xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าข้างวัดเขาบ่อ (๑) : “ความเป็นสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา  ไม่มีใครในแวดงวงวิชาการทางด้านวัฒนธรรมชาวบ้าน หรือคติชนวิทยา จะไม่รู้จัก  “ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์”  เมธีวิจัยอาวุโส  สาขาสังคมศาสตร์  สำนักงานกองทุนสนับสนุนกานวิจัย (สกว.)  อดีตผู้สถาปนา และผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา  ผู้มีคุณูปการต่อแวดวงวิชาการด้านวัฒนธรรม  โดยเฉพาะคติชนวิทยา หรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน
 
จนได้รับการยอมรับ และเชิดชูยกย่องให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันต่างๆ มากมาย  เช่น  รางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น (๒๕๓๒)  รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (๒๕๒๓)  วิทยาลัยครูจันทรเกษม (๒๕๒๔)  รางวัลผู้อนุรักษ์ดีเด่นทางภาษาและวรรณกรรม (๒๕๓๗)  รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านการค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ทางวัฒนธรรม (๒๕๓๗)  รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ (๒๕๓๗)  รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้กระทรวงศึกษาธิการ (๒๕๓๘)  และล่าสุด ได้รับรางวัลชูเกียรติ  อุทกะพันธุ์ (๒๕๕๘)
 
แม้ว่า ศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  จะมีผลงานทั้งด้านตำรา  พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้  สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้   และงานสร้างงานอย่างการสถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา  การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา  วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน  โครงการวิจัย เช่น โครงการวิจัยเรื่องโครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมภาคใต้กับการพัฒนา  โครงการวิจัยเรื่องภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม  โครงการแผนที่ ๓ มินิทัศน์วัฒนธรรมภาคใต้ : ฐานทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม ฯลฯ
 
แต่ยังไม่เคยมีใคร หรือกลุ่มบุคคลใดให้ความสนใจวิพากษ์  วิจารณ์  หรือวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลงานของท่าน  เพื่ออธิบาย และขยายผลทั้งในด้านวิธีวิทยา  แนวคิดในการศึกษาสังคมวัฒนธรรมภาคใต้  องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม  และสิ่งที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ คิดฝันอยากเห็นอยากให้มีขึ้นในสังคมภาคใต้
 
เราในฐานะผู้เคยร่วมงาน และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอาจารย์ในทางส่วนตัว และในทางวิชาการ  จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น  อย่างน้อยเพื่อนเป็นการคารวะครูในวาระอันสำคัญยิ่ง
 
วัตถุประสงค์ ๑.เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลงานของศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  ในทุกด้าน ๒.เพื่อจัดพิมพ์หนังสือวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลงานของศาสตราจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  เผยแพร่ต่อสาธารณชน  ๓.เพื่อเชิดชูเกียรติ  ยกย่องผู้มีคุณูปการต่อสังคมภาคใต้  ด้วยหนังสือที่เกิดจากการถอดรหัสทางความคิด ความเห็น และประสบการณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “คราบน้ำตาบนทางชีวิตและงานของ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์”
 
ผู้รับผิดชอบโครงการ  ประกอบด้วย  ๑.นายจรูญ  หยูทอง  ๒.นายบุญเลิศ  จันทระ  ๓.นายสมคิด  ทองสง  ๔.นายประมวล  มณีโรจน์  ๕.รศ.ยงยุทธ  ชูแว่น  ๖.ดร.พิเชฐ  แสงทอง
 
วิธีดำเนินงาน  ๑.นำเสนอโครงการ  ๒.จัดทำกรอบเนื้อหาของหนังสือ หรือบทวิเคราะห์-สังเคราะห์  ๓.ประชุมคณะทำงานเพื่อปรึกษาหารือและแบ่งงานกันรับผิดชอบ  ๔.เขียนบทวิเคราะห์-สังเคราะห์ผลงาน  ๕.ประชุมร่วมพิจารณาต้นฉบับของคณะทำงานแต่ละคน  ๖.จัดพิมพ์หนังสือวิเคราะห์-สังเคราะห์ผลงานฯ  ๗.เผยแพร่หนังสือต่อสาธารณชน
 
