โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ไม่รู้ว่ามีใครเอานิ้วไปจิ้มตา หรือดีดหูรัฐบาลลุงตู่หรือเปล่า จึงทำให้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 393/2558 แต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่” ด้วยเหตุผลว่า เป็นโครงการที่มีผลกระทบในวงกว้าง สมควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอันนำไปสู่การดำเนินโครงการที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยประกอบด้วยคณะกรรมการ 29 คน มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน และนักวิชาการร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย 1.ศึกษาแนวทางและเสนอแนะการกำหนดนโยบายและมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2.อำนวยการเร่งรัดการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม 4.เชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคคลเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล ตลอดจนจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหา 5.รายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา และ 6.ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ความจริงแล้วหากรัฐบาลลุงตู่จริงใจ คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ สมควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยต้องไม่ถูกปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงผ่านมานานถึง 6 เดือน หลังจากที่รัฐบาลตกปากรับคำตามข้อเสนอภาคประชาชนภายใต้การนำของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ 3 ข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย ข้อแรก ให้ชะลอกระบวนการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ข้อที่สอง ให้ชะลอการประมูลก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปของกระบวนการพิจารณา EIA และ EHIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อสุดท้าย ให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาทางออกตามข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
เชื่อว่ายังคงจำภาพความเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนช่วงปีสองปีมานี้กันได้ดี จากที่คนกระบี่จำนวนไม่กี่คนเล็งเห็นถึงมหันตภัยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้หยิบยื่นให้ ด้วยการผลักดันให้มีการทำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.เหนือคลอง ซึ่งประมาณว่า ต้องได้กำลังผลิตรวมราว 3,200 เมกะวัตต์ หรือจะประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ รวม 3 โรง และท่าเทียบเรือขนาดใหญ่เพื่อใช้ขนถ่ายถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
จากคนกระบี่เพียงหยิบมือที่ริเริ่มขับเคลื่อนสานพลัง ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงตัวแทนภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ทำให้ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาได้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ส่งผลให้ภาคประชาชนจากทุกสาขาอาชีพทยอยเข้าไปมีส่วนร่วม จากความเคลื่อนไหวภายใน จ.กระบี่ ก็ขยับสู่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต แล้วขยายต่อเนื่องเป็นแทบทุกจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน แล้วกลายเป็นเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินในเวลาต่อมา
จากนั้นราวกลางปี 2558 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นรัฐบาลทหารที่เผด็จอำนาจได้อย่างเด็ดขาด แต่พลังแห่งการขับเคลื่อนของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินก็ไม่หวั่นที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของอำนาจการตัดสินใจ จากการส่งตัวแทนอดข้าวประท้วงหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งก็ได้รับพลังใจจากผู้คนทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ จำนวนมากเข้าร่วม และให้การสนับสนุน
และหนึ่งในนั้นก็คือ “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)” ซึ่งก็มีการเกื้อหนุนกันอย่างแข็งขัน เนื่องจากทิศทาง และเป้าประสงค์สอดคล้องต้องกันอย่างยากจะแยกออก เพราะเรื่องราวการเร่งเดินหน้าสร้างของโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ก็เป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ควรจะต้องมีการปรับรื้อใหญ่ในกระบวนการปฏิรูปพลังงานในภาครวม
การเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นับจากพื้นที่ไกลปืนเที่ยงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แล้วขยับขยายต่อเนื่องเข้าสู่พื้นที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ช่วงเวลานั้นได้กลายเป็นข่าวครึกโครม และเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนให้จับต้องแบบแทบไม่กะพริบตากันเลยทีเดียว สุดท้ายเรื่องราวก็ไปเป็นอีกที่ยุติลงบริเวณทำเนียบรัฐบาล ด้วยรัฐบาลลุงตู่ยอมประกาศรับทั้ง 3 ข้อเสนอของภาคประชาชนดังกล่าว
นับจากนี้ สังคมคงต้องจับตาใกล้ชิดกันต่อไปว่า ข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินข้อที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อันจะนำไปสู่การแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ จ.กระบี่ของ กฟผ.ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบทบาท และการตัดสินใจของคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งรัฐบาลลุงตู่เพิ่งจะยินยอมมีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง
ทั้งนี้ คำเรียกขานที่มักเอ่ยกันว่าเป็น “คณะกรรมการไตรภาคี” เนื่องจากมีองค์ประกอบที่มาของบุคคลจากกลุ่มคน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกตัวแทนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะต้องการตัดสินใจในโครงการนี้ ฝ่ายที่สอง ตัวแทนจากเจ้าของโครงการ คือ กฟผ.กับกระทรวงพลังงานที่ต้องการแจ้งเกิด และฝ่ายที่สาม ตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยต่อการทำโครงการนี้
