xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมที่พลิกโฉมการตลาดและสังคมโลก (Disruptive Innovation) / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ผลการประมูลคลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมชนิด 4G/900 ที่มีบริษัทเข้าร่วมแข่งขันกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้รัฐมีรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 1.52 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 15 ปีนับจากนี้ แม้ว่าเรายังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากนัก แต่เราก็พอจะคาดหมายได้ว่าเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารมีความสำคัญ และเป็นช่องทางต่อยอดการทำมาหากินของบริษัทได้มากขนาดไหน มิฉะนั้นบริษัทจะยอมเสียเงินมากมายถึงขนาดนี้เชียวหรือ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันก็มีมากกว่าจำนวนประชากรไทยไปเยอะมากแล้ว

นอกจากนี้ทาง กสทช.ก็ได้ตั้งกติกาป้องกันเอาไว้แล้วว่าค่าบริการโดยเฉลี่ยต้องไม่แพงกว่าระบบเดิม จึงทำให้เราเกิดความสงสัยมากขึ้นว่า บริษัทจะนำเทคโนโลยีและคลื่นนี้ไปทำอะไรจึงจะมีกำไร คือว่า เราในฐานะผู้บริโภคที่ไม่ค่อยมีความรู้ใหม่มากนักอาจจะยังจินตนาการไปไม่ถึง

ผมได้นำเรื่องนี้มาเป็นบทนำของบทความนี้ ก็เพียงเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผมเองไม่มีความรู้ในเชิงรายละเอียดของเทคโนโลยีการสื่อสารระบบ 4G/900 ครับ แต่ผมมีความสนใจเรื่องพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากระบบ 4G ด้วย นอกจากนี้ผมเองก็มีประสบการณ์ตรงกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงในอดีต ผมจะค่อยๆ เล่าสู่กันฟัง แล้วมองไปสู่อนาคตอันไม่ไกลนักครับ

คำว่า “Disruptive Innovation” เป็นคำที่ประดิษฐ์โดยศาสตราจารย์ Clayton Christensen แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ผู้เขียนหนังสือ “The Innovator’s Dilemma : When New Technologies Cause Great Firms to Fail.” เขาได้ให้ความหมายว่า “หมายถึงผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ง่ายขึ้น ราคาถูกลง ทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม” พร้อมกับยกตัวอย่าง เช่น เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer) ที่มีราคาแพงมาก ซึ่งในอดีตแต่ละมหาวิทยาลัยจะสามารถมีได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น แล้วจึงได้เปลี่ยนมาเป็นมินิคอมพิวเตอร์ เป็นไมโครคอมพิวเตอร์ เป็น Desktop, Laptop จนมาถึงโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ผมอยากจะเล่าประสบการณ์ตรงของผมเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในปี 2516 ผมเองเป็นอาจารย์ปีแรก ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยใหม่และภาควิชาใหม่ จึงมีการซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้าจำนวนมาก ในราคาเครื่องละประมาณ 2-4 หมื่นบาท เครื่องที่สามารถเขียนกราฟได้ราคาถีบไปถึง 5 หมื่นบาท ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์วุฒิปริญญาตรีในขณะนั้นเท่ากับ 1,350 บาทเท่านั้น หรือทองคำราคาบาทละ 500-600 บาทเท่านั้น

ผมนำภาพและราคามาลงให้ดูด้วย พร้อมทั้งราคาเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันได้เลิกใช้ไปนานนับสิบปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปตามความหมาย Disruptive Innovation ที่ได้กล่าวมาแล้ว
 

 
ผมยังจำได้อีกว่า ในปลายปี 2516 อาสาสมัครชาวเยอรมันได้ซื้อเครื่องคิดเลขที่มีขนาดเท่าฝ่ามือในราคาเพียง 8,500 บาทเท่านั้น แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องคิดเลขที่ภาควิชาได้ซื้อไว้เป็นจำนวนมาก

การล่มสลายของฟิล์มถ่ายรูป คืออีกตัวอย่างหนึ่งของ Disruptive Innovation หรือ Disruptive Technology เพราะถูกกระทบด้วยกล้องดิจิตอลซึ่งไม่ต้องใช้ฟิล์ม

