ปัตตานี - นักวิชาการมุสลิม ผู้นำศาสนาแนะให้ผู้เกี่ยวข้องต่อการสร้างพุทธมณฑลปัตตานี ตระหนักถึงความเหมาะสม อาจกลายเป็นปมขัดแย้งทางความรู้สึกของมุสลิมในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการเตรียมทำไปรษณียบัตรระดมทุนสร้าง 200 ล้านบาท
วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศความรู้สึกของประชาชนมุสลิมในพื้นที่จะหวัดปัตตานี ต่อกรณีที่มีการผลักดันให้มีการสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่จังหวัดปัตตานี บนที่ดินงอกบริเวณปากอ่าวปัตตานี ม.6 ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ในเนื้อที่ 100 ไร่ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ในการที่จะสร้างพุทธมณฑลในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่มีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ อาจสร้างปมขัดแย้งทางความรู้สึกไม่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับประชาชนในพื้นที่ถึงความไม่จริงใจ ไม่ให้ความเคารพต่อความเชื่อที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอยู่
หลายฝ่ายเป็นห่วงในเวลาที่ทุกฝ่ายกำลังหาเส้นทางสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น เส้นทางการสู่สันติภาพนั้น ทุกฝ่ายต้องไม่ไปสร้างอะไรที่อาจกลายเป็นปม หรือเงื่อนไขของความขัดแย้ง หรือทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างบรรยากาศในพื้นที่ให้เอื้อต่อการสร้างสันติภาพได้ด้วย ไม่เพียงแค่การพูดคุยในเวทีระหว่างประเทศ ระหว่างตัวแทนของรัฐกับตัวแทนผู้คิดต่าง จึงทำให้นักวิชาการ ผู้นำศาสนาในพื้นที่เรียกร้องให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องต่อการสร้างพุทธมณฑลปัตตานีในครั้งนี้ ทบทวน และคิดให้รอบคอบ อย่างน้อยให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนดีไหม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง
ด้าน นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี ได้กล่าวถึงกรณีการพยายามผลักดันให้มีการสร้างพุทธมณฑลในปัตตานี ว่า เป็นเรื่องที่สร้างได้เพราะถ้าคิดแค่ว่ามีอำนาจอยู่ในมือ แต่ถ้าดูความเหมาะสมแล้วมันไม่น่าจะเหมาะสมถ้าเราใช้สติปัญญาคิด เนื่องจากจังหวัดปัตตานีทุกคนก็รู้แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านเรายังรู้เลยว่า ที่นี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่นี่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมมากที่สุด และเข้มแข็งที่สุดของประเทศไทย จนกลายเป็นที่เชื่อมั่นของมุสลิมทั่วโลก รัฐบาลในอดีต และปัจจุบันจึงได้ถือโอกาสนี้จะมาสร้างเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยเฉพาะการแปรอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก ดังนั้น การที่จะมาสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสัญลักษณ์ให้เปลี่ยนจากเดิม อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตได้ ไม่ว่าการผลิตอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก เวทีการพูดคุยสันติสุขที่เพิ่งจะเริ่มต้น ความพยายามสร้างพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อสอดรับต่อบรรยากาศของการพูดคุย
จึงอยากให้มีการทบทวน หรือกลับไปถามประชาชนในพื้นที่ก่อนดีไหมว่า ประชาชนในพื้นที่เขาคิดอย่างไรต่อกรณีการสร้างพุทธมณฑล แต่ที่อยากถามผู้ที่เกี่ยวข้องว่าสร้างเพื่ออะไร มันมีความสำคัญต่อพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธอย่างไร เพราะยังมีกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมทางพุทธศาสนาอีกหลายทาง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเพียงแค่สัญลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนา ซึ่งอาจกลายเป็นปมของความขัดแย้ง อย่าคิดว่าประชาชนไม่ออกมาเดินขบวน แล้วคิดว่าประชาชนจะเห็นด้วย เราไม่ควรที่จะผลักให้ประชาชนกลับไปอยู่กับอีกฝ่ายโดยที่ไม่จำเป็น เพราะวันนี้เรากำลังสร้างบรรยากาศปรองดองเพื่อสันติภาพ จึงอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายควรที่จะตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก
ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ปัตตานี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานประชุมหารือการจัดสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี โดยมี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าฯ ปัตตานี พระสิริจริยาลังการ เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ตามที่จังหวัดปัตตานี ได้มีโครงการจัดตั้งพุทธมณฑลประจำจังหวัดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังมีปัญหาหลายอย่าง ทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามโครงการ ทั้งการจัดหาสถานที่ การคมนาคม และงบประมาณ ซึ่งล่าสุด ผู้ว่าฯ ปัตตานี ได้เสนอใช้พื้นที่บริเวณ ต.รูสะมิแล ถัดจากสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี เป็นที่ตั้ง ได้มีการหารือเป็นการภายใน และมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จึงได้มีการประชุมหารืออย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นครั้งแรก
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างประกาศ หรือคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษา และคณะกรรมการจัดตั้งพุทธมณฑลปัตตานีฝ่ายต่างๆ การพิจารณารูปแบบของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล การพิจารณารูปแบบพระประธาน รูปแบบฐานองค์พระประธาน รวมทั้งรูปแบบการระดมทุน เช่น การหารือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อออกไปรษณียบัตรเพื่อจำหน่ายให้ผู้ร่วมทำบุญได้จัดซื้อ หรือร่วมบริจาคเงิน และตอบกลับไปรษณียบัตรดังกล่าวมาเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมหนึ่งในการจัดสร้างพุทธมณฑลปัตตานี เป็นต้น