xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมดันราคายางที่ตกต่ำด้วยข้อมูล ความรู้ และสำนึกที่ตื่นตัว Alert For The Country!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
กงซี้ใหญ่สวนยางนาบอน

จำได้ว่าได้เขียนบทความร่วมดันราคายางพาราให้สูงขึ้น : ด้วยกำลัง 4 เครื่องยนต์ ..ก้าวให้ไกลเกินการแทรกซื้อ หรือจำนำโดยรัฐ!!! ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อ วันที่ 8 พ.ย.2558 ณ ช่วงนั้นราคายางแผ่นดิบราคา 38 บาท น้ำยางสด 37 บาท

วันนี้มีข่าวพี่น้องชาวสวนยางลำบากอย่างแสนสาหัส จะอดข้าวกันที่ จ.ตรัง ชาวยางเตรียมเคลื่อนไหวหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง ชาวสวนยางจะเคลื่อนไหวที่ จ.สงขลา บางกลุ่มนัดรวมตัวกันที่สุราษฎร์ธานี แกนนำชาวสวนยางบางคนก็บอกว่า

“ราคาน้ำยาง หน้าสวน 25 บาท ยางแผ่น 30 กว่าบาท เลวร้ายที่สุดในรอบ 100 ปี”

ผมเห็นราคายางดิ่งลงมาตลอดหลังวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งในต่างประเทศเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ การซื้อขายในต่างประเทศถือเป็นวันหยุดยาว ขณะเดียวกัน อีกไม่กี่วันก็ย่างเข้าหน้าเทศกาลตรุษจีน ต้นกุมภาพันธ์ อุตสาหกรรมโรงงานบริษัทต่างๆ ในจีนซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำในวงจรของการบริโภคยางพาราของโลกเขาจะถือเป็นช่วงหยุดยาว

มองปรากฏการณ์เฉพาะหน้า ถือเป็นวันหยุดยาวกันเป็นสิบวันของประเทศผู้บริโภคยางรายใหญ่ประจวบกับปริมาณผลผลิตยางในภาคใต้มีปริมาณที่ผลผลิตจะออกมามากในช่วงต้นเดือนมกราคม

มีการประมาณการว่า มีปริมาณยางพาราอยู่ในขณะนี้ก่อนจะถึงช่วงการปิดกรีด ประมาณ 8 แสนตัน จะทำอย่างไรดีที่จะให้ปริมาณสายน้ำปริมาณของผลผลิตยางที่ไหลออกมาจำนวน 8 แสนตันก่อนการปิดกรีด

หาหนทางโอกาสให้ปริมาณยางเหล่านี้มีที่รองรับมีที่ไป รัฐบาลจะมีเครื่องมือใดบ้างที่เอื้อให้กลไกการซื้อยางปกติที่ดำเนินธุรกิจกันอยู่แล้วในสังคมไทย มีขีดความสามารถที่จะดูดซับยางเหล่านี้เพิ่มขึ้น

มีโอกาสได้สอบถามไปยังผู้ค้ารายใหญ่ว่า ยางราคาลงแบบนี้ปริมาณการซื้อขายเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่า คำสั่งซื้อก็ยังถือเป็นปกติ การลำเลียงส่งมอบ สัดส่วนของปริมาณการการค้าที่เคยส่งออกก็ยังไหลไปเรื่อยๆ เหมือนสายน้ำ

นั่นก็หมายความว่า หากยางลงอีก ประเทศผู้ซื้อซึ่งเขาชอบซื้อของถูกอยู่แล้ว เขาก็ถามกลับว่า ต้นทุนของแรงต้านของกลไกราคาอยู่ที่เท่าไหร่ ทำไมประเทศผู้ผลิตไร้แรงต้าน แสดงว่าแนวโน้มราคาต้องลงอีก

แต่เมื่อมีข่าวชาวสวนยางจะเคลื่อนไหวตามท้องที่ต่างๆ ในภาคใต้ แรงต้านของกลไกตลาดเกิดขึ้นทันทีคือ ราคานิ่ง เริ่มมีการไต่ระดับขึ้น หยุดการดิ่งลงของราคายาง ข่าวทุกข่าวในโลกนี้ถึงกันหมดในทางการค้า ราคาจึงขยับขึ้น

ปรากฏการณ์ในทางการค้ายางเขาเรียกว่า กลไกราคาที่ดิ่งลงเริ่มมีสภาวะต้าน!!

แต่ทำอย่างไรให้สภาวะต้านนี้แปรเปลี่ยนเป้าหมายเป็นกลไกที่ไม่บั่นทอนกำลังของชาตินี่สำคัญกว่า

ผมคิดว่ารัฐบาลควรร่วมคิด ร่วมหารือกับสมาคมยางพาราไทย และสมาคมน้ำยางข้นไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศ และมีทักษะทางการค้าที่สูงว่าจะดูดซับยาง 8 แสนตันด้วยเครื่องมืออะไร?

