ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นศ.-ปชช.ที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้เคลื่อนขบวนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ประกาศกร้าวต่อต้านถึงที่สุดเพราะกระทบชีวิต และปากท้องชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ลั่นจะขอดิ้นรน และต่อสู้ให้ถึงที่สุด แม้ คสช.ใช้ ม.44 แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี พร้อมเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินเทพา เดินเท้าร่วมเดินขบวนออกจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในช่วงเวลาประมาณ 15.30 น. โดยผ่านถนนสายหลัก หน้าหอนาฬิกาปัตตานี มุ่งหน้าสู่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้เคลื่อนขบวนมาถึงในเวลาประมาณ 16.30. น.
จากนั้นเมื่อมาถึงลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ได้มีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า ผลกระทบของมลพิษนั้นไม่ได้ส่งผลแค่คนในพื้นที่รอบ 5 กม. เท่านั้น แต่มันจะส่งผลถึงไปทั่วทั้ง จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมถึง จ.สตูล และอาจไปถึงตอนบนของประเทศมาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซียอีกด้วย ฉะนั้นคนในพื้นใกล้เคียงอย่างเราเองจะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร ต้องร่วมกันออกมาต่อต้านในสิ่งที่จะทำลายคุณภาพชีวิตมากกว่าการสร้างปัจจัยที่ภาครัฐมักจะอ้างว่าหากไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วจะใช้ไฟฟ้ากันจากไหน
ต่อมา ตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนอำเภอจะนะ ได้กล่าวต่อไปว่า การที่ออกมาเดินขบวนร่วมต่อต้านในสิ่งที่เป็นโทษมหันตภัยร้ายต่อตัวเราเองมันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อย่าไปกลัว เราต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พื้นที่ที่เราอาศัย ที่ตรงนี้มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่จำเป็นต้องนำสิ่งที่พร้อมจะทำลายยัดเยียดให้แก่เรา เราไม่ต้องการ เราไม่เอา ถ่านหินออกไป!
นายคอนดูล ปาลาเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ ตัวแทนนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า ภารกิจของนักศึกษา ม.อ.คือ ประโยชน์ของประชาชนเป็นกิจที่หนึ่ง ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของพวกเรานั้นเท่ากับการช่วยรักษาพื้นที่บ้านเกิดไม่ให้ถูกทำลายจากผลกระทบ หรือพิษร้ายของถ่านหิน จากโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือถ่านหินเทพา ที่จะส่งผลเสียทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าผลกระทบดังกล่าวจะไปสิ้นสุดตรงไหน เพราะทั้งอากาศ และน้ำไม่ได้มีขีดจำกัดในการแพร่สิ่งต่างๆ เหล่านี้
โดยเมื่อผ่านไปประมาณ 1 ชั่งโมง กลุ่มนักศึกษาและเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี รวมถึงกลุ่มคนที่เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบทั้งคนจาก จ.สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้จัดขบวนและเตรียมเดินเท้าผ่านทางถนนสายหลัก เพื่อเดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อไป
พร้อมทิ้งท้ายว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเพิ่งมีประกาศฉบับที่ 3 และ 4/2559 ซึ่งเอื้อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถก่อสร้างที่ไหนบนแผ่นดินของประเทศไทยก็ได้ โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องการปักหมุด 2 แห่งแรกที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะมีดาบอาญาสิทธิ์ คือ ม.44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ แต่เมื่อเป็นผลกระทบต่อปากท้องและวิถีชีวิต นักศึกษา และประชาชนพร้อมจะเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป