ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง และภาคประชาชน ร่วมจัดเวทีเสวนาหาทางออก “การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน”
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า จากการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ร่วมกับชุมชน 24 แห่งที่ผ่านมา นับว่าได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนเกินความคาดหมาย โดยที่ผ่านมา หลังจากจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีแต่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีการประชุมหารือร่วมกันทุกเดือน
จากที่เคยมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน หรือมีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องการพัฒนา และการอนุรักษ์ เมื่อมีการประชุมเพื่อพูดคุยปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน พัฒนาชุมชน และสังคมร่วมกัน ในที่สุดก็นำมาสู่มิตรภาพที่ดีต่อกันภายใต้หลักการยอมรับว่าท่าเรือแหลมฉบังต้องอยู่คู่กับชุมชน
ดังนั้น จึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน โดยต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจะต้องนำมาหารือหาทางออกร่วมกันก่อน แนวคิดนี้ได้นำไปสู่การที่ท่าเรือแหลมฉบังและภาคประชาชนโดยรอบจะร่วมกันจัดเวทีเสวนาเพื่อหาทางออก
ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน” ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยารีสอร์ท จังหวัดชลบุรี โดยที่ภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน และหน่วยราชการในพื้นที่มาร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสังคมสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งนี้ ข้อสรุปผลการเสวนาในครั้งนี้จะถูกเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
นายสนธิ กล่าวว่า สำหรับผลการทำงานในการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานท่าเรือแหลมฉบังยุคใหม่ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างได้ผลดียิ่ง โครงการต่างๆ ที่ลงไปชุมชนมาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน 7 แห่ง โครงการส่งเสริมอาชีพต่างๆ โครงการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี โครงการพัฒนาปรับปรุงวัด โรงเรียน เป็นต้น
โครงการที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการสำหรับผู้สูงอายุ อีกโครงการหนึ่งคือ จะร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ โดยจะให้มีการเรียนรู้สัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อให้ผู้สูงอายุมาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน โดยจะทำเป็นหลักสูตรอบรมทั้งการดำเนินชีวิตเมื่อสูงวัย การออกกำลังกาย ฟังธรรมมะ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เยาวชนรุ่นหลัง ผลที่ได้คือ ผู้สูงอายุมีกำลังใจ ไม่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่สมองฝ่อ และรู้ข่าวสารบ้านเมือง
ดังนั้น ในโลกยุคใหม่เราจะต้องเริ่มมิติใหม่ของการพัฒนา การดำเนินโครงการต่างๆ จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ให้ประชาชนเป็นที่ปรึกษา ปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยการคิดจากล่างสู่บน เรื่องเหล่านี้อยากให้ภาครัฐผลักดันในพื้นที่อื่นต่อไปด้วย
ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีส่งออก และนำเข้าสินค้ามากที่สุดในประเทศไทย ถือว่าเป็นประตูสู่โลกอีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบาย และแนวคิดจะทำการขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟสที่ 3 โดยการถมทะเลออกไป 1,600 ไร่ ความยาวตั้งฉากกับชายฝั่งทะเล 4,500 เมตร ซึ่งนโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจะทำให้ประมงเรือเล็ก และประมงชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงในการประกอบอาชีพ
ซึ่งรัฐบาลได้เห็นความเดือดร้อนของประชาชนจึงระงับแผนการดังกล่าว ต่อมา ได้มีจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบังขึ้น เพื่อทำการเยียวยา ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 1 และ 2 คณะกรรมการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่อย่างดีตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา