xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้น “โรงเรียนร้าง” แล้วสร้างเป็น “แหล่งเรียนรู้” คู่ชุมชนที่เมืองคอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์
 
“เหมือนจับปลาตัวใหญ่ได้แล้ว แต่มันหลุดมือกระโดดหายไปต่อหน้าต่อตา”
 
เกษม นามะหึงษ์ เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่โรงเรียนประถมศึกษาประจำชุมชนทุ่งหนองควาย หมู่ที่ 4 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องถูกยุบเลิกไปตามนโยบายยุบรวมสถานศึกษาขนาดเล็ก
 
เกษม เป็นอดีตประธานกรรมการโรงเรียนแห่งนี้ ชื่อเรียกโรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์งาม เหตุของการตั้งชื่อไม่เหมือนชื่อหมู่บ้านเพราะว่า เป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกล หากหากใช้คำว่าทุ่งหนองควาย จะสื่อว่าไกลปืนเที่ยง กลัวครูไม่กล้าย้ายมาสอน ส่วนคำว่า “โพธิ์งาม” มาจากต้นโพธิ์ใหญ่หน้าโรงเรียน ซึ่งก็ตายทั้งยืนหลังจากโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนร้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่ง
 

 
ชาวบ้านรักโรงเรียนแห่งนี้มาก เพราะกว่าจะได้โรงเรียนมาทุกคนต้องต่อสู้ และช่วยกันสร้างมาตั้งแต่ปี 2522 เนื่องจากชาวบ้านเห็นลูกหลานเดินไปโรงเรียนไป-กลับถึงวันละ 20 กิโลเมตร ครั้งแรกสร้างเพิงไม้ไผ่มุงหญ้าคา ชักชวนอดีตพนักงานฉีดยุงในสมัยก่อน (DDT.) มาเป็นครูคนแรก จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนให้สร้างโรงเรียนเป็นทางการ
 
เมื่อโรงเรียนถูกปิดอย่างเป็นทางการในปี 2546 ชาวบ้านเสียดายจนน้ำตาตก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร กระทั่งผู้นำในชุมชนมาเสนอขอรับการสนับสนุนจาก สสส.ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนสร้างชีวิต จึงได้นำทุกคนได้กลับมาที่นี่อีกครั้งบนความรู้สึกใหม่
 
พื้นที่ขนาด  11 ไร่ ที่เคยถูกปล่อยรกร้าง อาคารผุพังปกคลุมด้วยต้นไม้รกครึ้ม มากมายรังปลวก และยังเป็นพื้นที่เสี่ยงมั่วสุมมานานกว่า 10 ปี ได้เปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้งเมื่อ สันติ รัฐนิยม สมาชิก อบต.บ้านทุ่งหนองควาย ได้นำเสนอโครงการ “โรงเรียนร้างสร้างชีวิต” ขอรับการสนับสนุนจาก สสส. โดยมีแนวความคิดพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียนร้างให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
 

 
“ผมมาคิดว่าทำอย่างไรให้โรงเรียนนี้มีชีวิตขึ้น จึงกลายมาเป็นคำว่า โรงเรียนร้างสร้างชีวิต คำว่ามีชีวิตคือ ต้องการสร้างประโยชน์แก่ชุมชน” เขาเล่าว่า กิจกรรมโครงการฯ เน้นชวนชาวบ้านมาทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มปุ๋ยหมัก กลุ่มปลูกผักสวนครัว กลุ่มเพาะชำต้นกล้า และกลุ่มเครื่องแกง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต่างมีอยู่แล้ว แต่ขาดความกระตือรือร้น และไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน
 
หลังขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่โรงเรียนร้างแล้ว  มีการเข้าไปรื้อรังปลวก ถากถางปรับบริเวณ ทำความสะอาดอาคารแล้วปรับเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวของชุมชน มีการใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงสาธิตปลูกผักแบบพื้นบ้าน และพืชวัตถุดิบทำเครื่องแกง เช่น ตะไคร้ ขมิ้น พริกขี้หนู ข่า กิจกรรมอันสะท้อนโยงใย 4 กลุ่มหลักที่มีอยู่ในชุมชน
 
โครงการฯ ได้ใช้โรงเรียนเป็นจุดนัดพบชาวบ้าน นำข้อมูลต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดห้องเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ ขณะที่จุดปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ อยู่ในแต่ละครัวเรือน
 

 
การขับเคลื่อนโรงเรียนร้างสร้างชีวิต ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และการกระตือรือร้นครั้งใหญ่ของหมู่บ้าน มีการพัฒนาด้านภาวะผู้นำ การเชื่อมโยงเครือข่ายหลายกลุ่มในหมู่บ้าน เอาพื้นที่โรงเรียนร้างเป็นตัวเดินเรื่องเพราะเป็นศูนย์รวมทางความรู้สึกจิตใจชาวบ้านที่เคยเสียหายผุพังไปนับสิบปี  มีการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชองกลุ่มปลูกผัก กลุ่มเพาะชำ กลุ่มเครื่องแกง กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ
 
ทุกวันนี้เกิดความสำเร็จจนหลายหน่วยงานมองเห็นความสำคัญอยากเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าสำนักงานพัฒนาที่ดิน เข้ามาส่งเสริมเกี่ยวการทำปุ๋ย กศน.สนับสนุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องแกง พัฒนาชุมชนอำเภอถ้ำพรรณรา สนับสนุนบ้านทุ่งหนองควายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
 
