xs
xsm
sm
md
lg

คำถามเดียว! สถานการณ์ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรปี 59 ในทัศนะของ “บรรจง นะแส” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
“บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เจ้าของรางวัลสันติประชาธรรม ปี 2558 หัวขบวนของนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ ประเมินสถานการณ์ปี 2559 สถานการณ์ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป “เอกชัย อิสระทะ” ผู้สื่อข่าวพิเศษ “MGR Online ภาคใต้” จะพาไปค้นหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์พิเศษ

เอกชัย - ครับวันนี้เรามาสัมภาษณ์คุณบรรจง นะแส ที่สำนักงาน ว่าสถานการณ์สังคมไทยในปี 2559 เป็นอย่างไร ในสายตาพี่ครับ

บรรจง - ผมมองว่าเราพูดปี 2559 โดยไม่ดูเบื้องหลังมาก่อนนี้ก็คงไม่ได้นะครับ ที่นี้เราดูว่า 3-4 ปีก่อนจะมาถึงสถานการณ์ปี 59 เนี่ย สังคมไทยก็อยู่ในช่วงความขัดแย้งมาตลอดเวลา อาจจะเป็นความขัดแย้งในเชิงความคิดทางการเมือง ประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย เผด็จการ อะไรพวกนี้เนี่ย แต่ทัศนะผมนี่ผมมองว่า สถานการณ์ที่มันเป็นจริง ที่มันเป็นจริงก็ถือว่าความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนเนี่ย นั่นล่ะคือความขัดแย้งจริง

ส่วนความขัดแย้งที่เข้ามาหนุนเสริมก่อให้เกิดความรุนแรง ก่อให้เกิดความขัดแย้งเนี่ย มันเป็นการอธิบายจากหลายภาคส่วน นักวิชาการก็อธิบายไปส่วนหนึ่ง ใช่มั้ย นักการเมืองก็อธิบายไปส่วนหนึ่ง แต่ในส่วนของผมในฐานะคนทำงานกับชาวบ้าน กับชนบทเนี่ย เราเห็นว่าความขัดแย้งเนี่ยมันเกิดขึ้นมาจากความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรในประเทศนี้ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นปี 59 เนี่ย เรื่องนี้ก็ยังไม่คลี่คลาย 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเนี่ย ส่วนหนึ่งเพราะว่า ไม่ว่าโครงสร้างทางการเมืองใช่มั้ยฮะ หรือว่าโครงส้รางส่วนบนในการบริหารจัดการเนี่ย ไม่ได้แก้ไปตรงปัญหาปากท้องของพี่น้องไง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปัจจัย 4

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นความวนเวียนของความขัดแย้งที่เริ่มจากก่อตัวมาจากความแย้งในอาชีพ ชาวประมงจับปลาไม่ได้ พี่น้องบุกรุกป่า ความยากจนเกลื่อนเมือง ก็ก่อให้เกิดความเชื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงว่าจะทำอย่างไร ใช่มั้ยฮะ แล้วก็มีหลายแนวคิด นำมวลชนมาสู่ความขัดแย้ง เพื่อจะเปลี่ยนแปลง แต่พอถึงปี 59 ซึ่งจริงๆ มันก็เปลี่ยนมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่เกิดการปฏิวัติ (รัฐประหาร) นั่นแหละ

การปฏิวัติครั้งนี้พูดถึงเรื่องสำคัญซึ่งที่ผ่านมาพูดถึงน้อย คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ใช่มั้ยฮะ แล้วก็ไปลงรายละเอียดเจ็ดแปดประเด็น สิบประเด็น ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ โน่นนี่นั่น แต่ผมก็มองว่าหลังจากการปฏิวัติหนึ่งปีกว่าผ่านมาเนี่ย รูปธรรมที่คณะปฏิวัติทำได้เลยหลายเรื่องเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ ที่ตัวเองคิดว่าเข้าใจโครงสร้างของความขัดแย้งที่เป็นต้อนตอหลักๆ ไม่ใช่ความคิดทางการเมืองอย่างเดียวเนี่ย มันไม่ถูกแตะเลย

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ดิน วันนี้ก็ยังคงมีคนที่มีที่ดินหกแสนกว่าไร่ ถามว่าวันนี้คณะปฏิวัติได้พูดถึงเรื่องการจำกัดปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นเนื้อหาของความขัดแย้ง เป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศของคนส่วนใหญ่เนี่ย ยังไม่แตะ

ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน โอเคมีการเริ่มพูดถึงเริ่มมีการจับนายตำรวจ นายทหาร ในอดีตก็มี เพียงแต่ว่าเค้าอยู่คนละขั้วกันทางการเมืองต่างหาก ถ้าอยู่ขั้วเดียวกันเรื่องพวกนี้จะถูกกลบเกลื่อน ตั้งแต่เรื่อง CTX เรื่องสุวรรณภูมิ เรื่องจำนำข้าว ก็เป็นความขัดแย้งที่คณะปฏิวัติก็อ้างนะว่าจะจัดการการทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ผมมองว่ารัฐบาลเข้ามาแล้วบอกว่าจะแก้นู่นนี่นั่นเนี่ย ยังไม่แตะ ยังไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง วันนี้มีแนวโน้มจะรวบอำนาจมากขึ้น ใช้ระบบในกลไกราชการมาแก้ปัญหาประเทศชาติมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเนี่ยระบบราชการที่รวมศูนย์ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเนี่ย ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาชุมชนได้ ใช่มั้ยครับ

เพราะฉะนั้น วันนี้เนี่ยปี 59 ถ้าทิศทางยังเป็นอย่างนี้เนี่ย ไม่ว่าคุณจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังไงก็แล้วแต่ถ้ายังไม่แตะปัญหาปากท้องของพี่น้องเนี่ย ผมคิดว่าปี 59 ก็จะเป็นปีหนึ่งของความขัดแย้งใน 2 ระดับ

ระดับหนึ่งคือ ความขัดแย้งในเรื่องของทิศทางการพัฒนาที่กระแสหลักมันถูกเหวี่ยงให้เราไป ภาคใต้ของผมก็จะถูกวางเป็นแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ยังต้องการไฟฟ้ามโหฬาร ยังต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สงขลา ที่สตูล ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมหัวท้าย ไอ้นี่ผมถือเป็นทิศทางการพัฒนาหลักที่ถือว่าล้าหลังในโลกอนาคต

เพราะวันนี้เนี่ยเราต้องการทะเลไว้เป็นแหล่งจับปลา เราต้องการที่ดินสำหรับคนที่จะต้องเป็นเกษตรกร ใช่มั้ยครับ เรื่องสิทธิเสรีภาพเนี่ยเป็นเรื่องที่เป็นวาทกรรมที่มาทีหลัง ถ้าเรื่องพวกนี้ไม่ได้รับการแก้ ความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่

เพราะฉะนั้น ปี 59 ผมคิดว่ายังเป็นปีของความขัดแย้งตั้งแต่เรื่องทิศทางการพัฒนาที่ถูกกำหนดโดยใช้อำนาจหนุนจากอำนาจปฏิวัติ คุณไปสร้างเขตเศรษฐกิจโน่นนี่นั่น ตัดถนนตรงนั้นตรงนี้ มีบางเรื่องที่ทำได้เลย แต่ว่าไม่ได้แตะ เช่นว่า ทำไมไม่ออก พ.ร.บ.เรื่อง ออกพระราชกำหนดเรื่องภาษีก้าวหน้า เรื่องภาษีมรดก เรื่องจำกัดการถือครองที่ดิน

ก็แสดงว่าวันนี้เนี่ยสังคมไทยก็ยังถูก ถูกกุมอำนาจโดยกลุ่มทุนที่มีอำนาจเหนือรัฐ เหนือกลไก คณะปฏิวัติใหญ่แค่ไหนก็ต้องฟัง ง่ายๆ ภาคประชาสังคม พรรคประชารัฐอะไรที่รัฐบาลเพิ่งเซ็นตั้งนี่ไปแจงดูสิ คนเห็นกันทั้งเมืองว่าจริงๆ แล้วก็คือ กลุ่มอีลิท หรือกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ทั้งนั้นที่จะวาง และออกแบบประเทศไทยในอนาคตซึ่งผมคิดว่ามันยังไม่แตะ

เพราะฉะนั้น ปี 59 จึงเป็นปีของความขัดแย้งตั้งแต่ในระดับของพื้นที่ที่ใช้กลไกอำนาจรัฐของการปฏิวัติเนี่ยลงไปเพื่อจะผลักดันให้สอดคล้องต่อทิศทางการพัฒนาหลักของกระแสหลักที่จะมาพึ่งจีดีพี เพิ่งการนำทุนเข้ามาในประเทศ เพื่อจะก่อให้เกิดการพัฒนาโน่นนี่นั่น แต่ลืมพูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ลืมการพูดถึงลูกหลานในอนาคตต้องการอากาศบริสุทธิ์หายใจ มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่หากินในเซเว่นอีเลฟเว่นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ปี 59 ผมจึงมองว่าจึงเป็นปีของความขัดแย้งที่ทั้งอึมครึม ทั้งเปิดเผย ทั้งมีจุดที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาชน โดยไม่แคร์อำนาจเหนือรัฐใดๆ ครับ ผมมองอย่างนั้นนะ

เอกชัย - ครับผมครับ ขอบคุณมากครับคุณบรรจงครับ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น