xs
xsm
sm
md
lg

บช.ศ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสริมความรู้ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ให้ ตร.ใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปราม “การค้ามนุษย์” ให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด พร้อมนำร่องนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สื่อการสอนเคลื่อนที่ (Mobile elearning Unit) ประกอบการฝึกอบรม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาคสนาม ระบุประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ใช้ซอฟต์แวร์นี้

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (29 ต.ค.) ที่โรงแรมกะตะบีช รีสอร์ท ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต พล.ต.ต.ศรกฤษณ์ แก้วผลึก รองผู้บัญชาการศึกษา กองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปราม “การค้ามนุษย์” ซึ่งทางกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้แก่ข้าราชการตำรวจในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันบริเวณแนวชายแดน โดยมมี นายริชาร์ด สเนลไซร์ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ลิ้มเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต เข้าร่วม ซึ่งการอบรมในครั้งนี้มีข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรป้องกันปราบปราบ สารวัตรสืบสวน พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ หรือเทียบเท่า สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 40 นาย ร่วมอบรม

พ.ต.อ.ศรกฤษณ์ แก้วผลึก รองผู้บัญชาการศึกษา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการเร่งรัดให้ดำเนินการในเรื่องค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความสัมฤทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือ และการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งยังต้องสร้างความตระหนักแก่ทุกฝ่ายให้เข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ ทั้งการกำหนดมาตรการการเพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนการกำหนดมาตรการสร้างความร่วมมือของคนในชาติ

ทางบกองบัญชาการศึกษา จึงได้จัดทำโครงการสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปราม “การค้ามนุษย์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปราม “การค้ามนุษย์” ของข้าราชการตำรวจ โดยเน้นย้ำเป้าหมายหลักในเชิงป้องกัน 4 ปัจจัย ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ การป้องกันบริเวณแนวชายแดน การป้องกันเส้นทางลักลอบเข้าพื้นที่ชั้นใน การป้องกันสถานบริการและสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง และการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยการนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สื่อการสอนเคลื่อนที่ (Mobile elearning Unit) สำหรับการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกองบัญชาการศึกษาได้รับมอบจากโครงการ UNODC Global elearning Project “ช่วยโลกให้พ้นจากยาเสพติด อาชญากรรม และการก่อการร้าย (GLOU61)” มาประกอบการฝึกอบรมเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ มีองค์ความรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมสำหรับเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน เพื่อการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก

สำหรับเป้าหมายของโครงการฯ ฝึกอบรมข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งระดับสารวัตรป้องกันปราบปราม สารวัตรสืบสวน พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ หรือเทียบเท่า จำนวน 15 รุ่นๆ ละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 600 คน ในพื้นที่ภาคใต้ โดย แบ่งเป็น 4 กลุ่มจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จังหวัดสงขลา 2 รุ่น สตูล 1 รุ่น และพัทลุง 1 รุ่น กลุ่มที่ 2 จังหวัดภูเก็ต 1 รุ่น พังงา 1 รุ่น กระบี่ 1 รุ่น และตรัง 1 รุ่น กลุ่มที่ 3 จังหวัดระนอง 1 รุ่น ชุมพร 1 รุ่น และประจวบคีรีขันธ์ 1 รุ่น กลุ่มที่ 4 จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 รุ่น และนครศรีธรรมราช 2 รุ่น

“การเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในการที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรับทราบนโยบายนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบให้กองบัญชาการศึกษา เป็นผู้ดำเนินการด้านการฝึกอบรม การให้ความรู้ ซึ่งในการฝึกอบรมทำทั้งหมด 12 จังหวัดทั้งทางด้านอ่าวไทย และฝั่งอันดามันทั้งหมด 15 รุ่นๆ ละ 40 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดยฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด International Narcotics and Law Enforcement Section-INL

นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร UNODC Global elearning Project (GLOU61) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติ ให้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นอุปกรณ์ชุดแรกที่มี เรียกอุปกรณ์ชุดนี้ว่า Mobile elearning Unit เป็นโปรแกรมการฝึกของตำรวจโดยเฉพาะ เนื่องจากเรามองว่าปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาค ดังนั้น ประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนก็สนใจโปรแกรมนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ลาว ฯลฯ แต่ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้สัมผัสกับโปรแกรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ และยังมีความรู้ต่างๆ อีกหลายสิบโปรแกรม ทั้งเรื่องการตรวจค้นยาเสพติด การช่วยเหลือเหยื่อ ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ รวมถึงเรื่องของหนังสือเดินทางด้วย ซึ่งทางสำนักงานแห่งชาติ ภูมิใจมากกับโครงการนี้ เชื่อว่าโครงการฯ จะถูกขับเคลื่อนไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง ใน 15 รุ่น หลังจากนี้จะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นเพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น