การที่ประเทศไทยเราได้นำคลื่นความถี่ 900 MHz มาใช้กับเทคโนโลยี 4G ครั้งนี้ ผมเข้าใจว่าเป็น “นวัตกรรมที่พลิกโฉม” ประเทศไทยได้ระดับหนึ่ง เท่าที่ผมได้สดับตรับฟังจากผู้รู้ พอจะเชื่อได้ว่า ด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของ 4G ไม่น้อยกว่า 10 เท่าของ 3G จะสามารถทำให้การทำธุรกรรมกับธนาคารบางอย่างสะดวกขึ้นมาก เช่น การโอนเงิน โดยไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร (ซึ่งตอนนี้ก็มีบางธนาคารได้ให้บริการไปแล้ว)

พูดถึงเรื่องการทำธุรกรรมกับธนาคาร ท่านที่มีอายุมากๆ น่าจะจำได้ คือตอนที่ประเทศไทยเรายังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ การโอนเงินข้ามจังหวัดเขาใช้ “โทรศัพท์ทางไกล” (น่าจะประมาณปี 2525) ทางธนาคารคิดค่าบริการด้วยการบวกค่าโทรศัพท์ทางไกล มาวันนี้เป็นระบบออนไลน์ทั่วประเทศแล้ว แต่ธนาคารก็ยังคงคิดค่าบริการอยู่ ในอัตราที่ค่อนข้างแพงเสียด้วย

ระบบ 4G น่าจะมีประโยชน์มากในด้านบริการทางการแพทย์ กล่าวคือสามารถส่งประวัติผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล หรือการขอคำปรึกษาของแพทย์ที่ยังขาดประสบการณ์ได้ทันต่อสถานการณ์สำคัญของชีวิต เป็นต้น

ภาคประชาชนเองก็อย่ามัวแต่เพลินกับเทคโนโลยีใหม่ โดยลืมยุทธศาสตร์ในเชิงรุกเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม อย่าลืมว่าอำนาจในการสื่อสารที่เคยอยู่ในมือของกลุ่มทุนผูกขาด ได้ถูกถ่ายโอนมาสู่มือของปัจเจกชน หรือผู้ด้อยโอกาสมากขึ้นแล้ว

ผมขอกลับมาพูดถึงการพลิกโฉมในระบบการขนส่งอีกครั้งหนึ่งครับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้รถยนต์ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ต่างคนต่างพากันซื้อรถยนต์เป็นของตนเอง แต่โดยเฉลี่ยร้อยละ 96 ของเวลารถยนต์ที่เราซื้อต้องจอด (ไม่เกี่ยวกับรถติดนะครับ) ส่งผลให้มีปัญหาที่จอดรถในตัวเมือง ในอนาคตระบบ 4G จะทำให้ความจำเป็นในการมีรถยนต์ส่วนต้องตัวหมดไป ในหลายเมืองใหญ่ของโลกได้เกิดธุรกิจการจัดการเพื่อใช้รถยนต์ร่วมกันแล้ว (เช่น บริการแท็กซี่ Uber) และบางเมือง เช่น Helsinki ในประเทศฟินแลนด์ กำลังวางแผนจะให้รถยนต์ส่วนตัวหมดไปภายในปี 2025 อีก 10 ปีเองครับ 
 

 
ที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากจะเป็นการพลิกโฉมทางการตลาดแล้ว ยังจะเป็นการพลิกโฉมทางสังคมด้วย อ้อ ขอเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับว่า คำว่า Disruptive มีความหมายในเชิงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่กำลังดำรงอยู่จะถูกแทนที่ด้วยของใหม่ ในเวลาอันรวดเร็วและกว้างขวางด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งดีเสมอไป

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ได้เกิดขึ้นแล้วคือเรื่องราวของบริษัท Digital Equipment Corporation หรือ DEC ซึ่งเคยใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก IBM (ซึ่งในปี 2014 มีพนักงานเกือบ 4 แสนคน)

ในปี 1987 บริษัท DEC มีพนักงานถึง 1.4 แสนคน และในปี 1992 มียอดจำหน่ายถึง 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ต้องมาเจ๊งในปี 1998 อย่างไม่น่าเชื่อ

สาเหตุที่ต้องเจ๊งผมเข้าใจว่ามาจากวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารของบริษัท คือ Ken Olsen ที่เชื่ออย่างผิดๆ ว่า “ไม่มีเหตุผลอันใดที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ที่บ้าน” เขาพูดประโยคนี้เมื่อปี 1977 ซึ่งในตอนนั้นบริษัทของเขากำลังผลิตมินิคอมพิวเตอร์ (ซึ่งเริ่มมีความก้าวหน้าแล้ว) ในขณะที่ในปี 1980 บริษัทคู่แข่งของ DEC คือ IBM และบริษัทอื่นได้ผลิต “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer)” ออกสู่ตลาดเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานที่บ้านจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และพัฒนาต่อมาเป็น “คอมพิวเตอร์บนโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งแพร่หลาย ราคาถูกและมีประสิทธิภาพสูงมากดังที่เราทราบกันแล้ว 
 

