โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
เมื่อสุดสัปดาห์ต่อเนื่องต้นสัปดาห์นี้มีกิจกรรมเล็กๆ ของกลุ่มคนเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ ริมฝั่งทะเลอันดามันสุดปลายด้ามขวานไทย ทว่า ผลต่อเนื่องที่จะตามมากลับไม่ใช้เรื่องเล็กๆ เพราะไม่ใช่ความล่มสลายของชุมชนเล็กๆ หรือจังหวัดเล็กๆ ที่นั่นเท่านั้น แต่กระทบถึงผู้คนทั้งภาคใต้ และผืนแผ่นดินไทยทั้งประเทศเสียด้วย
“เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล” ที่เกิดจากการรวมตัวของคนทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้จัด “เวทีสมัชชาคนสตูล วาระพิเศษ ครั้งที่ 4” ขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเปิดเวทีกลางแจ้งเพื่อเตรียมตัว และนัดรวมพลช่วงเย็นวันอาทิตย์ขึ้นที่ลาน 18 ล้านชายหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดสตูลในเช้าวันจันทร์ แล้วเปิดเวทีแสดงเจตนารมณ์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งตั้งอยู่ในรั้วศาลากลางต่อเนื่องจากจนค่ำ
กิจกรรมครั้งนี้นอกจากคนสตูลเองแล้ว ยังมีเครือข่ายประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน รวมถึงศิลปิน นักคิด นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการจากทั้งในภาคใต้และกรุงเทพฯ เข้าร่วมรวมแล้วเกือบพันชีวิต
สำหรับกิจกรรมทั้ง 2 วันดังกล่าวมีการขับกล่อม และสร้างความครึกครื้นจากศิลปินมากมาย โดยเฉพาะจาก “วงกัวลาบารา” ดาวเด่นในฝั่งอันดามัน และภายใต้การนำของ “น้าแสงธรรมดา” ที่ข้ามฟากมาจากอ่าวไทย ส่วนการให้ข้อมูลเชิงวิชาการก็มีในทั้ง 2 เวที โดยเฉพาะที่ได้น้ำได้เนื้อคือ การเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาจังหวัดภายใต้คำขวัญ..สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ซึ่งวิทยากรที่สลับกันขึ้นให้ข้อมูล ประกอบด้วย ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต อ.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส จาก ASTVผู้จัดการภาคใต้
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี หนึ่งในแก่นแกนเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เปิดเผยถึงการจัดเวทีสมัชชาคนสตูลวาระพิเศษครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการต้อนรับ นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ที่เพิ่งได้รับการโยกย้ายให้มารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลคนใหม่ พร้อมกันนั้น เพื่อให้ตัวแทนเครือข่ายที่ทำการศึกษาประเด็นการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลให้ทางผู้บริหารจังหวัดชุดใหม่ได้รับทราบ พร้อมยื่นข้อเสนอสมัชชาคนสตูลให้แก่ผู้ว่าฯ ด้วย
สำหรับประเด็นที่เครือข่ายเตรียมไว้นำเสนอต่อผู้บริหารจังหวัดชุดใหม่ประกอบด้วยด้านต่างๆ ได้แก่ สุขภาพและสุขภาวะ, การเกษตรทางเลือก, ทรัพยากรทางทะเลและการประมง, ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และรีสอร์ตชุมชน, ท้องถิ่นจัดการตนเอง, การศึกษาทางเลือก, สวัสดิการชุมชน, ที่อยู่อาศัยและที่ดิน, ประเด็นผู้หญิง และประเด็นการติดตามแผนและทิศทางการพัฒนา
เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมทั้ง 2 ดังกล่าวเหมือนเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อบอกให้ผู้บริหารบ้านเมืองชุดใหม่ทราบว่า ชาวสตูล และคนภาคใต้จำนวนมากมายไม่ต้องการเห็นการเกิดขึ้นของ “ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “สะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สตูล-สงขลา” ตามแผน “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด)” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตลอด 2 วันของกิจกรรมสมัชชาคนสตูลที่เชื่อต่อถึงผู้บริหารบ้านเมืองนั้น มีการให้ข้อมูลที่ชี้ชัดจนสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในวงกว้างว่า “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำปากบารา” ไม่ได้เกิดขึ้นใน จ.สตูล บนฝั่งอันดามันอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่กลับยังต้องเชื่อมต่อกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น“ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” แล้วเชื่อมกันด้วย “ถนนมอเตอร์เวย์” กับ “เส้นทางรถไฟอุตสาหกรรม” รวมถึง“ระบบท่อน้ำมัน-ก๊าซ” ซึ่งนั่นก็คือ “แลนด์บริดจ์ภาคใต้” นั่นเอง
