ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ว่าฯสงขลา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 การสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา นำไปสู่การพัฒนาความเจริญส่วนภูมิภาค ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (14 ม.ค.) นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าฯ สงขลา กล่าวเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ณ โรงแรมฟลอร่าเมย์ อ.เมือง จ.สงขลา นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ กรรมการรองผู้จัดการบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการโครงการงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา มาชี้แจงรายละเอียดโครงการให้แก่ตัวแทนส่วนราชการ พร้อมประชาชนทุกภาคส่วนในจังหวัดสงขลาที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันพิจารณาแนวเส้นทางโครงการ ที่ตั้งสถานี ลักษณะและรูปแบบเส้นทาง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ หลังจากมีการจัดประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 แล้วในช่วงปลายเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา
โดย นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท 6 กลุ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 321 กม. ผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ มีระยะทาง 67 กม. ผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ 11 ตำบล จำนวนสถานี/ป้ายหยุดรถไฟ 13 แห่ง จ.นครศรีธรรมราช มีระยะทาง 119 กม. ผ่านพื้นที่ 7 อำเภอ 30 ตำบล จำนวนสถานี/ป้ายหยุดรถไฟ 23 แห่ง จ.พัทลุง มีระยะทาง 77 กม. ผ่านพื้นที่ 6 อำเภอ 23 ตำบล จำนวนสถานี/ป้ายหยุดรถไฟ 18 แห่ง และ จ.สงขลา มีระยะทาง 60 กม. ผ่านพื้นที่ 5 อำเภอ 16 ตำบล จำนวนสถานี/ป้ายหยุดรถไฟ 6 แห่ง
ในส่วนของแนวทางการออกแบบช่วงชุมทางหาดใหญ่-สงขลานั้น มีระยะทางทั้งสิ้น 29.61 กิโลเมตร โดยจะมีทางรถไฟระดับดิน 13.16 กม. ใช้เขตทางเดินรถ 30 ม. สำหรับเดินรถ และทางรถไฟยกระดับ 16.45 กม. ใช้เขตทางเดินรถ 20 ม. ซึ่งสถานีรถระดับดินจะประกอบด้วย 2 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดพะวง และสถานีน้ำกระจาย สถานีรถไฟยกระดับ 5 สถานี ได้แก่ สถานีคลองแห สถานีบ้านเกาะหมี สถานีน้ำน้อย สถานีเขารูปช้าง และสถานีสงขลา ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ดังนี้ สร้างสะพานรถไฟข้ามทางรถยนต์ สร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ สร้างสะพานแบบตัว U และตัว H สร้างทางบริการข้ามทางรถไฟ สร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ และสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม และสะพานลอยจักรยานยนต์ เพื่อแก้ปัญหาทางการจราจร และอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเส้นทางรถไฟ
นอกจากนี้ นายประยุทธ เจริญกุล ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงมาตรการการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าในด้านคุณภาพอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือนนั้นจะส่งผลกระทบในเรื่องการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง เสียงดัง และความสั่นสะเทือน ด้านคุณภาพน้ำนั้นส่งผลกระทบในเรื่องของตะกอนดินฟุ้งกระจาย ทำให้แหล่งน้ำมีความขุ่นเพิ่มขึ้น น้ำทิ้งจากบ้านพักคนงาน และสำนักงานโครงการ ด้านการคมนาคมขนส่ง ส่งผลกระทบในด้านการจราจร ความไม่สะดวกในการเดินทางเนื่องจากการกั้นรั้วทางเดินรถไฟ ด้านการระบายน้ำ อาจกีดขวาง หรือเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำและการระบายน้ำในพื้นที่ เนื่องจากการสร้างสะพาน และตอม่อในแหล่งน้ำสายหลัก ด้านสภาพเศรษฐกิจและสังคม จะก่อให้เกิดให้ความเดือดร้อนรำคาญใจจากกิจกรรมการก่อสร้าง ด้านการโยกย้ายและเวนคืน การรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและพืชผลที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีมาตรการลดผลกระทบดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม การสร้างรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลานั้น คงสามารถพัฒนาความเจริญส่วนภูมิภาค ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พลังงานเชื้อเพลิง โดยโครงการรถไฟทางคู่ดังกล่าวมีระยะดำเนินงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 5 ปี