xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านบางเหรียงร้องสื่อ! กรมชลฯ ใช้ค่าเวนคืนที่ดินเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เผยราคาต่ำเกินเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านบางเหรียงเข้าร้องสื่อ! ขอความเป็นธรรม หลังกรมชลประทานใช้ค่าเวนคืนที่ดินเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเพื่อขยายคลอง ร.1 (ระยะที่ 2) ชาวบ้านเผยราคาต่อไร่ต่ำเกินกว่าราคาซื้อ-ขายที่ดินในปัจจุบัน จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเกือบ 30 ราย

วันนี้ (21 ม.ค.) นายพิชญพงศ์ ทองส่งเสริม แกนนำชาวบ้านบ้านเกาะน้ำรอบ หมู่ที่ 6 ต.บางเหรียง อ.ควนเนียง จ.สงขลา พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกรมชลประทาน ผ่านทางสื่อมวลชน เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเวนคืนที่ดิน เพื่อขยายคลอง ร.1 จากโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ (ระยะที่ 2)

โดย นายพิชญพงศ์ เปิดเผยว่า ชาวบ้านทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนครั้งนี้ มีจำนวนเกือบ 30 ราย ซึ่งทั้งหมดเคยถูกเวนคืนที่ดินไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2545 ในราคาไร่ละ 500,000 บาท ตามกฎหมายเวนคืน แต่ในครั้งนี้เมื่อมีการเวนคืนในระยะที่ 2 ระยะเวลาห่างกัน 10 กว่าปี ซึ่งราคาประเมินมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ตัวแทนของกรมชลประทานที่มาเรียกประชุมชาวบ้านยังยืนยันที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านในราคาไร่ละ 500,000 บาท เช่นเดียวกับเมื่อปี 2545

 
ในขณะที่ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีการซื้อขายกันที่ 1,400,000-1,500,000 บาทต่อไร่ โดยตัวแทนของกรมชลประทานอ้างต่อชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านไม่ยินยอมรับเงินเป็นค่าชดเชยไร่ละ 500,000 บาท ก็จะให้กฎหมายเวนคืนไร่ละ 300,000 บาท ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และเห็นว่าสิ่งที่ตัวแทนของกรมชลประทานทำกับชาวบ้านเป็นเรื่องที่ไม่มีความเป็นธรรม และรับไม่ได้

เมื่อชาวบ้านไม่ยอมรับในราคาชดเชยดังกล่าว เนื่องจากถ้ายอมตามที่ตัวแทนของกรมชลประทานต้องการเวนคืนไร่ละ 500,000 บาท เงินที่ได้ก็ไม่สามารถนำไปซื้อที่ดินเพื่อทำกินได้ เพราะราคาของที่ดินในบริเวณข้างเคียงที่มีการซื้อขายในปัจจุบัน คือ 1,400,000-1,500,000 บาท และชาวบ้านหลายคนยังมีบ้านอยู่ในที่ดินดังกล่าว ดังนั้น นอกจากจะต้องซื้อที่ดินใหม่แล้ว ยังต้องมีการสร้างบ้านหลังใหม่อีกด้วย ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องขอค่าชดเชยในราคาไร่ละ 2,000,000 บาท แต่ตัวแทนจากกรมชลประทานอ้างว่า หากต้องการค่าชดเชยที่แพงกว่าไร่ละ 500,000 บาท ก็ให้หาหลักฐานการซื้อขาย หรือการทำธุรกรรมต่อธนาคารมาแสดง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากที่ดินบางแปลงเป็นมรดกตกทอด ไม่มีหลักฐานการซื้อขาย และที่สำคัญในการซื้อขายที่ดินในประเทศไทยเป็นที่รู้กันอยู่ว่ามีการแจ้งราคาไม่จริงเพื่อไม่ต้องการเสียภาษีมากๆ

 
นายพิชญพงศ์ เปิดเผยต่อไปว่า ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา และศูนย์ดำรงธรรมได้เรียกตัวแทนของชลประทาน และชาวบ้านไปพบ โดยศูนย์ดำรงธรรมฟังข้อมูลที่เป็นเรื่องของกฎหมายจากชลประทานเป็นด้านหลัก แต่ไม่ได้มองถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ โดยเฉพาะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรต่อพวกตน เพียงแต่พวกตนต้องเสียสละเพื่อแก้ปัญหามิให้น้ำท่วมคนใน อ.หาดใหญ่ เท่านั้น ซึ่งชาวบ้านที่มาร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมดไม่ได้คัดค้านโครงการนี้ เพียงแต่ต้องการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชยให้เท่ากับราคาซื้อขายที่ดินที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น

และสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ มีการหมกเม็ดในหลายเรื่อง เช่น มติการประชุมที่มีการประชุม แต่ไม่มีการลงมติ รวมทั้งมีการใช้วิธีการสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนว่า ถ้าใครไม่ยอมรับในราคาชดเชยไร่ละ 500,000 บาท ก็จะใช้กฎหมายเวนคืนมาบังคับโดยจ่ายให้ไร่ละ 300,000 บาท ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อปี 2545 กฎหมายเวนคืนจ่ายให้ชาวบ้านไร่ละ 500,000 บาท ผ่านไป 14 ปี ที่ดินมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ทำไม่กฎหมายเวนคืนจึงให้ราคาที่ดินไร่ละ 300,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าครั้งที่แล้วเมื่อ 10 กว่าปีเกือบครึ่ง พวกตนไม่รู้จะพึ่งใครจึงขอพึ่งสื่อให้ช่วยเสนอข่าวให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของพวกตนในครั้งนี้


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น