xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสุราษฎร์ฯ ประกาศค้าน ม.44 ดีเดย์ 4 ก.พ.ยื่นหนังสือต้านโรงไฟฟ้ากระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบใน 3 อำเภอของ จ.สุราษฎร์ธานี ประกาศค้าน ม.44 ลั่นดีเดย์ 4 กุมภาพันธ์นี้ ยื่นหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องต้านโรงไฟฟ้ากระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่ ต.ท่าชี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวลใน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลตำบลท่าชี อ.บ้านนาสาร กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำคลองประสงค์ อ.ท่าชนะ และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำท่าสะท้อน อ.พุนพิน รวมตัวกันเพื่อระดมปัญหาที่จะตามมาจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4/2559 ที่ไฟเขียวให้สามารถสร้างโรงผลิตพลังงานไฟฟ้า ประเภทที่ 88 ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองรวมจังหวัด

 
ซึ่งพบว่า คำสั่งดังกล่าวได้ลิดรอนสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พบว่า ทั้ง 3 พื้นที่กำลังมีขบวนการผลักดันให้มีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่มีที่ตั้งติดลำคลองสำคัญของชุมชน และใกล้ชุมชนมาก ผลการปรึกษาหารือในวันนี้มีผลสรุปร่วมกันว่า จะมีการรวมกลุ่มทั้ง 3 พื้นที่เป็นเครือข่ายประชาชนศึกษาความถูกต้องและเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อร่วมส่งเสียงพลังชุมชนที่เดือดร้อนจากคำสั่งดังกล่าว

 
ด้าน นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ สมาชิกเครือข่ายฯ กล่าวว่า วันนี้มีการรวมตัวของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวลใน จ.สุราษฎร์ธานี จาก 3 อำเภอ เป็นเครือข่ายระดับจังหวัดเพื่อร่วมกันปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันสร้างความเจริญให้ชุมชน ป้องกันโครงการที่มีผลกระทบมาทำลายความเจริญของชุมชน ลำคลองที่อยู่ในชุมชนเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการเกษตร และอื่นๆ ซึ่งมีเหตุผลเพียงพอที่คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องเพื่อสร้างความเจริญให้ชุมชน และประเทศชาติ

 
นายศุภวัฒน์ กล่าวอีกว่า ใน จ.สุราษฎร์ธานี ยังมีชุมชนอื่นๆ อีกหลายชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ เช่น โรงไฟฟ้าขยะ อ.ดอนสัก และ อ.เวียงสระ โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.คีรีรัฐนิคม หากชุมชนเหล่านี้จะเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับพวกเขา ทางเครือข่ายฯ ก็ยินดีเพื่อยืนหยัดต่อสู้ปกป้องชุมชน และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษร่วมกัน โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ทางเครือข่ายจะไปยื่นหนังสือให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบอกกล่าวว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ จึงขอให้ยกเลิกโครงการ และกฎหมายดังกล่าว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น