนแผ่นดินรูปหนังวัวตากแห้งแห่งนี้ กลับปรากฏกลุ่มคน 2 กลุ่ม พยายามปลูกพรวนสวนดอกไม้ลงในหัวใจเด็กๆ อย่างขะมักเขม้น

พวกเขาเลือกใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้ด้านการอ่าน-การเขียนวรรณกรรมหว่านโปรยลงไปในหัวใจเด็กๆ โดยมีเป้าหมายคือ เมื่อเด็กๆ ถูกกระบวนการอ่านการเขียนวรรณกรรมกล่อมเกลา พืชพันธุ์แห่งความดีงามจะเติบโตขึ้นประดับผืนแผ่นดิน

วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ ที่ “ร้านใต้โหนด” หรือ “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนกนกพงษ์” ซึ่งตรงกับช่วงงานรำลึก 10 ปี การจากไปของ กนกพงษ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ.2539 นอกจากจะมีกิจกรรมรำลึกนักเขียนหนุ่มตลอดกาลคนนั้นอย่างปกติเช่นทุกๆ ปี ปีนี้นักเขียนสิบกว่าคนทั้งจากส่วนกลาง และภาคใต้ ต่างขะมักเขม้นอยู่กับการดูแลเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ หลายสิบชีวิต

พวกเขาพูดให้ความรู้ ฝึกฝนให้เด็กๆ เขียนงาน วิจารณ์ติ-ชม แนะนำงานเขียนของเยาวชนกันอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับปล่อยให้เด็กๆ ได้ซึมซับบรรยากาศ เกิดแรงบันดาลใจจากการได้พบเจอนักเขียนน้อย-ใหญ่ รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ที่มาร่วมงานรำลึกกนกพงษ์ กันคลาคล่ำ ได้ร่วมกิจกรรมรำลึกกนกพงษ์ และได้เยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนฯ”
 
ไพฑูรย์ ธัญญา พูดเสริมสร้างแรงใจและไฟฝันในวันปิดค่าย
 
ขณะที่วันที่ 4-6 หรือก่อนหน้างานที่ร้านใต้โหนดเพียง 2 วัน ณ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานที่ชุมนุมของนักเขียนน้อย-ใหญ่ในงานรำลึกกนกพงษ์ มากนัก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ก็ได้จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนต้นแบบ “รักการอ่าน สร้างงานเขียน” ขึ้น โดยนำกลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วจังหวัดพัทลุง 66 ชีวิต มาผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านการอ่า -การเขียนวรรณกรรม ในบรรยากาศผ่อนคลาย เป็นกันเอง สนุกสนาน จากการดูแลของวิทยากรนักเขียนอย่างประมวล มณีโรจน์, อัตถากร บำรุง, ไพฑูรย์ ธัญญา, สมคิด ทองสง, วิสุทธิ์ ขาวเนียม, ปัทมราษฎร์ เชื้อศูทร, ภาณุวัฒน์ ขุนปราบ, โสพล โสภณอักษรเนียม, การันต์ วรรณยุกต์, สุนันทวงศ์ เทพชู และสมศักดิ์ ขุนชำนาญ

โสพล โสภณอักษรเนียม ในฐานะผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในค่าย กล่าวว่า “การทำค่ายวรรณกรรมมีหลายหลักสูตร ใครถนัดทำแบบไหน จะให้เป็นเวทีแสดงออกของเพศที่สาม เป็นลานแอโรบิกสำหรับเต้นแร้งเต้นกาสองแง่สามง่าม เป็นสถานที่เอาเด็กๆ มานั่งฟังวิทยากรพูดเป็นวันๆ หรือเอาวิทยากรมาบรรยายแล้วเด็กมานั่งเขียนๆๆ กันอย่างเดียวโดยไม่มีมิติอื่นๆ เลย ก็เป็นความถนัดของแต่ละคน หรือแต่ละคณะ แต่สำหรับที่นี่ทีมวิทยากรนักเขียนทั้งหมดทำกิจกรรมค่ายร่วมกันมาหลายสิบค่าย หลักสูตรของค่ายจึงเน้นการสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ให้เด็กๆ เป็นหลัก การสนุกของเด็กๆ ทุกอย่างในค่าย เราพยายามทำให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้การอ่าน-การเขียนงานวรรณกรรม หลักสูตรค่ายของเรา วิทยากรนักเขียนจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของกระบวนการ กระบวนการเรียนรู้จะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (หัวเราะ)"
 

 
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกิจกรรมในค่ายทุกอย่างจึงล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศการอ่าน-การเขียน ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือพิมพ์กำแพง กิจกรรมการวาดรูปประกอบการอ่าน เกมเพื่อการสื่อสาร การฝึกและอ่านบทกวีหลากหลายรูปแบบในบรรยากาศที่เหมาะสม การร้องเพลงที่สร้างสรรค์ การดูหนังสั้นๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อวรรณกรรม การแบ่งกลุ่มพูดคุยกับวิทยากรอย่างลงลึก และเป็นกันเองในบรรยากาศที่เอื้ออำนวย เป็นต้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตอนช่วงปิดค่ายเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสตรีพัทลุงคนหนึ่งจึงพูดแสดงความรู้สึกให้เพื่อนๆ และวิทยากรฟัง “หนูมาค่ายนี้อย่างว่างเปล่า แต่มีความรู้สึกดีๆ มีความรู้ และแรงบันดาลใจกลับไปมากมายเหลือเกินค่ะ”

