xs
xsm
sm
md
lg

จบแล้ว! ม็อบชาวสวนยางเมืองคอน หลัง ผช.รมต.เกษตรฯยันรับ 2 ข้อเสนอทำทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเจรจากับกลุ่มชาวสวนยางรายย่อยที่นครศรีฯ ก่อนระบุรับ 2 ข้อเสนอ ลงมือทำทันที ส่วนอีก 2 ข้อ ยังต้องขอพิจารณาเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 ม.ค.) ภายหลังจากเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย 8 จังหวัดภาคใต้ นำโดย นายมนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงาน นายทศพล ขวัญรอด และแกนนำอีกหลายพื้นที่ได้ใช้สนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ในการชุมนุม โดยบรรยากาศในการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเที่ยงซึ่งเป็นเวลาการนัดหมาย ผู้ชุมนุมยังคงบางตา ขณะที่ นางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมบนห้องประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งสง โดยมีหลายฝ่ายเข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

นายมนัส บุญพัฒน์ ผู้ประสานงาน พร้อมกับแกนนำอีกหลายคนได้เข้าเป็นตัวแทนในการเจรจา โดยได้มีการปรับปรุงข้อเรียกร้องเสนอให้รัฐบาล คือ 1.ขอแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสด ที่ค่าดีอาร์ซี เป็นราคาของเกษตรกรรายย่อยโดยตรง และตัดลบด้วยค่าจัดการไม่เกิน 6 บาท 2.ขอให้ทบทวนปรับลดระเบียบการเข้าถึงความช่วยเหลือของชาวสวนยางให้ได้มากยิ่งขึ้น 3.พิจารณาด้านนโยบาย ให้แก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นตรงตามความเป็นจริง และ 4.ให้กำหนดการแก้ไขปัญหาระยะยาว และสนับสนุนให้ชาวสวนยางมีวิถีชีวิตสต๊อกยางแบบธรรมชาติตามวิถีแต่เดิมด้วยการฟื้นฟูระบบการผลิตแบบครัวเรือน และหาแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่ออุปกรณ์การผลิตยางแผ่นขนาดเล็ก

นางจินตนา ชัยยะวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อเสนอในข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ได้ทันที โดยในข้อที่ 1 และข้อที่ 4 ยังต้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กำลังมีการเสนอของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางอยู่นั้น นางจินตนา ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานครทันที โดยได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับข้อเสนอและข้อเรียกร้องแทน ในขณะที่สนามศาลาประชาคมอำเภอทุ่งสง ได้มีการตั้งเวทีปราศรัยของตัวแทนชาวสวนยางควบคู่กันไปด้วย

 
ขณะที่เดินออกมานั้น นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อเรียกร้องร้องข้อ 2 ของ นายมนัส ตนขอรับปากไปดำเนินการเลย ซึ่งต้องไปไล่บี้ กยท.ว่าทำไม่ช้า โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และคนกรีดยาง ไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ราย ซึ่งต้องจ่ายเงินให้ได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2559 ส่วนข้อ 4 ตนสงสัยว่าทำไมเกษตรกรใช้เงินทุนไม่ได้ เพราะรัฐบาลให้วงเงินกู้แก่สถาบันเกษตร สหกรณ์ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งตนจะไปดูแลให้อีกครั้งหนึ่ง และทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยสามารถรวมกลุ่มกันแล้วสามารถมีเครื่องจักรมาทำยางแผ่นแทนขายน้ำยางสด

นางจินตนา ยังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของตัวแทนเกษตรกรบางรายที่ให้จัดโครงการหยุดกรีดยางนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีเงินพอไปจ่ายให้เกษตร เหมือนกับการประกันราคายางที่ 60 บาท ต้องใช้เงินถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเอาเงินมาให้ยางเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ส่วนข้อเสนอให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยางในภาคใต้ที่องค์การสวนยางเดิมนั้น นางจินตนา กล่าวว่า ถ้าเกษตรกรมีศักยภาพเพียงพอก็สามารถทำได้ รัฐบาลไม่มีปัญหา ซึ่งการแปรรูปยางต้องใช้เทคโนโลยีด้วย

ขณะที่ นายทศพล ขวัญรอด แกนนำระบุว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นไปตามที่ได้ขอเวลาในการรวมตัวกันไว้ คือ 4 ทุ่ม และในวันพรุ่งนี้จะนำเอาประเด็นของการขายยางให้แก่เอกชนนายทุนผูกขาดเดิมๆ และไม่ได้กับเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้จะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ส่วนการใช้เสียง และพื้นที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จะจบลงในเวลา 4 ทุ่ม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น