xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนสตูลลุกขึ้นปลุก “เพลงจิตอาสา” ด้วย “บุหงาตันหยง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์
 

“บุหงาตันหยง 

หยงไหรละน้องใต้ต้นตะบูน

พี่ใจละเหี่ย จนเสียศูนย์

เพราะสาวสตูลใจโอนเอน

ความเอ๋ย ความรัก

น้องเอ๋ย เหมือนไม้หลักปักเลน

เจอคนเทคแคร์ ตากแอร์เย็น

ลืมป่าชายเลน และลมเล


ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลง “ริมเล” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีในขณะนี้แถว อ.ท่าแพ จ.สตูล และในโลกออนไลน์

 

 
เพลงนี้แต่งเนื้อร้องโดยปราชญ์ชาวบ้าน ส่วนคนที่แต่งดนตรี และขับร้องมีชื่อว่า อนันต์ มารามาศ ผู้รับผิดชอบ“โครงการรองเง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้” ที่สนับสนุนโดย สสส.
 
อนันต์ เป็นอดีตนักดนตรี และนักแต่งเพลง ก่อนกลับมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำกลุ่มเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด
 
บางช่วงที่ผ่านมา อนันต์ ยอมรับว่า ไม่สนใจความเป็นไปของชีวิตมากนัก จนกระทั่งผ่านร้อน หนาว เลว ดี จนเห็นว่าถ้าอยากให้ตัวเองดี สังคมดี ต้องเดินตามแนวทางศาสนา
 
เมื่อ 15 ปีก่อน เขาติดตามผู้อาวุโสแห่งบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ม.1 ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล ไปเรียนรู้ศาสนา ฝึกการเป็นผู้นำ จากจุดดังกล่าวเขาจึงเริ่มชวนเด็กๆ ร่วมทำงานเชิงศาสนา และงานสังคม กระแสต่อเนื่องมาจนเขาได้มารับผิดชอบโครงการรองเง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ โดยต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ที่มีอยู่ราว 1,500 ไร่ ซึ่งวิกฤตมาตั้งแต่ยุคให้สัมปทานตัดไม้โกงกางเผาถ่าน กระทั่งไม่นานมานี้ ก็เคยมีโรงงานขยะไปตั้งอยู่ในป่าชายเลน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันมาก
 

 
หน่วยงานรัฐที่ดูแลป่าชายเลนเคยมีการจ้างคนดูแลบริเวณดังกล่าว ครั้นรัฐเลิกจ้างเพราะหมดงบประมาณ  ในปี 2549 กลุ่มเยาวชนบ้านท่าน้ำเค็ม ภายใต้การนำของอนันต์ ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้”จึงเข้ามาทำงานสานต่อแบบจิตอาสาแทน บทบาทในการลาดตระเวนดูแลไม่ให้ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย และปลูกป่าเพิ่ม
 
คนกลุ่มนี้เองยังทำกิจกรรมสังคมอื่นๆ จนกระทั่งพัฒนาเครือข่ายเติบโตเป็น “กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ท่าแพ” ในปี 2554 ทำงานพัฒนาในระดับอำเภอ
 
เมื่อมารับผิดชอบโครงการรองเง็งเยาวชนต่อลมหายใจป่าชายเลนดังกล่าว อนันต์ ต้องการขยายฐานคนทำงานชุมชนให้กว้างออกไปอีก โดยเฉพาะคนสูงอายุ 70-80 ปี มองเห็นว่าวัฒนธรรมดนตรีเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ แม้ว่าในทางศาสนาอิสลามจะมีข้อจำกัดในการนำเสนอก็ตาม
 
“เราไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ลืมวัฒนธรรมชุมชนเดิมของชาวสตูลคือ รองแง็ง ซึ่งเป็นการละเล่นของชุมชนมุสลิมริมทะเลทางภาคใต้ สิ่งนี้จึงเท่ากับเป็นการฟื้นวัฒนธรรม”
 
‘รองเง็ง’ จึงถูกดึงมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนา
 

 
และเนื่องจากปราชญ์รองเง็งเป็นผู้สูงอายุ สามารถเกี่ยวโยงคนหลายกลุ่ม สามารถมีบทบาทแฝงในการรวมคนทุกกลุ่มทุกวัยในชุมชนมาทำงานพัฒนาร่วมกัน นอกจากปราชญ์รองเง็งแล้ว มีการดึงปราชญ์ด้านอื่นๆ มาร่วมสร้างความร่วมมือในการทำงานพัฒนาชุมชนด้วย
 
อนันต์ เล่าว่า สิ่งที่ได้จากการขับเคลื่อนโครงการ นอกจากได้จัดทำหนังสือข้อมูลชุมชนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารในชุมชนไว้อย่างเป็นระบบเล่มแรกที่เยาวชนช่วยกันทำเองแล้ว ยังเกิดวิถีอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม มีการจัดการป่าชายเลนโดยชาวบ้าน โดยสร้างกฎกติกาการใช้ป่าชายเลนร่วมกันของชาวบ้านเอง พร้อมขยายแนวคิดไปยังหมู่บ้านข้างเคียง
 
“ทุกวันนี้ชาวบ้านให้ความร่วมมือในการจัดการป่าชายเลนร่วมกันเกือบ 100% หากใครจำเป็นต้องการตัดต้นไม้จากป่าไปใช้สอย ต้องทำตามกติกาเท่านั้น คือ ขออนุญาตประธานเครือขายอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชนคือ ตัวผม ใครตัด 1 ต้น ก็ต้องปลูกทดแทน 10 ต้น และต้องร่วมกิจกรรมกับทางเครือข่าย”
 