กรอบเนื้อหาของหนังสือ (ร่างเพื่อร่วมพิจารณาเบื้องต้น)  ๑.รากเหง้าและเบ้าหลอม (ถิ่นฐานบ้านเกิด จนถึงเรียนวิทยาลัยครู และวิทยาลัยวิชาการศึกษา)  ๒.ก่อร่างสร้างฐาน (ตั้งแต่เก็บข้อมูลวรรณกรรมท้องถิ่น จนถึงสถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา)  ๓.องค์ความรู้ที่ได้จากผลงานของ ศ.สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ (ความเข้าใจภาคใต้  อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวใต้ในมุมมองของ ศ.สุธิวงศ์           ผลที่เกิดขึ้นแก่วงวิชาการทางด้านวัฒนธรรมในสังคมภาคใต้และสังคมไทย)
 
๔.แนวคิดและทฤษฎีในการศึกษาสังคมภาคใต้ของ ศ.สุธิวงศ์ (วิธีวิทยาในการศึกษา  แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้เพื่อการศึกษา)  ๕.ภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม (วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้  แผนที่ภูมินิทัศน์วัฒนธรรมภาคใต้ : ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม)  ๖.สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (สังเคราะห์)  ๗.วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน และสถาบันทักษิณคดีศึกษา  ๘.วิสัยทัศน์ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ ในด้านต่างๆ  การผลิตบัณฑิต  การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  การทำหน้าที่กรรมการด้านวัฒนธรรม ฯลฯ)
 
ประโยชน์ที่คิดว่าจะได้รับจากโครงการนี้  ประการแรกคือ  การได้วิเคราะห์สังเคราะห์งานของ อาจารย์สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  เชิงวิพากษ์ เพื่อถอดบทเรียนของการทำงานทางด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมตามแนวคิดของอาจารย์  อันจะยังประโยชน์ในการศึกษา  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม หรือรักษาชาติ
 
ประการที่สอง  สังเคราะห์องค์ความรู้แบบสหวิทยาการ  เพื่อศึกษา เข้าใจและพัฒนาสังคมภาคใต้และสังคมไทยด้วยความรู้  ตามหลักวิชาการแบบตะวันออก หรือแนวพุทธศาสตร์  ไม่ใช่ตามความรู้สึกอย่างที่เป็นมา และเป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
ประการที่สาม  ได้สืบทอดทฤษฎี  วิธีวิทยาตามที่อาจารย์พยายามนำเสนอในการศึกษาสังคมภาคใต้ และสังคมไทย  อันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของปราชญ์สามัญชน  เช่น  ทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์  ทฤษฎีสาวย่านนับโยด  หรือแนวคิดเชิงปรัชญาที่ว่า “กุศลปรุงแต่งกรรม  วัฒนธรรมปรงแต่งคน”  เป็นต้น
 
ประการสุดท้าย  สาธุชนทั่วไปจะได้รู้แจ้งเห็นจริงว่า อาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์  ไม่ได้ “สร้างที่อยู่หรูหราราคาแพงให้เหล็กขูด” หรือ “สร้างกองขยะราคาแพงที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” อย่างที่อมิตรกล่าวหาท่าน
 
พวกเราขออาสา และประกาศจัดตั้ง หรือสถาปนา “สำนักคิด สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ในนามของลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพ และบูชาอาจารย์ด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ด้วยปาก จนอาจารย์เคยพึมพำถึงบางคนที่ชอบออกหน้าทำที่เป็นคนสนิทชิดเชื้อกับอาจารย์ว่า “ไม่เห็นมันทำอย่างที่มันพูดสักเรื่อง”
 
เราจะผลักดันทุกเรื่องที่เสริมสร้างเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศของอาจารย์ ในวันเวลาที่อาจารย์ยังรับรู้อะไรอยู่บ้าง เพราะเราตระหนักดีว่าสิ่งที่อาจารย์รัก และหวงแหนที่สุดในชีวิตคือ “สถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” แต่เราไม่อาจจะปกปักรักษามันไว้ได้
 
จึงขอทำหน้าที่อันมีเกียรติในการปกปักรักษา “ความเป็น สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ว่า “กว่าโลกจะขานรับ” มันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างใน “คราบน้ำตาบนทางชีวิตของ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์” ครับ
 
(ใครสนใจสนับสนุนการทำหน้าที่นี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ แสดงความประสงค์เข้ามาได้นะครับ เพื่อสร้างวิทยาทานแก่สังคมบ้านเกิดเมืองนอนร่วมกันครับ)
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น