โดยแลนด์บริดจ์เส้นนี้เป็นความต้องการให้เกิดขึ้นมาแล้วในทุกรัฐบาล ไม่ยกเว้นแม้กระทั่ง “รัฐบาลท็อปบูต” ที่นั่งกุมบังเหียนประเทศในเวลานี้
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังมีแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ ล้อมรอบแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา ไม่ว่าจะเป็นถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมชายแดนไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะผุดเป็นดอกเห็ดในหลายจังหวัด และบางจังหวัดก็หลายโรงด้วย ทั้งที่สตูลเอง สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ประจวบฯ และราชบุรี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2-5 แห่งทั่วภาคใต้ โรงถลุงเห็นที่ระโนด ท่าเรือน้ำลึก เส้นทางรถไฟ รวมทั้งการพัฒนาสนามบิน เป็นต้น
อันเป็นไปเพื่อเชื่อมโครงการ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ที่เกิดขึ้นแล้วกับ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ที่กำลังจะปลุกปั้นให้เป็นจริง เพื่อให้มีความต่อเนื่องกันเพื่อพลิกแผ่นดินภาคตะวันออกเชื่อมโยงถึงภาคใต้ให้เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นจาก “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่ แล้วขยายเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ในที่สุด
นี่เองคือสิ่งที่ยืนยันว่า กิจกรรมของคนกลุ่มเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องราวอะไรที่เล็กๆ ตามไปด้วย แต่ส่งผลสะเทือนเลือนลั่นทั่วภาคใต้ และทั้งประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่จับจ้องของกลุ่มทุนทั่วโลกเลยทีเดียว
โดยหลังรับข้อเสนอของสมัชชาคนสตูล ผู้ว่าฯ สตูล กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดที่ได้รับถือเป็นเรื่องดี ซึ่งจะมีการนำเป็นวาระการพัฒนาของจังหวัด ส่วนเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราถือเป็นเรื่องรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ส่วนความคืบหน้าที่นายกฯ แถลงเป็นนโยบายของรัฐบาล เมื่อมีคำสั่งมาก็ต้องทำตามภารกิจหน้าที่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด โดยตนจะนำข้อเสนอส่งต่อไปให้รัฐบาล ซึ่งเวลานี้เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารายังเป็นเรื่องไกลตัว
ด้าน นายสมบูรณ์ คำแหง แก่นแกนเครือข่ายภาคประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลอีกคนให้ความเห็นว่า เวทีสมัชชาคนสตูลครั้งนี้จะทำให้ผู้บริหารจังหวัดชุดใหม่เข้าใจคนสตูลมากขึ้น และจะมีการส่งผ่านข้อมูลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. รวมถึงคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
“เจตนาของคนสตูล คือ ขอให้มีการพัฒนาไปในทิศทางยั่งยืน มากกว่าการพัฒนาและผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเราพบข้อมูลว่า มีการเตรียมสนับสนุนงบประมาณไว้อีกกว่า 120 ล้านบาท ในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA รวมถึงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันจนพลิกแผ่นดินทั้งภาคใต้ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ซึ่งนั่นถือเป็นการทำลายมากกว่าที่จะใช้คำว่าพัฒนา”