ขณะเดียวกัน ในระดับฐานรากของเกษตรกรทุกกลุ่ม ผมเห็นว่าข้อมูลที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้นำเสนอ

ซึ่งมี คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธานมาถูกทางแล้วเช่นกันที่จะลด Supply ลดผลผลิตยางของโลกโดยให้ชีวิตเกษตรกรมีเสถียรภาพ และความมั่นคง

ปัญหาเฉพาะหน้ายาง 8 แสนตัน ก่อนการปิดกรีดมาเยือนในเดือนหน้าทำอย่างไร รัฐบาลควรปล่อย Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ค้ายางส่งออกได้มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อใช้ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวไปซื้อยางออกมาจากตลาดในช่วงนี้ ซึ่งมีปริมาณ 8 แสนตัน โดยรัฐบาลขยายเพดานให้มากที่สุดที่จะให้ Soft Loan นี้เอื้อต่อการดูดซับยางเข้ามาให้มากที่สุดเช่นกัน ภายใต้ขีดความสามารถประสิทธิภาพในกำลังการผลิตที่พวกเขามี สมาคมยางพาราไทย และสมาคมน้ำยางข้นไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศ พวกเขามีกลไกเครื่องมือการค้าปกติอยู่แล้ว และ Soft Loan ที่ว่าพวกเขามีกันอยู่แล้วเช่นกัน

เพียงแต่รัฐบาลออกมติ ครม.ให้เอื้อในเรื่องดอกเบี้ยให้สามารถดูดซับยางพาราให้ไวที่สุดในช่วงนี้

การที่บริษัทสมาชิกในกลุ่มสมาคมยางพาราไทยจะซื้อยางเก็บเข้าสต๊อกยางไว้โกดังของตัวเอง การเก็บยางที่ปราศจากความชื้น ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่นรมควัน RSS ยางแท่ง STR การดูดซับ และเก็บรักษาไว้ในกลไกการค้าปกติที่เขามีดูเหมือนจะทำง่าย และสะดวกที่สุด

ซึ่งก่อนหน้านี้ สมาคมน้ำยางข้นไทยก็ได้เคยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดูดซับน้ำยางสดมาก่อนหน้านี้ กลไกกระบวนการทำงานพวกเขามีประสบการณ์สูงอยู่แล้ว

ผมเชื่อว่าปริมาณยาง 8 แสนตัน ทั้งยางแผ่นรมควัน น้ำยางสดก็จะถูกช่วยกันดูดซับไปภายใต้การค้าปกติได้ไม่ยากลำบากครับ!

เพียงแต่รัฐบาลค้อมตัวลงต่ำลงไปกินกาแฟกับพวกเขาสักครั้ง..

หากเป็นท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ขอความร่วมมือด้วยตนเอง ศรัทธาที่ท่านมีให้แก่ประเทศ ผมเชื่อว่าวิกฤติยางพาราในครั้งนี้เราจะฝ่าฟันกันไปได้

“พูดกับเขาสักคำว่า เพื่อชาติ เพื่อช่วยชาวสวนยางด้วยความจริงใจขอให้ร่วมมือกับรัฐบาลสักครั้งเพื่อดันราคายางด้วยกัน ซับน้ำตาให้พี่น้องชาวสวนยางให้มีรอยยิ้ม ให้เขาพอมีเงินเลี้ยงครอบครัว มีค่าเล่าเรียนให้ลูกก่อนการปิดกรีดจะมาถึงในสิ้นเดือนมีนาคม”

จากข้อมูลตัวเลขของปริมาณยางโลก International Rubber Study Group ตัวเลขที่ประมาณการไว้ สต๊อกยางโลกตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2557 ตัวเลขลดลงโดยตลอดในปี 2558 supply ยังคงพร่องลง แม้การบริโภคยางของโลกไม่เพิ่ม แต่ถือว่าพร่องลงกว่าเดิม อยู่ในพื้นที่ที่เป็นคุณต่อประเทศผู้ผลิตยาง ขณะเดียวกัน สต๊อกยางในจีนที่ชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางล้อรถยนต์มากที่สุดสต๊อกยางที่เหลือก็มีไม่มาก

ในข้อเท็จจริงของภาคการผลิตในระดับต้นน้ำ เมื่อยางราคาลงมาก แรงงานกรีดยางก็ย่อมลดลงเพื่อดิ้นรนไปทำอาชีพอื่น ผลผลิตยางก็ย่อมต้องพร่องลงไปด้วย ซึ่งก็สอดคล้องต่อการผลิตที่เป็นจริง

ขณะที่การแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีเสถียรภาพในเรื่องราคา มีคุณภาพชีวิตที่มีความมั่นคง แนวทางของสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ คำตอบที่สอดรับต่อการลด SUPPLY ของยางในตลาดโลก

สวนยางในระดับไม่เกิน 15 ไร่ ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวทางเป็น “ป่ายาง” “สวนสมรม” มีการทำสวนผสมผสานให้ครบทุกมิติ มีต้นยาง มีไม้ผล มีปศุสัตว์ขนาดเล็ก

ในระดับสวนยางที่เกิน1 5 ไร่ขึ้นไป ให้มีการปรับ “โครงสร้างการผลิตในการปลูก” จากระบบเชิงเดี่ยวที่ผูกชีวิตไว้กับยางเส้นเดียว ให้ใช้ระบบผสมผสานในการเริ่มต้นใหม่ ปลูกยางให้น้อยปลูกหนึ่งแถว เว้นหนึ่งแถว ปลูกกล้วย ปลูกผลไม้ ปลูกสะตอ ขนุน มังคุด ทุเรียน ลองกอง จำปาดะ มะขามป้อม ใส่พืชอื่นเพิ่มแทนยางพารา โดยให้เกษตรกรร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบร่วมตัดสินใจ

วางแผนการผลิตในการปลูกที่มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพในคุณภาพทางเศรษฐกิจของชีวิตของเขา ผมยังเชื่อว่าวิกฤติาคายางพาราครั้งนี้...เราสามารถฟันฝ่าไปได้

เพียงแต่ขอให้ทุกกลไกที่เกี่ยวข้องต่อยางพารา โดยเฉพาะกลไกของทางราชการ ได้อาศัยข้อมูล ความรู้ และสำนึกที่จะเอาผลประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง ปัญหา และวิกฤตใดๆ เราก็ฝ่าฟันไปได้!!!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น