เรื่องและภาพ : ณาตาชา เจริญพร / พงศกร ครูประเสริฐ / สุทธิพงษ์ สาระทิพย์ / ชาตรี ศิริรักษ์ / ชัยพงศ์ รัตนวงษา
“คลองร้อยสาย” แม้จะเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเมืองสุราษฎร์ธานีแค่ปลายจมูก แต่ภูมิประเทศ และวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นกลับมองเห็นถึงความแผกแตกต่างจากความเป็นเมืองราวอยู่ไกลกันคนละโลก ที่นั่นมีลำคลองมากมายหลายหลากสาขา จนเป็นที่มาของชื่อเสียงเรียงนามที่ใช้เรียกขานกันจนเป็นที่รู้จัก และจดจำ โดยเฉพาะในแง่มุมของความเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์อย่างเป็นสำคัญ
“คลองร้อยสาย” เป็นคลองสาขาของ “แม่น้ำตาปี” ก่อนที่จะไหลลงทะเลอีก 10 กิโลเมตร แต่ก่อนยังไม่มีถนนหนทาง ชาวบ้านจึงสร้างบ้านเรือนใกล้คลอง ปัจจุบัน มีถนนถูกสร้างขึ้นหลายสาย แต่หลายครอบครัวก็ยังคงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับลำคลอง และยังคงใช้ “เรือ” เป็นพาหนะในการเดินทางสัญจร และนี่เองที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นจุดขายหลักของชุมชนที่นั่น
มีผู้คนแวะเวียนไปท่องเที่ยวด้วยการ “ล่องเรือ” ในคลองร้อยสายกันทั้งกลางวัน และกลางคืน แนวผืนป่าตามชายฝั่งทอดยาวด้วย “ต้นจาก” และแสงวับๆ แวมๆ ของ “หิ่งห้อย” ยังทำหน้าที่ต้อนรับผู้ไปเยือนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แถมชาวบ้านต่างรู้จักวิธีนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี “วิถีชีวิต 2 ฝากฝั่งคลอง” จึงนับเป็นอีกจุดขายทางการท่องเที่ยว
“เรือพาย” “เรือแจว” และ “เรือหางยาว” ที่แล่นผ่านไปมา หรือจอดเทียบใต้ถุง “บ้านเรือนไม้” ทั้ง “ทรงไทย” และ “ปั้นหยา” หลายหลังมี “เครื่องมือประมง” ผูกโยง หรือวางไว้ให้เห็นเด่นชัด ถัดไปหน่อยเป็น “สวนมะพร้าว”
เหล่านี้คือ “วิถีชนบท” ที่เป็นเอกลักษณ์ และมากมายมนต์เสน่ห์ทางการท่องเที่ยวของที่นั่น!!
ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณีไทยๆ แบบ “ชนบทในตัวเมือง” ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ความมี “ไมตรีจิต” “โอบอ้อมอารี” และ “จริงใจ” ตามสไตล์ของ “คนปักษ์ใต้” แต่ก็พร้อมที่จะต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนตลอดเวลา
เหล่านี้ก็คือ “วิถีชีวิต” อันเป็นอีกเสน่ห์รอให้นักท่องเที่ยวได้ไปดื่มด่ำซึมซับเก็บไว้ในความรู้สึก!!
เมื่อนำศักยภาพที่มากมาย “ทรัพยากรธรรมชาติ” อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ผสมผสานกับวิถีชีวิตผู้คนในรูปแบบ “ชาวประมง” ควบคู่ไปกับความเป็น “ชาวสวน” แล้วเติมเต็มด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น “การสาธิตลิงขึ้นต้นมะพร้าว” “การทำอาหาร และขนมพื้นถิ่น” รวมถึงมี “สินค้าหัตถกรรม” ให้เลือกสรรกลับไปเป็นของที่ระลึก
อย่างนี้แล้วยังจะอดใจไม่หาโอกาสไปเยี่ยมยลให้ถึงถิ่นแผ่นดินแหล่ง “คลองร้อยสาย” ที่เมืองสุราษฎร์ธานีได้อีกละหรือ?!
