xs
xsm
sm
md
lg

ระบบ “อภิสิทธิชน” ทำลายมาตรฐานการบินของไทยยับ กรณี “คำรณวิทย์” พิสูจน์ความเน่าเหม็นสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
เปิดโปงระบบ “อภิสิทธิชน” ทำลายมาตรฐานรักษาความปลอดภัยสนามบินสุวรรณภูมิยับ เชื่ออาวุธปืนติดไปตั้งแต่เดินทางจากกรุงเทพฯ เผยแก๊ง “ขาใหญ่” มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคอยเป็นขี้ข้าพินอบพิเทาบริการทุกเรื่อง ตั้งแต่จัดห้องพักพิเศษเตรียมเดินทาง ช่องวีไอพีเข้าเครื่องโดยไม่ปะปนคนอื่น แม้กระทั่งจ๊อบหนังสือเดินทางหอบเป็นปึกอำนวยความสะดวกให้หมดจนเป็นข่าวอื้อฉาวดังทั่วโลกไม่หยุดหย่อน

กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกจับคาสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง กลายเป็นประเด็นร้อนกลายเป็นกระแสมีคำถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะของนายตำรวจคนดังผ่านพิธีตรวจค้นอย่างละเอียดจากต้นทาง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นอย่างดีแล้ว กระทั่งเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาประกอบภารกิจถึง 4 วัน ก่อนมาถูกตรวจพบอาวุธปืนในช่วงขากลับ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการ” มีข้อมูลมาตีแผ่ให้ทราบ แต่ก่อนไปถึงตอนนั้นขอให้พิจารณาขั้นตอน และมาตรฐานต่างๆ ซึ่งทำกันตามปกติ ข้อมูลด้านความปลอดภัย หรือ Security Information คำแนะนำสำหรับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินเพื่อความสะดวกต่อท่านผู้โดยสารในการเข้ารับการตรวจค้นก่อนขึ้นเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอแนะนำท่าน ดังนี้

คำแนะนำสำหรับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน เพื่อความสะดวกต่อท่านผู้โดยสารในการเข้ารับการตรวจค้นก่อนขึ้นเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอแนะนำท่าน ดังนี้

1. ก่อนเข้ารับการตรวจบัตรโดยสาร หรือเช็กอิน (Check-In)

นำของเหลว เจล และ สเปรย์ หรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์เกินกว่า 100 มิลลิลิตร รวมทั้งวัตถุแหลมคม ทุกชนิดใส่ในกระเป๋าสัมภาระที่จะผ่านเช็คกนเพื่อลำเลียงส่งขึ้นเครื่องบิน หากต้องการนำ ของเหลว เจล สเปรย์ ถือติดตัวขึ้นบนเครื่องบิน ของเหลวนั้น ต้องมีขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร โดยต้องนำใส่ไว้ในถุงพลาสติกใสแบบ Zip-Lock ขนาด 20x20 เซนติเมตร (มีจัดเตรียมไว้ที่โต๊ะหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน) ผู้โดยสาร 1 คน ต่อ 1 ถุง ปริมาณของเหลวเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร (หรือ 1 ลิตร)

ผู้โดยสารที่มีอาวุธปืนต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สายการบิน ณ เคาน์เตอร์เช็กอิน เพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกสารและแยก เครื่องกระสุน ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ ผู้โดยสารไม่ได้รับอนุญาตให้นำพาสาร หรือ วัตถุอันตรายทุกชนิดไปกับเครื่องบิน ไม่ว่าจะบรรทุกไปกับสัมภาระที่เช็กอิน หรือ นำติดตัว ขึ้นเครื่องบิน

2. เมื่อ Check-In เสร็จแล้ว

เมื่อผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศเช็กอินเสร็จแล้ว จะต้องเข้ารับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (Passport Control) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขอความร่วมมือผู้โดยสารที่ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องบิน (Gate) C1-C10 และ D1-D4 ให้เข้าช่องทางตรวจหนังสือเดินทางด้านหลังเคาน์เตอร์เช็กอิน Row K-L ส่วนผู้โดยสารที่ต้องขึ้นเครื่องบินที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องบิน (Gate) D5-D8, E1-E10, F1-F6 และ G1-G5 ให้เข้าช่องทางตรวจหนังสือเดินทางด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน Row T-U