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในช่วงปิดค่าย ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนซีไรต์ชาวพัทลุง ที่เดินทางมาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเตรียมตัวเป็นพิเศษสำหรับกล่าวเสริมสร้างแรงใจ และไฟฝันให้เด็กๆ จนพวกเขาต่างก็เต็มตื้นไปด้วยความหวัง และกำลังใจ โดยเฉพาะการทิ้งท้ายด้วยบทกวี
 
เด็กๆ นอน-นั่ง ทำกิจกรรมกันแบบสบายๆ
“ในใจเธอคิดอะไรฉันไม่รู้
แต่แววตาที่เห็นอยู่มีไฟฝัน
เธอจะร้องเพลงบทไหนไม่สำคัญ
แต่เป็นเพลงเดียวกันที่ฉันร้อง”

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ประมวล มณีโรจน์ จึงต้องเขียนสเตตัสแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกในเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังกลับมาจากการตามไปสมทบงานรำลึกกนกพงศ์ หลังค่ายจบสิ้น
 

 
“ความรักจะกลับมา”
........
เริ่มต้นเดือนแห่งความรัก

ด้วยค่ายเยาวชนต้นแบบรักการเขียนอ่านของ สนง.วัฒนธรรม พัทลุง

ขังตัวเองไว้ในหุบเขาปู่ 3 วัน 2 คืน

กับเพื่อนพ้องน้องนุ่งลูกศิษย์ลูกหาที่รู้มือรู้ใจ 10 คน

และเยาวชนจากโรงเรียนมัธยมใน จ.พัทลุง 66 คน

ภายใต้บริการแบบ “เป็นไปเอง” ของอุทยานเขาปู่

เยาวชนได้ฝึกอ่านฝึกเขียน ได้พูดคุย หัวเราะ และร่วมร่ายบทกวี

ได้ละห่างสายตา และหัวใจออกจากหน้าจอโทรศัพท์
แม้เพียงชั่วคราวก็เถอะ

ขอบคุณน้องๆ จาก สนง.วัฒนธรรมที่ดูแลพวกเราด้วยหัวใจ
“หัวใจแลกหัวใจ” ที่ค่อยๆ เขัามาเช็ดถูภาวะ “หัวใจแลกเงิน” ให้เอี่ยมอ่อง
ดีใจที่ได้เห็นไพทูรย์ ธัญญา ยืนคุยกับเด็กๆ กลางสายฝนปรอย
คงเป็นภาพแรกๆ ที่ “ต้นแบบ” เรื่องสั้นซีไรต์พัทลุง 
หันกลับไปมองเยาวชนที่เดินตามเขามาบนเส้นทางวรรณกรรม

สบตาพูดคุยกันแบบได้เห็นแววตา และได้ยินเสียงหายใจ

ไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น ปารีส หรือขอบโลกไหนที่คุณไปเหยียบมาหรอก

ก้าวอย่างสง่างามไปบนเส้นทางวรรณกรรม

เป็นต้นแบบอันสมถะ มุ่งมั่น ใฝ่ดี ของพวกเขา

พวกเขาที่จะเป็นต้นแบบแห่งพัทลุงคุณภาพในอนาคต

พัทลุงคุณภาพที่จะช่วยกวาดพัทลุงขี้โม้ออกไปจากเส้นทาง

ดิ่งลึกลงไปในความลี้ลับที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยสิ้นหวัง

นี่คือปฏิบัติการรักเพื่อเช็ดเลือดบาป

ซึ่งเคยเกิดขึ้นที่เขาจิงจ้อ และศรีนครินทร์"
 

 
4.

แน่นอน...รักจะกลับมา
สายฝนแห่งต้นเดือนกุมภาพันธ์จะหมาดสายไปพร้อมๆ คราบเลือดเหนือหลุมศพเหล่านั้น
และไม่นานหรอก พืชพันธุ์วรรณกรรมจะแตกหน่อก่อดอกทดแทนเต็มผืนแผ่นดินแห่งนี้
ส่วนเรื่องจะได้เข้าคอมกันอีกหรือไม่นั่นน่ะ...
ก็คงได้แต่นั่ง “ด่าแม่ผี” กันไปก่อนนะพี่น้อง
 
เด็กๆสนใจกิจกรรมหนังสือพิมพ์กำแพง ที่พวกเขาร่วมกันผลิตเนื้อหาในค่าย
ประมวล มณีโรจน์ พูดคุยกับเด็กๆ
ภาพวาดจากการอ่านของเด็กๆ
 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น