“อีกหลายหน่วยงานลงมาให้ความสำคัญต่อหมู่บ้าน ไม่ว่าสาธารณสุข งานปกครอง เกษตร องค์การบริหารส่วนตำบล พัฒนาชุมชน การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งที่แต่ก่อนเราเคยเสนอโครงการต่อหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่เคยตอบรับ กระทั่งโครงการ สสส.สร้างรูปธรรม หน่วยงานเขาเห็นศักยภาพของเราเลยหนุนเสริมลงมา” สันติ เล่า
 

 
มีการยกระดับกองทุนชุมชนเป็นสถาบันการเงินชุมชน วางบทบาทโรงเรียนร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ จากโรงเรียนที่รกร้าง ไม่มีคนเข้าไปดูแล ไม่เกิดประโยชน์อะไรตอนนี้ กลายเป็นสถานที่ดูดี สะอาดตา  มีคนแวะเวียนไปที่โรงเรียนทุกวัน ทั้งทำกิจกรรมโครงการและออกกำลังกาย กลายเป็นสถานที่อันเกิดประโยชน์ของชุมชน
 
“สมาชิกโครงการฯ ต่างรู้สึกประทับใจที่พัฒนาโรงเรียนรกร้างมีปลวกขึ้น กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ พัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกิดศูนย์รวมใจของคนทุ่งหนองควาย”
 
ชนม์นิภา ยี่สุ่น ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านทุ่งโพธิ์งาม  เล่าว่า โรงเรียนเคยเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ เป็นจุดศูนย์รวมทางจิตวิญญาณให้คนกลับมารวมกัน ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้น่าเรียนมาก เพราะบรรยากาศอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ต่างจากในเมือง และไม่ต้องเดินทางไปไกล ตอนที่โรงเรียนถูกสั่งปิดทุกคนต่างเสียดาย
 
ทุกวันนี้ เธอมาเป็นคณะกรรมการโครงการโรงเรียนร้างสร้างชีวิต มีส่วนช่วยมาปรับโรงเรียนเก่าให้มีสภาพที่ดีขึ้น สร้างความผูกพันในหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ จากการใช้พื้นที่มาปลูกผัก ได้รวมคนในหมู่บ้านได้มาเกิดการสมานฉันท์ความอบอุ่นมากขึ้น
 

 
“มีการนัดชาวบ้านเป็นอาสาสมัครที่สมัครใจมาช่วยทำเรื่องนี้ คนละไม้คนละมือ ทั้งทำความสะอาดครั้งใหญ่ และต้องรื้อรังปลวกที่มีอยู่จำนวนมากออกไป โรงเรียนมีชีวิตกลับมา เมื่อมาที่นี่ก็ทำให้นึกถึงเพื่อนเก่าๆ บางคนก็ไม่เจอกันนานมากแล้ว”
 
ตอนนี้โรงเรียนก็ได้กลับมามีชีวิต ทำหน้าที่ห้องเรียนชุมชน เป็นฐานการเรียนรู้ พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงสาธิตของเกษตรพอเพียง สนามหญ้าใช้เป็นที่ออกกำลังกายเล่นกีฬาของชาวบ้าน
 
อาจารย์กำไล สมรักษ์ พี่เลี้ยงโครงการฯ เล่าว่า คนทุ่งหนองควายเคยผ่านโรงเรียนแห่งนี้มาแล้วทั้งนั้น เมื่อครั้งมองไปเห็นโรงเรียนร้างปกคลุมด้วยป่า หลายคนจึงร้องไห้ น้ำตาคลอ เพราะย้อนนึกถึงภาพสมัยก่อนที่เคยไปวิ่งเล่น
 
โครงการโรงเรียนร้างสร้างชีวิต ฟื้นจิตวิญญาณของชุมชนแห่งนี้ เพราะสามารถเปลี่ยนจากหมู่บ้านที่เรียกว่า ไม่มีจุดรวม ให้เป็นหมู่บ้านที่โดดเด่น ทำให้ในชุมชนนี้เกิดผู้นำขึ้นมากกว่า 10 คน มีการต่อยอดออกไปเรื่อยๆ ถึงเครือข่ายระดับอำเภอ จังหวัด เกิดนวัตกรรมการปรับวิธีการคิด และใช้การจัดการจากคนที่เก่งๆ ในชุมชนมาทำงานร่วมกัน
 

 
“ตอนลงไปที่โรงเรียนครั้งแรกเราก็พบว่ามีจอมปลวก ประตูที่ผุๆ พังๆ เมื่อลงไปดูอีกครั้งหนึ่งก็พบว่า เป็นโรงเรียนใหม่ที่ซ่อมเสร็จ มีห้องน้ำ มีแปลงผัก กลายเป็นฐานการเรียนรู้ ล่าสุด ทาง อบต.ดุสิต ยังขอใช้พื้นที่สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นแหล่งเรียนรู้ของ กศน. และเป็นจุดฐานเรียนรู้โรงเรียนจำลองของปราชญ์ชุมชน โดยใช้อาคารเดิมของโรงเรียน”
 
สำหรับโครงการต่อยอดในปี 2558 จะมีการทำฐานเรียนรู้แต่ละจุด โดยมีการจัดการข้อมูลเพิ่ม อย่างการปลูกผักสวนครัวแต่ละบ้านมารวมกลุ่มทำเครื่องแกง กับการแพกกิ้งของกลุ่มให้กลุ่มเพาะพันธุ์ไม้ผลิตส่งตามบ้านที่ต้องการ โดยมีการทำแผนที่ข้อมูล
 
“ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตจากพื้นที่รกร้างมาทำมาหากิน โรงเรียนร้างก็เลยกลายมาเป็นศูนย์กลางของทั้งหมดของชุมชนได้”
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น