xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ พัทลุงรับปากช่วยชาวประมงพ้นจากความเดือดร้อนประกาศห้ามใช้ไซจับกุ้ง ชาวบ้านยันไม่ใช่เครื่องมือทำลายล้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เยี่ยมชาวประมงพื้นบ้านบ้านช่องฟืน เพื่อรับฟังปัญหา รับปากช่วยแก้ปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านพ้นความเดือดร้อนที่เกิดจากประกาศห้ามใช้ไซจับกุ้งก้ามกราม และกุ้งหัวมัน ขณะชาวบ้านยืนยันไม่ใช่เครื่องมือทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำ

วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปัญหาประกาศห้ามใช้ไซนอนจับกุ้งก้ามกราม และไซนั่งจับกุ้งหัวมัน ซึ่งจะมีกำหนดรื้อเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวในวันที่ 15 ตุลาคม 2558 สร้างความวิตกกังวลต่อชาวประมงพื้นบ้านทะเลสาบสงขลา ซึ่งพยายามยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงว่า เครื่องมือทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ไม่ได้ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำแต่อย่างใด ขอให้ทางราชการอนุญาตให้ใช้ทำการประมงได้ วันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้รับปากว่าจะผลักดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เดินทางมายังโรงเรียนบ้านช่องฟืน ม.2 ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ใน “โครงการตามรอยพ่อ ขับเคลื่อนวาระเมืองลุงพอเพียง เฉลิมพระเกียรติในหลวง เพื่ออนาคตลูกหลานคนเมืองลุง” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เจ้าหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง นายอำเภอปากพะยูน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บุคลากรทางการศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านช่องฟืน รวมประมาณ 180 คน
 

 
นายศราวุธ ชูชื่น ผู้ใหญ่บ้านช่องฟืน กล่าวรายงานแนะนำการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกผักสวนครัว รวมถึงการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมของคนในชุมชนบ้านช่องฟืน จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เดินทางมาเยี่ยมชมกิจกรรมของแพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน โดยนายอุสัน แหละหีม นายกนายกสมาคมชาวประมงอำเภอปากพะยูน ได้อธิบายถึงการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำโดยชาวประมงตกลง และดูแลกันเองมาเป็นเวลาหลายสิบปี ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงจำกัดการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยการกำหนดระยะห่างจากฝั่ง กำหนดฤดูกาลในการใช้เครื่องมือประมงแต่ละชนิด เช่น ห้ามใช้เครื่องมือประมงที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 5 เซนติเมตร ยกเว้นฤดูกุ้งหัวมัน ชาวประมงสามารถใช้ไซนั่งตาอวนขนาด 1.8-2.0 เซนติเมตรได้ เพื่อจับกุ้งหัวมันในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมถึงธันวาคมเท่านั้น เป็นต้น

น.ส.ฉ่าผ๊ะ หมัดทองใหม่ กรรมการแพปลาชุมชน ชี้แจงว่า ทางแพปลาจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยควบคุมกติกาดังกล่าว โดยหากชาวประมงนำสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ได้จากการจับโดยละเมิดกติกาชุมชนมาขายทางแพปลาก็จะไม่รับซื้อ และได้ยื่นหนังสือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงช่วยแก้ปัญหาการออกประกาศห้ามใช้ไซนอนจับกุ้งก้ามกราม และไซนั่งจับกุ้งหัวมันอีกด้วย
 

 
โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่า เครื่องมือดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยไซนั่งเป็นเครื่องมือใช้จับกุ้งหัวมันที่มีขนาดประมาณ 80-100 ตัวต่อกิโลกรัม ยิ่งไปกว่านั้นไซกุ้งก้ามกราม จับกุ้งก้ามกรามได้ขนาดใหญ่สุดถึง 2 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นการทำประมงที่จับสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และตัวเล็กสุดขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัม รวมทั้งจับปลามิหลัง (ปลาดุกทะเล) ขนาดประมาณ 3 ตัวต่อกิโลกรัม โดยเครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดจับสัตว์นำอื่นติดมาด้วยน้อยมาก สัตว์น้ำชนิดอื่นที่จับได้ก็เป็นสัตว์น้ำที่เติบโตได้ขนาดแล้ว เครื่องมือประมงทั้ง 2 ชนิดจึงเป็นเครื่องมือที่จับได้สัตว์น้ำขนาดใหญ่ ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ไม่สมควรประกาศเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย และทำลายล้าง

ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง รับปากว่าจะช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาการห้ามเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดนี้ และชื่นชมในความพยายามดูแลอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาของชาวประมงบ้านช่องฟืน โดยทางแพปลาชุมชนบ้านช่องฟืนยังได้นำผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปสัตว์น้ำที่จับด้วยเครื่องมือประมงที่กล่าวถึง เช่น กุ้งแห้ง และมันกุ้ง เป็นของที่ระลึกแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น