xs
xsm
sm
md
lg

“แม่ทัพ 4 คนใหม่” กับความคาดหวังของคนทุกข์บนแผ่นดินไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์กองทัพภาคที่ 4)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ระเบิดแสวงเครื่อง 7 จุดที่เกิดขึ้นในวันสารทเดือน 10 ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส น่าจะเป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่าจะเป็นในสังกัดของบีอาร์เอ็นหรือไม่ พวกเขาไม่ได้สนใจในเรื่องการ “พูดคุยสันติสุข ที่รัฐบาล หรือนัยหนึ่งคือ คสช.เปิดโต๊ะเจรจากับตัวแทนขบวนการทั้งบีอาร์เอ็น, บีไอพีพี, จีเอ็มไอพี และพูโล รวม 6 กลุ่มแต่อย่างใด
 
รวมทั้งการก่อการร้ายในวันสารทเดือน 10 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ โดยเฉพาะของคนใต้ถือเป็นความพยายามที่จะยั่วยุเพื่อสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวไทยพุทธ และหวังทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นความพยายามในหลายสิบปีที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องการสร้างเงื่อนไขให้เกิด “สงครามศาสนา”
 
ก่อนหน้านี้ มีการฆ่าชาวไทยพุทธ 2 ผัวเมียที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ยิงเจ้าหน้าที่อีกหลายราย รวมทั้งการโจมตีฐานทหารพรานที่ “ดุซงญอ” อ.จะแนะ การวางระเบิดเจ้าหน้าที่ที่ อ.บาเจาะ และที่ อ.สุไหงปาดี ซึ่งก็เคยมีปฏิบัติการด้วยระเบิดแสวงเครื่อง 7 แห่ง ในเขตเทศบาลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
 
ล่าสุด การวางระเบิดรถหุ้มเกราะของทหารที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถือเป็นการก่อวินาศกรรมที่รุนแรงอีกครั้ง เพราะมีทั้งผู้ตาย และบาดเจ็บ ส่วนรถยนต์หุ้มเกราะยับเยินด้วยแรงอัดของดินระเบิด
 
จะสังเกตได้ว่า วันนี้ความรุนแรงโดยการใช้ “ปฏิบัติการทางทหาร” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เกิดขึ้นเกือบทุกอำเภอของ จ.นราธิวาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้แผน “ทุ่งยางแดงโมเดล” เป็นนโยบายในการสร้างสันติสุขนั้น เพียงทำให้ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนลดการปฏิบัติการลงชั่วคราวเท่านั้น
 
เท่ากับแสดงให้เห็นว่า ณ วันนี้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีทั้งระดับ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ที่พร้อมปฏิบัติการอยู่ในทุกๆ พื้นที่ และที่น่าสังเกตคือ มีการสร้าง “เซลล์ใหม่” แทนกองกำลังเก่าๆ ที่ทำการหลบซ่อนตัว หรือหลบไปอยู่ยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีหมายจับ และรู้ตัวว่าเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่
 
จับสังเกตได้ว่าในระยะหลังๆ การปฏิบัติการของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในเรื่องของการทำระเบิดแสวงเครื่อง มีประสิทธิภาพที่ด้อยลง แสดงให้เห็นว่าเป็นการผลิตของแนวร่วมรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นเซลล์ใหม่ที่เพิ่งถูกชักจูงเข้าสู่ขบวนการ
 
ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ผ่านมา ได้พยายามแก้เกมการใช้ระเบิดแสวงเครื่องในการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และก่อวินาศกรรมเมือง ด้วยการทำพื้นที่ 3 จังหวัดให้ปลอดจากถังแก๊สที่เป็นโลหะ และมีการออกกฎหมายให้จดทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันการนำถังแก๊สไปประกอบระเบิด และใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตัวจุดชนวน แต่สุดท้ายมาตรการทั้ง 2 อย่างยังไม่ประสบผลเต็มร้อย
 
เพราะมีการใช้วัตถุสิ่งของอื่นๆ อีกมากมาย เช่น กล่องเหล็ก และอื่นๆ เป็นที่บรรจุดินระเบิด และใช้ซิมโทรศัพท์ รวมถึงวิทยุรับ-ส่ง รวมทั้งรีโมตคอลโทรลในการจุดระเบิด อีกทั้งใช้ระเบิดแบบกับดักในการมุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนอย่างได้ผล ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ การปฏิบัติการทางทหารของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้นตามห้วงจังหวะเวลา
 
ส่วนในการ “ปฏิบัติการทางการเมือง ที่น่าจับตามองคือ การออกมาเพื่อล้มโต๊ะการพูดคุยระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม กับตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยการความสะดวก ซึ่งหลังการพบปะรอบแรก และมีการแถลงข่าวร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้พิจารณา
 
แต่เพียงไม่กี่วันของการพบปะที่ชื่นมื่นก็ถูกกวนน้ำให้ขุ่นเมื่อ “ปีกทางการทหาร ของขบวนการบีอาร์เอ็น ที่มี “อับดุลเลาะ แวมะนอผู้ควบคุมกองกำลังทางทหารได้ส่ง “อับดุลการีม กาหลิบ” ผู้นำกลุ่มเปอมูดอ หรือเยาวชน ออกมาส่งสารถึงประชาชนพลโลก และรัฐบาลไทยผ่านทางยูทิวบ์ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติสุข แถมกล่าวว่า รัฐไทยหลอกลวง และเป็นนักล่าเมืองขึ้น
 
และในวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสถาปนาบีอาร์เอ็น ก็ได้มีการสื่อสารจากบีอาร์เอ็นกลุ่มเดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีความจริงใจ ให้เกียรติ และให้มีผู้ไกล่เกลี่ยจากต่างประเทศเข้าร่วมในเวทีพูดคุย
 
นั่นแสดงให้เห็นว่า เวทีการพูดคุยสันติสุขคงจะไม่ราบรื่น อันสืบเนื่องจากความเห็นที่แตกต่าง และความแตกแยกที่เกิดขึ้นในขบวนการแบ่งแยกดินแดนในแต่ละกลุ่ม ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเป็นขบวนการที่ขาดเอกภาพ จนกลายเป็นอุปสรรคของการพูดคุยเพื่อดับไฟใต้มาโดยตลอด
 
วันนี้ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่น่าสังเกตคือ กลุ่มผู้ที่มีอำนาจในขบวนการบีอาร์เอ็น ทั้งที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณอย่าง “สะปอิง บาซอ” ผู้นำอาวุโสอย่าง “ฮาซัน ตอยิบ” นักทฤษฎีอย่าง “มะแซ อุเซ็ง” และที่สำคัญคือ “อับดุลเลาะ แวมะนอ” ผู้นำทางการทหาร ไม่มีส่วนร่วมบนโต๊ะของการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้
 
ดังนั้น หากหวังว่าในระหว่างการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ หยุดความหวาดระแวงระหว่างกัน โดยทางรัฐบาลขอให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่มแสดงความจริงใจ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าจะเป็นไปด้วยความยากยิ่ง เนื่องจากแกนนำที่มี “บทบาท” ไม่มีส่วนบนโต๊ะพูดคุย และยังไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข
 
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยผู้อำนวยความสะดวกคือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “สันติบาลและ “ข่าวกรอง ของมาเลเซียนำมาขึ้นโต๊ะพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยนั้น ล้วนแต่เป็นแกนนำที่อยู่ในคอลโทรลของฝ่ายมาเลเซียทั้งสิ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยซึ่งถูกจำกัดให้อยู่ใน “วงนอก” ของกรอบการพูดคุย จึงทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม
 
กล่าวคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่รัฐบาลมาเลเซียต้องการให้เดินเกมพูดคุย กับอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุย และที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มในพื้นที่ และไม่ได้อยู่ภายใต้การรับคำสั่งของทั้งกลุ่มที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุร้ายรายวัน
 
ตรงนี้ต่างหากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องใช้วิธีการในการทำอย่างไรให้ขบวนการก่อการร้ายกลุ่มที่ 3 หยุดการก่อเหตุ
 
วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ “พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์” ได้ให้นโยบายต่อ ศอ.บต. กับ ผบช.ศชต. และ ผวจ.ใน 4 จังหวัด เพื่อกำหนดเป้าหมายการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร ปฏิบัติการภายใต้กรอบการบูรณาการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลใน 7 กลุ่มงาน ผ่านศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหรือ ศปอ.อำเภอ
 
โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 4 ข้อ 1.ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ 2.ขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งและเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง 3.การทำให้ประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่าง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4.การขจัดภัยแทรกซ้อนทุกรูปแบบ
 
แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นระดับ “แม่ทัพ” ระดับ “เลขาธิการ ศอ.บต.” หรือ “ผบช.ศชต.” รวมทั้ง “ผวจ.” ในแต่ละจังหวัด ประชาชนย่อมมีความคาดหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไข ความเลวร้ายที่ดำรงอยู่จะต้องลดลง ความเป็นอยู่ของประชาชนจะได้รับการดูแลให้ดีกว่าเดิม นั่นคือ ความคาดหวังของคนในพื้นที่ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้มาเป็น “ผู้นำ
 
เป้าหมาย 4 ข้อของ “แม่ทัพภาคที่ 4” และ “ผอ.กอ.รมน.ภาค 4” คนใหม่ถูกต้อง แต่อยู่ที่จะใช้วิธีการอย่างไรในการขับเคลื่อนเพื่อแปรไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพไปสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ตรงนี้คือความท้าทายบนความคาดหวังของคนทุกข์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น