xs
xsm
sm
md
lg

คิดว่าเราเหนือกว่าเขา ทัศนคติอันตรายที่ทำให้การศึกษาไทยอยู่รั้งท้าย !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ดิฉันได้เดินทางไปที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
แทบไม่ได้ดูอย่างอื่นเลย นอกจากไปทัศนศึกษา หรืออยากจะเรียกว่าไปเปิดหูเปิดตา ดูบรรยากาศรวม ๆ ภายในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง 2 แห่ง พบปะพูดคุยกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่ดูแลเรื่องนักศึกษาต่างชาติ ทำให้ได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่ไปเรียนต่อจีน
ที่เซี่ยงไฮ้นักศึกษาไทยมีพอสมควรไม่มากนัก ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีหลักสิบ ไม่ใช่หลักร้อย และส่วนใหญ่ที่ไปเรียนจะเป็นนักศึกษาที่ได้ทุนแลกเปลี่ยน ระยะเวลาจะอยู่ที่ 1 ปี จากนั้นก็เดินทางกลับประเทศ
ส่วนภาพรวมของเซี่ยงไฮ้ นักศึกษาไทยที่มุ่งจะมาเรียนต่อที่จีนยังมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ถ้าในภูมิภาคเอเชีย นักศึกษาชาวเกาหลีจะมากที่สุด ตามมาด้วยญี่ปุ่น ซึ่งก็แตกต่างจากมหาวิทยาลัยในปักกิ่งพอสมควร เพราะที่ปักกิ่งจะมีนักศึกษาจากมาเลเซียค่อนข้างมาก ถึงขนาดรัฐบาลมาเลเซียลงทุนมาสร้างตึกหอพักให้นักศึกษาของเขากันเลยทีเดียว
แต่ที่น่าสนใจมาก ก็คือ มีนักศึกษาต่างชาติฝั่งตะวันตกหันมาสนใจเรื่องภาษาจีนกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนที่ดิฉันกำลังจะเช็คเอ้าท์ออกจากที่พัก เจ้าหน้าที่พูดได้แต่ภาษาจีนไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ก็พยายามสื่อสารกันแบบไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งมีนักศึกษาชาวอเมริกันที่มาเรียนภาษาจีนเข้ามาช่วยสื่อสารระหว่างดิฉันกับเจ้าหน้าที่คนนั้น ดิฉันฟังนักศึกษาชาวอเมริกันคนนั้นพูดเป็นภาษาจีนได้อย่างน่าทึ่ง เธอคล่องแคล่ว และสำเนียงก็ใช้ได้เสียด้วย
นอกจากนี้ ระหว่างที่เดินสำรวจภายในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเซี่ยงไฮ้ ก็พบว่ามีอาคารหนึ่งเป็นความร่วมมือในการจัดการศึกษาของสองรัฐบาลจากฝั่งตะวันตกและตะวันออก ระหว่างนิวยอร์กและเซี่ยงไฮ้ โดยการส่งอาจารย์จากนิวยอร์กมาที่เซี่ยงไฮ้ และส่งอาจารย์จากเซี่ยงไฮ้ไปที่นิวยอร์ก สะท้อนได้ว่ามหาอำนาจของโลกทั้ง 2 ประเทศต่างเห็นความสำคัญของกันและกัน แม้ในด้านการเมืองจะหึ่ม ๆ กันไป แต่ในด้านความสัมพันธ์เรื่องการศึกษาก็จับมือกัน
ในขณะที่ประเทศไทยกลับยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์ในเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารกับประเทศอื่น ๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่โลกเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ปลายปีนี้เราก็จะเปิดเสรีอาเซียน แต่ดูเหมือนภาษายังคงเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารของคนในชาติอยู่มาก
ทำให้คิดถึงเมื่อครั้งที่ไปปักกิ่งปีที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสพบกับอาจารย์คนไทยที่ไปสอนภาษาไทยให้กับคนจีน เธอเล่าให้ฟังว่าเป็นห่วงประเทศไทยมาก เพราะเห็นชัดเจนว่าประเทศเพื่อนบ้านตื่นตัวและมีนโยบายจากภาครัฐของประเทศตัวเองในการส่งเสริมให้คนในชาติเรียนรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาของตัวเอง ในขณะที่นโยบายของบ้านเราก็ยังใช้วิธีขอให้ส่งครูชาวจีนไปสอนเด็กไทยที่เมืองไทย คล้าย ๆกับนโยบายสอนภาษาอังกฤษที่ผ่านมานั่นแหละ