ทุกวันนี้ป่าชายเลนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ จึงกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ระบบนิเวศดีขึ้น เพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในป่าชายเลน โดยเฉพาะ “หอยปะห์” และ “สาหร่าย” หรือ “สาย” อันเป็นแหล่งอาหารเฉพาะถิ่น
 

 
การขับเคลื่อนโครงการ สสส.ทำให้ได้กลุ่มนักดนตรีรองเง็งที่มีความชัดเจน และเข้มแข็งเพิ่มอีกหนึ่งกลุ่ม ได้ผู้อาวุโสในชุมชนที่พร้อมให้ความรู้แก่คนรุ่นลูกหลานอย่างภูมิใจ ทั้งที่ช่วงหนึ่งคนต่างวัยคุยกันแทบไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กัน ไม่มีการสืบสานเรื่องราวความรู้ ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
 
“ตอนแรกผมมาทำสิ่งนี้คนไม่เข้าใจ ก็มีแรงเสียดทานพอสมควร แต่เมื่อเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ก็ยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ ความสำเร็จผมมองว่ามาจากความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของกลุ่มเยาวชน การเสียสละของทุกฝ่ายในการทำงานจิตอาสา การเอาดนตรีมาสื่อสาร เพราะคนสนใจ ชอบดนตรี”
 
อนันต์ เล่าว่า แม้เขาเคยชอบดนตรีสากล แต่งเพลงมากกว่า 30-40 เพลง แต่การมารู้จักกับรองเง็งที่เป็นของดั้งเดิมของชุมชน ตนเองกลับได้เห็นว่ารองเง็งเทียบกับดนตรีคลาสสิกระดับโลก
 
เมื่อมีคนเขียนเนื้อเพลง “ริมเล” เขานำมาใส่ทำนองอิงกับรองเง็ง แล้วเผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ได้รับความสนใจในอย่างวงกว้าง
 
โดยเฉพาะในช่วงท้ายบทเพลงได้มีการนำทำนอง “เพลงบุหงาตันหยง” ซึ่งเป็นเพลงรองเง็งมาประกอบ มีเนื้อเพลงที่คนที่รู้จักรองเง็งจะคุ้นกันดี แต่ได้ดัดแปลงเข้ากับเนื้อหาใหม่ โดยภาพรวมของเนื้อหาเพลงก็กล่าวถึงทะเลบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ความรู้สึกของคนสมัยก่อน ผ่านกลิ่นอายรองเง็ง
 

 
“การแต่งเพลงแบบนี้เพื่อสื่อสารการทำงานชุมชน อย่าง เพลงริมเล ทำให้คนสนใจได้รู้ว่าชาวบ้านที่นี่ทำอะไรอยู่”
 
อนันต์ เล่าและเสริมว่า การใช้เพลงจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกคนได้ดีกว่าสื่อแบบอื่น การใช้ดนตรีและเพลงสามารถสื่อสารงานสังคมได้ เช่นเดียวกับเพลงของวงคาราวานที่ทำให้เข้าใจถึงการต่อสู้ การเคลื่อนไหวของคนยุคก่อน
 
“การที่เราทำเพลงก็ทำให้คนสนใจงานพัฒนามากขึ้น แต่ก่อนเราเล่นดนตรีที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เขาเปิดให้เต็มที่ เพราะเราทำให้เห็นคุณค่าของดนตรีที่ไม่ใช่เพื่อการมั่วสุม แต่ดนตรีคือสิ่งบันเทิง และจรรโลงใจ”
 
อนันต์ กล่าวด้วยว่า ก้าวต่อไปของเขาคือ การพัฒนาทรัพยากรคน และภูมิปัญญา โดยจะยังใช้เพลงเป็นเครื่องมือ จึงตั้งใจจะเขียนเพลงใหม่อีก นอกจากเพลงก็ควรจะมีสื่ออื่นประกอบด้วย เช่น มิวสิกวิดีโอ และต้องสื่อออกไปหลายช่องทาง
 

 
โหรม ตำสาเหล็ม ปราชญ์รองเง็งบ้านท่าน้ำเค็มใต้ เล่าเพิ่มเติมว่า รองเง็งมีมากว่า 100 ปี คณะที่มีชื่อเสียงของ จ.สตูล อยู่ที่ อ.ละงู ทุกวันนี้ยังรับงานแสดงแม้จะมีอายุมากกันแล้ว ชาวบ้านมักรับมาแสดงในงานแต่งงาน หรืองานแก้บนต่างๆ
 
การเล่นรองเง็งสมัยก่อนเครื่องดนตรีมีแค่กลองรำมะนา 2 ใบ กับซออู้ มีขับเพลงแบบด้นสดระหว่างชายหญิง และมีการร่ายรำตามจังหวะเพลง
 
“ผมก็ถ่ายทอดเรื่องรองเง็งให้แก่คนรุ่นใหม่ เรื่องประวัติความเป็นมา และสอนการตีรำมะนา เพราะเคยฝึกเล่นมา การที่คนรุ่นใหม่มาฟื้นรองเง็ง โดยประยุกต์เครื่องดนตรีถือเป็นผลดี เพราะในสังคมรุ่นใหม่อาจมีปัญหาหลายอย่าง ก็ใช้รองเง็งมาช่วยแก้ปมได้บ้าง ยังพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมอีกด้วย”
 

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น