ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ที่เกิดจากการรวมตัวกันทั่วประเทศรวม 7 สถาบัน ร่วมตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้รัฐบาลทอปบูตเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” หลังถูกกล่าวหาการจัดการเรียนการสอนก่อให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ตนและ อ.จรูญ หยูทอง จากสถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ ได้ร่วมคณาจารย์มหาวิทยาลัยรวม 7 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประกอบด้วย ม.ทักษิณ ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา ม.ขอนแก่น ม.วลัยลักษณ์ ม.ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีแถลงข่าว และออกแถลงการณ์ในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (31 ต.ค.) ณ โรงแรม IBIS จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมแถลงข่าว และอ่านแถลงการณ์ นอกจาก รศ.ดร.ณฐพงศ์ และ อ.จรูญจาก ม.ทักษิณแล้ว ยังมีประกอบด้วย ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ และ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล จาก ม.เชียงใหม่ ดร.มานะ นาคำ จาก ม.ขอนแก่น เป็นต้น โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมอง หรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และข้อเท็จจริงจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์ และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหา และเผชิญหน้าต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำ และยึดมั่นในวิธีคิด และอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทย และสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การปลูกฝังอุดมการณ์ หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคม หมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้รุนแรง หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว
ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่า การทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์ หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพ ตลอดจนความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่ในมุมมองที่แตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิต และความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืน หรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง
การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาค และเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่า การที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐาน คือ ต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการต่อปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรม และโปร่งใส มีระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือ สังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรม และค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจ ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญา และไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบัน และอนาคต