สำหรับบทบาทและความเคลื่อนไหวของฝ่ายภาคประชาชนต่างหากที่ต้องถือว่าจะชี้ขาดว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะถูกทำแท้งหรือไม่ แม้ในเบื้องต้นที่มีการประเมินพบว่า สัดส่วนของฝ่ายคัดค้านโครงการมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายสนับสนุนโครงการอย่างมากมายเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตัวแทนที่เป็นฝ่ายภาคประชาชนจริงๆ มีเพียง 8 คน และก็มีตัวแทน สนช.กับ สปช.เพียงอีก 2 คนที่ค่อนข้างเทน้ำหนักมาให้ทางภาคประชาชน จึงรวมแล้วมีเพียง 10 เสียงเท่านั้น จากที่มีทั้งหมด 29 เสียง
ทว่า เป็นที่น่าจับตาว่าในด้านข้อมูล และองค์ความรู้ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนต่อสู้ของบรรดาตัวแทนภาคประชาชนนั้น ต้องจัดว่าไม่ธรรมดาทีเดียว และแต่ละความเชี่ยวชาญสามารถประกอบรวมต่อสู้กันได้อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อใช้อรรถาธิบายว่าแท้จริงแล้ว จ.กระบี่ ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะเหตุใด ซึ่งอาจจะเลยรวมถึงตลอดภาคใต้ และรวมถึงพื้นที่ทั้งประเทศเลยด้วย เป็นการฉายภาพที่เป็นองค์รวม อันไม่ใช่ข้อมูลที่จะไปงัดง้างกับ กฟผ.และกระทรงพลังงาน ที่มักท่องคาถาเอาแต่ว่า ถ่านหินสะอาด ไฟฟ้าประเทศชาติกำลังขาดแคลน
ไม่เชื่อลองไปดูประวัติความเป็นมา รวมถึงความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และการยืนหยัดต่อสู้ของแต่ละคนจาก 8 ตัวแทนภาคประชาชน กับอีก 2 ตัวแทนจาก สนช.และ สปช.ว่าจะขนาดไหน ประกอบด้วย 1.รศ.เรณู เวชรัตน์พิมล 2.ผศ.ประสาท มีแต้ม 3.ดร.เดชรัฐ สุขกำเนิด 4.อมฤต ศิริพรจุฑากุล 5.กิตติชัย เอ่งฉ้วน 6.อธิราช ดำดี 7.สมศักดิ์ นบนอบ 8.ธนพล เพ็ญรัตน์ 9.นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และ 10.สุรพงษ์ พรมเท้า
แม้คณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะยังเพิ่งตั้งไข่ แต่ก็เป็นที่วาดหวังกันไปแล้วว่า ผลสรุปของการศึกษา และการตัดสินใจที่จะได้ในอนาคตที่ว่า สมควรจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หรือไม่อย่างไรนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนต้นแบบให้แก่การผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านกินของ กฟผ.ในอีกหลายพื้นที่ของภาคใต้ ซึ่งที่เล็งแล และขับเคลื่อนมาอย่างหนักไปแล้วก็มีที่ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อ.กันตัง จ.ตรัง จ.สตูล จ.ชุมพร อีกทั้งเลยรวมไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ราชบุรี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคาดหวังว่าน่าจะเป็นผลดีต่อนั้น ก็มีเรื่องที่ภาคประชาชนต้องตระหนักไว้อย่างมากด้วยเช่นกันว่า การที่รัฐบาลลุงตู่ทอดเวลามาเนิ่นนานก่อนจะยินยอมตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา แท้จริงแล้วมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรแอบแฝงไว้ด้วยหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องค่อยให้วันเวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์
ณ วันนี้ภาคประชาชนก็ได้แต่หวังว่า คณะกรรมการไตรภาคีชุดให้ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนที่ครอบงำอำนาจรัฐ หรือถูกนำไปใช้บิดเบือนเพื่อแจ้งเกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียเอง
อันเป็นอีหรอบเดียวกับ คปพ.เป็นเดือดเป็นแค้นมาแล้วต่อการที่กระทรวงพลังงาน ทำไว้กับ “คณะกรรมการไตรภาคีเพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...” ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการทำให้กลายเป็น “ตลกหน้าม่าน” เพื่อเร่งการทำโครงการ หรือหากจับได้ไล่ทันก็ยังสามารถใช้เป็นการซื้อเวลาออกไปได้อีกเท่านั้น
อีกประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งยวด คือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ในส่วนของ กฟผ. กระทรวงพลังงาน รวมถึงรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ถูกวาดฝันให้เกิดขึ้นมาโดดๆ แต่กลับเป็นส่วนประกอบสำคัญของการกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ รวมถึงในภาพรวมของประเทศ ซึ่งแม้จะไม่เคยประกาศไว้ชัดเจน แต่ “ผู้จัดการภาคใต้” และสื่อต่างๆ ในเครือผู้จัดการก็ได้ตามติดเรื่องนี้มาต่อเนื่อง จนพบว่า
แท้จริงแล้วประเทศไทยกำลังถูกเร่งพัฒนาให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ โดยใช้ภาคใต้เป็นฐานการแจ้งเกิด “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก โดยมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ นานาไว้รองรับมากมาย ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สนามบิน ถนนหนทาง เส้นทางรถไฟอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก รวมถึงระบบท่อน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นมีใจกลางอยู่ที่เส้นทาง “สะพานเศรษฐกิจ” หรือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” เป็นสำคัญ
ถ้ายังปล่อยให้ทิศทางการพัฒนาประเทศชาติเดินหน้าไปในหนทางที่ว่ามานี้ มิพักที่จะบอกว่าการต่อสู้กับเมกะโปรเจกต์อย่างหนักหน่วงทั่วภาคใต้เวลานี้ รวมถึงเรื่องการแก้กฎหมายปิโตรเลียม การเปิดสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซรอบที่ 21 การเอา ปตท.กลับมาเป็นของประเทศชาติ และประชาชน หรือแม้แต่การปฏิรูปพลังงานในภาพรวมที่กำลังลุยกันคึกคักในกรุงเทพฯ แต่ละสนามรบที่ว่านี้อาจจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปทันที
ดังนี้แล้ว จึงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า หลังเปลี่ยนศักราชใหม่สู่ พ.ศ.2559 จะเกิดอะไรขึ้นตามมา..?!