3. Security Check

เมื่อผ่านการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแล้ว ผู้โดยสารจะเข้าสู่ขั้นตอน การตรวจค้น เพื่อการรักษาความปลอดภัย เริ่มจากการ เตรียมบัตรโดยสาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

ให้ผู้โดยสารนำกระเป๋าที่ถือติดตัวใส่ถาดเพื่อเข้าเครื่อง X-Ray หากท่านใดมีคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Laptop) เสื้อแจ๊กเก็ตเข็มขัด และถุง Zip-Lock บรรจุของเหลวให้แยกต่างหากและใส่อีกถาดหนึ่ง เพื่อเข้าเครื่อง X-Ray ผู้โดยสารอาจถูกขอให้ถอดรองเท้า เพื่อนำไปตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ทั้งนี้ ได้มีการจัดเตรียมรองเท้ากระดาษ พร้อมทั้งถาด ใส่รองเท้าไว้ให้บริการ

สำหรับตัวผู้โดยสารให้เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ ผู้โดยสารท่านใดที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) หรือกำลังตั้งครรภ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ด้านหน้าจุดตรวจค้นเพื่อผ่านเข้าช่องทางเฉพาะ และรับการตรวจค้นร่างกายด้วยมือ ผู้โดยสารที่เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะแล้วเกิดสัญญาณเตือน ผู้โดยสารต้องเดินกลับออกไป เพื่อตรวจซ้ำอีกครั้งว่า ยังมีสิ่งของ ที่เป็นโลหะ หลงเหลืออยู่หรือไม่ หากพบว่ามีให้นำสิ่งของใส่ ลงในถาดที่จัดเตรียมไว้ผ่านเครื่อง X-Ray และเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ เป็นครั้งที่ 2 กรณีที่ผู้โดยสารเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะเป็นครั้งที่ 2และยังมีสัญญาณเตือน เจ้าหน้าที่จะเชิญให้ผู้โดยสารพักรอในพื้นที่ ที่จัดไว้ และ เจ้าหน้าที่ตรวจค้นจะมารับไปทำการตรวจค้นร่างกาย เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องตรวจจับโลหะส่งสัญญาณ

เมื่อผู้โดยสารได้รับการตรวจค้นร่างกายและสัมภาระทุกขั้นตอนแล้ว จะสามารถไปรอขึ้นเครื่องบินได้ ผู้โดยสารที่ปฏิเสธการตรวจค้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระหรือการตรวจค้นร่างกายและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการ รักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านจุดตรวจค้น เพื่อไปขึ้นเครื่องบิน

มาตรการจำกัดปริมาณของเหลวขึ้นเครื่องบิน เพื่อความสะดวกต่อท่านผู้โดยสารในการเข้ารับการตรวจค้นก่อนขึ้นเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอแนะนำท่าน ดังนี้ :

มาตรการจำกัดของเหลว เจล สเปรย์ ขึ้นเครื่องบิน ของเหลว เจล สเปรย์ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎ เช่น น้ำดื่ม เครื่องดื่ม ครีม โลชั่น ออยล์ สเปรย์ น้ำหอม เจลใส่ผม ยาสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย เป็นต้นของเหลว เจล และสเปรย์ทุกชนิด ต้องบรรจุในภาชนะที่มีขนาดความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร สำหรับภาชนะที่เกิน 100 มิลลิลิตร แม้จะบรรจุของเหลว เจล และสเปรย์ เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ ภาชนะทั้งหมดต้องใส่รวมกันไว้ในถุงพลาสติกใส ซึ่งเปิด - ปิด ผนึกได้ และมีความจุรวมกันไม่เกิน 1 ลิตร (1,000 มิลลิลิตร)