แม้หลายคนจะเคยไปสัมผัสมาแล้ว แต่ครั้งนี้คณะของเรานัดรวมตัวกันไปอีกครั้ง เพื่อนำประสบการณ์มาเรียบเรียงบอกเล่า การเดินทางไปยัง “คลองร้อยสาย” ควรไปให้ถึงจุดหมายที่ “ท่าเรือ” บริเวณตลาดน้ำสุราษฎร์ธานี และที่หน้าร้านกาแฟริมน้ำใกล้สำนักงานอัยการภาค 8 อย่าให้ช้ากว่า 8 โมงเช้าจะเป็นการดี ซึ่งจะมีเรือหางยาวขนาดจุคนได้ประมาณ 8 ที่นั่ง จอดเทียบท่าเรียงรายรอรับอยู่แล้ว
วันนั้นเมื่อคณะของเราไปถึงก็ได้พบกับชายวัยกลางคนผิวเข้ม รูปร่างสันทัด เขาแนะนำตัวว่าชื่อ “ภาณุ” รับอาสาเป็นทั้งไกด์ และนายหัวเรือให้คณะเรา ลงเรือเสร็จสรรพแต่ยังไม่ทันติดเครื่องยนต์ เขาก็เปิดฉากเล่าที่มาที่ไปของ“แม่น้ำตาปี” การกำเนิด “เกาะลำพู” และภูมิศาสตร์ “คลองร้อยสาย” ด้วยความเร็ว
จากนั้นกัปตันภาณุสแปร์โร่ ก็พาคณะเราล่องเรือสู่ “ชุมชนบ้านในบาง” ท่ามกลางแดดอ่อนๆ ลมโกรกอื้ออึงเบาๆ ผสมกับเสียงเรือแท๊ดๆๆ แหวกน้ำกระเซ็นเป็นฝอยๆ ขึ้นมาสัมผัสใบหน้า ช่างเป็นบรรยากาศที่จะไปหาซื้อที่ไหนๆ ไม่ได้เลยจริงๆ
ระหว่างทางช่วงได้พบเห็น “หมู่บ้านชาวประมง” อยู่ติดลำน้ำตาปี กัปตันภาณุ ก็แปลงร่างเป็นไกด์นำเที่ยวเริ่มการบรรยายว่า หากมองหมู่บ้านนี้จากฝั่งศาลหลักเมืองในตัวเมืองสุราษฎร์ฯ เข้ามา เราจะเห็นเรือเยอะแยะไปหมด ลำเล็กบ้าง ลำใหญ่บ้าง ตามแต่ฐานะของผู้เป็นเจ้าของ
พอเรือเข้าสู่คลองสาขาของแม่น้ำตาปี บ้านเรือนที่เห็นก็ค่อยๆ เล็กลง เรือแล่นห่างออกเรื่อยๆ บางช่วงก็ไม่เห็นมีบ้านคนอยู่เลย วิวทิวทัศน์จะมีแต่ต้นไม้ริมคลองมากมายหลายชนิด ต้นไหนมีประโยชน์น่าเรียนรู้ ไกด์เราก็จะอธิบายทุกต้น เช่น “ต้นจาก” สามารถนำผลไปทำอาหารได้ทั้งคาว และหวาน ใบใช้มุงหลังคา ทำเครื่องจักสานอย่าง “หมาตักน้ำ” ฝรั่งชอบซื้อไปเป็นที่ระลึก ยอดจากอ่อนเอาไปตากแห้งใช้มวนยาสูบ
หรืออย่าง “ต้นหมามุ่ย” ที่ฝักมีเป็นพิษสงถูกแล้วคันอย่าบอกใคร แต่เม็ดในกลับกินได้ แถมมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เอาไปทำ “กาแฟหมามุ่ย” ขายแล้วด้วย
คลองสาขาที่เรือเราแล่นเข้าไปเป็นคลองที่ไปทาง “วัดบางใบไม้” ช่วงหนึ่งได้เห็นความสวยงามที่ธรรมชาติเนรมิตขึ้นมาคือ “อุโมงค์ต้นจาก” การใช้ประโยชน์จากต้นจากของที่นี่มีกติการ่วมกันว่า สามารถแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของได้ก็เฉพาะต้นที่อยู่บริเวณบ้านของคนคนนั้นเท่านั้น แต่ที่น่าเสียดายตอนนี้คือ หลายบ้านเรือนไม่สนใจจะใช้ประโยชน์ของต้นจากสักเท่าไหร่ ส่งผลให้ไม่ค่อยได้มีการตัดแต่งให้น่าดูชม
กัปตันเรือใจดีแวะตัด “ลูกจาก” แล้วส่งให้พวกเราได้ชิมลิ้มลองรสชาติของความอร่อยแบบสดๆ หนึ่งทะลาย พวกเรารับมาถือไว้ จากนั้นไม่นานหนึ่งในคณะเราก็น้ำตารื้นออกมาเฉยๆ เมื่อพี่ภาณุ สังเกตเห็นก็ถามว่า ดีใจขนาดนั้นเชียวหรือ คำตอบที่ได้รับพากันฮาตรึมไปทั้งลำเรือคือ “หนูอยากกิน แต่แกะไม่เป็นค่ะ”
เมื่อจัดการให้ทุกคนได้ชิมลูกจากสดๆ แล้ว กัปตันเรือก็จับคันเร่งต่อเพื่อให้เราได้ชม “บรรยากาศบ้านเรือนริมคลอง” บางบ้านมี “ศาลาขึ้น-ลงเรือ” แต่ละหลังเว้นระยะด้วยแนว “ป่าจาก” บางช่วงรกครึ้มจนดูเหมือนฉากในหนังแม่นาคพระโขนง ไม่รู้ว่าเป็นเหตุให้คนที่นี่เวลาพระอาทิตย์ตกดินไม่ค่อยจะออกจากบ้านกันหรือเปล่า แต่ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนชื่นชอบล่องเรือชม “หิ่งห้อยกลางคืน”
ว่ากันว่าผู้ที่จะไปท่องเที่ยวที่นั่น หากไม่กำหนดเส้นทางไว้ก่อนก็ขึ้นอยู่กับว่านายหัวเรือ หรือไกด์จะพาเข้าสายคลองไหนก่อนหลัง แต่ทุกกรุ๊ปจะได้ชื่นชมทั่วบริเวณไม่แตกต่าง และใช้เวลาพอๆ กัน หากเป็นทัวร์ผู้นับถือศาสนาพุทธก็อาจจะขอแวะ “ไหว้พระ” หรือชื่นชม “วัดวาอาคาร” ได้เป็นพิเศษ และหากอยากจะพักค้างแรมก็มี “โฮมสเตย์” รองรับหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นที่นิยมชมชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก
ใครสนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวยัง “คลองร้อยสาย” เมื่อเข้าสู่เมืองสุราษฎร์ธานี ก็มุ่งตรงไปที่ท่าเรือได้เลย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตลาดน้ำ และที่หน้าร้านกาแฟริมน้ำใกล้สำนักงานอัยการภาค 8 หรือจะติดต่อประสานงานกันไว้ก่อนก็ยิ่งสะดวกที่ “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองร้อยสาย” เลขที่ 49 ม.55 ต.บางชนะ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี โทร.08-6267-6695, 0-7720-5323