บางสถาบันการศึกษาที่ครูไม่พอก็ไปหาคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ หรือคนที่พูดภาษาจีนได้ แต่ไม่ได้เป็นครูหรือมีเทคนิคการเรียนการสอนหรือเป็นครูจริง ๆ มาสอน
ปัญหาเหล่านี้เป็นระดับนโยบาย แต่ปัญหาที่น่ากลัวคือทัศนคติต่อการเรียนรู้ภาษาต่างชาติ บ้านเรายังคงให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาฝั่งตะวันตก มากกว่าภาษาฝั่งตะวันออกหรือภาษาในแถบประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด
ลูกชายคนโตเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนช่วงเลือกแผนการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เขาตัดสินใจเลือกเรียนศิลป์ - ภาษาจีน มาตั้งแต่ต้น เพื่อน ๆ จะถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนจีน ทำไมไม่เลือกญี่ปุ่นหรือเกาหลี และเด็กที่เลือกเรียนภาษาจีนก็ยังน้อยอยู่ แม้แต่ดิฉันเองก็ตาม มีคำถามเสมอ ๆ จากเพื่อนพ้อง ว่าทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนอเมริกาหรืออังกฤษ ทำไมส่งไปจีนล่ะ
เรื่องค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญกว่าคือเรามักคิดหรือตัดสินกันที่รูปแบบมากกว่าดูกันที่การเรียนรู้
ใช่หรือไม่ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเรามักจะชี้นำหรือตัดสินใจว่าลูกควรจะเลือกเรียนอะไรบนพื้นฐานว่าอะไรน่าเรียนด้วยภาพลักษณ์ มากกว่าที่จะดูว่าลูกเราถนัดอะไร ชอบอะไร และควรจะเรียนรู้อะไร
อดทำให้นึกถึงอีกเรื่องราวหนึ่งที่ผู้บริหารการศึกษาท้องถิ่นของเวียดนามเคยบอกว่า รัฐบาลเวียดนามมีทุนสำหรับนักศึกษาชาวไทยจำนวนมาก มีทั้งแลกเปลี่ยนและทุนให้เปล่า แต่ไม่ค่อยมีนักศึกษาไทยไปเรียนเท่าใดนัก ต่างจากเวียดนามที่ส่งนักเรียนนักศึกษาในบ้านเขามาประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะทัศนคติที่ว่าเราจะไปเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ ก็ต้องไปประเทศที่ศิวิไลซ์กว่า และด้วยฐานคิดที่เรามักคิดว่าเราดีกว่าเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน จึงทำให้เด็กไทยไม่ค่อยสนใจภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นหนุ่มสาวในประเทศเพื่อนบ้านที่แห่กันเข้ามาทำมาหากินในบ้านเราอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเขาสามารถใช้ภาษาบ้านเขา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยได้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงในวันนี้เราไม่ได้เหนือกว่าเพื่อนบ้านเลย
ในขณะที่เรายังภูมิใจในความเป็นไทยที่มีภาษาไทย แต่เราไม่ได้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ของเรายังมุ่งไปที่รูปลักษณ์มากกว่าการเรียนรู้ที่เหมาะสม
เมื่อนโยบายที่มะงุมมะงาหรา ผนวกเข้ากับทัศนคติที่เชื่อว่าเราเหนือกว่าคนอื่น และยังเน้นภาพลักษณ์อยู่อย่างนี้ จึงไม่ประหลาดใจที่การศึกษาไทยจะติดรั้งท้าย !

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น