สุราษฎร์ธานี - ชาวสวนยางพาราในพื้นที่ทับซ้อนประกาศเขตทับที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี หันมาปลูกสตรอเบอรี่ในพื้นที่สวนยางพาราที่ตัดโค่นไม่ได้ เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว พบให้ผลผลิตดีเหตุพื้นที่อยู่ระดับสูงอากาศหนาวคล้ายทางภาคเหนือ
นางภัณฑิลา ดีหนู อายุ 42 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเกษตรกรที่หันมาปลูกสตรอเบอรี่ แซมในสวนยางพาราที่ตัดโค่นไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ที่ประกาศทับซ้อนที่ทำกินของเกษตรกรประมาณ 5,000 ไร่ ว่า เมื่อประมาณปี 2505 พ่อแม่ได้เข้าไปปลูกสวนยางในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านส้อง และอาศัยทำกินมาตลอด ต่อมา เมื่อปี 2534 อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ได้ประกาศทับพื้นที่การเกษตรกว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่การเกษตรหมู่ที่ 2 จนไม่สามารถตัดโค่นต้นยางที่หมดสภาพได้ เนื่องจากจะผิดกฎหมายของอุทยานแห่งชาติ การประกาศดังกล่าวทำให้ตนเอง และครอบครัวได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถโค่นต้นยางเก่า และปลูกต้นยางใหม่มาทดแทนได้
จึงหันศึกษาค้นคว้าความรู้ทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการปลูกพืชแซมในสวนยาง จากการศึกษาพบว่า พืชที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศในสวนยางของตนซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 500 เมตร มีอากาศหนาวเย็น และมีหมอกปกคลุม คือ สตรอเบอรี่ เป็นพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว จึงได้ตัดสินใจนำสตรอเบอรี่ สายพันธุ์พระราชทาน 80 สายพันธุ์ 329 สายพันธุ์ไทโอก้า และสายพันธุ์พายเบอรี่ (Pineberry) มาทดลองปลูกในพื้นที่ดังกล่าว
จากการทดลองปลูก พบว่า ปลูกสตรอเบอรี่ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่จะต้องมีการเตรียมดิน ปรับสภาพดินให้เหมาะสม และการเตรียมน้ำให้พร้อม หลังจากทุกอย่างพร้อมก็ลงต้นกล้าที่เพาะไว้มาปลูกในแปลง หลังจากนั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งทดลองปลูกมาแล้วประมาณ 1 ปี พบว่า ได้ผลผลิตดีทั้ง 3 สายพันธุ์ให้ผลผลิตดี รสชาติดีกว่าทางภาคเหนือ เนื่องจากใต้พื้นดินบริเวณสวนมีแร่ยิปซัมอยู่จึงทำให้ผลไม้ในพื้นที่อำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาสาร มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น และจึงเป็นที่ต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม ในการปลูกพืชแซมสวนยางนั้นในส่วนของตนมีปัญหาเรื่องของเงินลงทุน ที่ผ่านมาใช้เงินทุนของครอบครัว และกู้เงินนอกระบบมาดำเนินการ เนื่องจากไม่สามารถนำที่ดินที่เป็นสวนยางในปัจจุบันขอกู้เงินจากการสนับสนุนของรัฐบาลได้ เพราะพื้นที่ทำกินเป็นพื้นที่ทับซ้อนต่อการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของเกษตรกร จึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งพิสูจน์สิทธิให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินก่อนการประกาศเขตอุทยาน เพื่อคืนสิทธิในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนทั้งเงินทุน และเส้นทางการลำเลียงผลผลิตออกจากพื้นที่ จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด่วน