ผู้โดยสารสามารถนำถุงพลาสติกใสขึ้นเครื่องได้คนละ 1 ถุง โดยต้องแยกออกจากสัมภาระติดตัวอื่นๆ และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ณ จุดตรวจค้น ของเหลว เจล สเปรย์ ที่มีความจุเกิน 100 มิลลิลิตร ต้องบรรจุในกระเป๋าสัมภาระที่ท่านจะบรรทุกลงใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อผ่านขั้นตอน เช็กอิน เท่านั้น ของเหลวที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ นม และ อาหารสำหรับเด็กทารกในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงยาที่มีเอกสารกำกับชัดเจน ของเหลว เจล และสเปรย์ ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร (Duty free shops) ที่ท่าอากาศยานต้องบรรจุในถุงพลาสติกใสปิดผนึกปากถุงไม่มีร่องรอย การเปิดปากถุง และมีหลักฐานแสดงว่าได้ซื้อ ณ วันที่เดินทาง เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้น อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศจะมีกฎ การนำของเหลว ขึ้นเครื่องแตกต่างกัน ผู้โดยสารควรสอบถามจากสายการบินที่จะเดินทางให้ชัดเจนก่อนที่จะซื้อสินค้า

มาตรฐานรักษาความปลอดภัยตั้งไว้สูงขนาดนี้จึงไม่แปลกใจที่มีคำถามมากมายต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับบิ๊กตำรวจ โดยเฉพาะ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งถือเป็นขุนพลคู่ใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คำตอบที่ไม่ยากต่อการคาดเดา ก็คือ ระบบอภิสิทธิ์ชนที่ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมไทย และจำเลยสำหรับกรณีนี้หนีไม่พ้นบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่หัวแถวยันปลายแถว โดยเฉพาะที่เข้าเวรยามในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 อันเป็นวันที่คณะของนายเสวก ประเสริฐสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี ซึ่งคุมลูกทีมเดินทางไปดูงานกำจัดขยะที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ในฐานะแขกคนสำคัญของคณะ

แม้จะดูว่าเพียงกลุ่มเล็กๆ แค่นายก อบต. ทำไมเจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจึงให้ความสำคัญนัก คำตอบอยู่ที่ว่างบประมาณโรงงานกำจัดขยะแบบบูรณาการ ไร้มลภาวะ สามารถนำพลังงานไปผลิตเป็นกระแสฟ้านั้นตั้งงบประมาณไว้ถึง 6,000 ล้านบาท

แน่นอนว่า บริษัทเอกชนที่มีประโยชน์ต่อโครงการนี้ ย่อมร่วมเป็นเจ้าภาพในอีกทางหนึ่ง เช่น อำนวยความสะดวกระหว่างเดินทางทั้งในช่วงขาไปและขากลับ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอดีตบิ๊กตำรวจสมทบกับคณะดูงานกำจัดขยะไปด้วย ธรรมชาติของตำรวจไทยก็คือรับใช้ทุกขั้ว เอาใจทุกคน

และหน่วยงานที่รับผิดชอบท่าอากาศสุวรรณภูมิก็คือกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) ซึ่งในอดีตมีนายตำรวจมากมายเข้ามานั่งเป็นผู้บังคับการที่นี่ รวมถึง พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ซึ่งทราบกันดีว่ามีความสนิทสนมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองคนดัง คำตอบจึงอยู่ตรงนี้เพราะขั้นตอนการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเอกสาร สัมภาระต่างๆ กลุ่มวีไอพีจะได้รับการยกเว้น มีห้องพักพิเศษ ช่องทางเดินขึ้นเครื่องโดยเฉพาะ และการประทับตราหนังสือเดินทางมีการอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ขาดแต่เพียงอุ้มขึ้นเครื่องเท่านั้นเอง

เมื่อเป็นดังนี้จึงปรากฏข่าวให้ได้ยินได้ฟังเป็นช่วงๆ ว่า มีคณะวีไอพีของนักการเมือง หรือข้าราชการคนดัง ถูกตรวจจับสิ่งต้องห้าม บ้างร้ายแรงไปถึงขบวนการยาเสพติด กรณีที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ย่อมยืนยันและพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ระบบรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพ มาตรการต่างๆ ที่กำหนดได้มาตรฐานโลกต้องพินาศพังอย่างราบคาบด้วย “ระบบอภิสิทธิชน” ที่ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมไทยนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น