 
ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นหลายล้านเท่าตัวในช่วง 30 ปีมานี้ (ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 41% ต่อปี) ในขณะที่ต้นทุนการผลิตและบริการกลับลดลงนับพันเท่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน คือพลิกโฉมสังคมได้อย่างรวดเร็ว

คุณ Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ได้นำเสนอไว้หลายอย่างเช่น เทคโนโลยีพลังงานการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีแบตเตอร์รี่เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (เพื่อให้รถยนต์ไม่ชนกัน และไม่ชนคนเดินถนน) รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับ เทคโนโลยี Big Data ซึ่งถูกนำไปเก็บไว้ใน Cloud เป็นต้น ซึ่งราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน และเมื่อนำมาบูรณาการเข้ากับโทรศัพท์มือถือ 4G มันจะสามารถพลิกโฉมสังคมโลกไปได้มากอย่างยากที่จะจินตนาการไปได้ถึง

ด้วยข้อมูลความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้คุณ Tony Seba คาดการณ์ได้ว่าภายในปี 2030 พลังงานทุกชนิด (ไม่เฉพาะแต่ไฟฟ้า) จะมาจากแสงอาทิตย์ ดังข้อมูลในกราฟข้างล่าง 
 

 
สิ่งที่ผมกำลังพูดมี 2 ประการ คือการมองไปข้างหน้า ขณะเดียวกันก็ย้อนไปดูอดีตทั้งประสบการณ์ตรงของผม และวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาดของนักธุรกิจบางคน

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ ก็คือ การลงทุนของภาครัฐในกิจการพลังงานไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตลอดจนโรงไฟฟ้าอื่นๆ ว่าจะพากันขาดทุนเพราะไปติดยึดกับเทคโนโลยีที่ตกยุคแล้ว แต่สามารถยืนอยู่ได้เพราะมีอำนาจรัฐที่ไม่รู้เท่าทันคอยคุ้มกันให้

หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า เรื่องที่ผมนำมาเล่ามันเป็นทฤษฎีเกินไป แต่ในความเป็นจริงจะเกิดขึ้นได้ยาก ผมจึงขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยประวัติและวิธีคิดที่น่าทึ่งของนักลงทุนคนหนึ่ง เขาได้ลงมือทำด้วยตนเองจนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 100 ของโลก ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ

เขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ Tesla Motor ซึ่งรถยนต์รุ่นที่สองของเขาได้รับการลงมติจากนิตยสารผู้บริโภค ในปี 2013 ให้เป็นรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดตั้งแต่มีการผลิตรถยนต์มา เขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ และผลิตแบตเตอร์รี่ เขาผู้นี้คือ Elon Musk ซึ่งบทความของผมได้เขียนถึงเขาหลายครั้งแล้ว

ธุรกิจที่เขาทำที่กล่าวมาแล้ว ล้วนเป็น Disruptive Innovation ยุทธศาสตร์ในการทำงานของเขาดูง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ประกอบด้วยคำ 31 คำ ผมได้สรุปมาใส่ไว้ในแผ่นสไลด์แล้วครับ
 

 
Elon Musk ได้เปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าว่า “เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่วางอยู่บนล้อ” ในความหมายที่ว่า ประสิทธิภาพของรถยนต์สูงมาก และราคาถูก แม่นยำ ปลอดภัย ใช้งานง่าย เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ จึงมั่นใจได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะขับไล่รถยนต์ที่เผาไหม้ภายใน ที่ใช้น้ำมัน และก๊าซให้ตกยุคไปในเร็ววัน

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตรถยนต์ได้หลายยี่ห้อ (ใครเป็นเจ้าของก็ช่าง) และมีการส่งออกปีละหลายล้านคัน แต่เรายังไม่เคยได้ยินว่าประเทศไทยเราจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาใช้งานเลย


เรื่องนี้พอจะสรุปได้ไหมว่า Disruptive Innovation จะเด่นดังแค่ไหน ก็สู้นโยบายพลังงานที่มุ่งตอบสนองกลุ่มทุนสามานย์ไม่ได้ เรื่องนี้ภาคประชาชนจงอย่ายอมจำนน ช่วยๆ กันครับเทคโนโลยี 4G คือตัวช่วยหนึ่งในหลายๆ ตัวช่วย ครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น