xs
xsm
sm
md
lg

สารจากชาวพม่าถึงนายทุนไทย “โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่สิ่งจำเป็น”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  จารยา  บุญมาก  โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารชุมชนข้ามแดน
 
นับตั้งแต่การลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด” ขนาด 2,640 เมกะวัตต์ ประเทศพม่า โดย “บริษัทราชบุรีโฮงดิ้ง (RATCH) ของไทย” ที่ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมวางแผนพลังงานน้ำของพม่า (Department of Hydropower Planning ) กระทรวงไฟฟ้าพม่า เมื่อตุลาคม 2007 ข่าวคราวเกี่ยวกับโรงไฟฟ้ามะริดค่อยๆ จางหายไปจากสังคมไทยระยะหนึ่ง โดยเฉพาะข้อมูลจากฝ่ายชุมชนที่อาจถูกเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
 
ล่าสุด “โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อชุมชนข้ามแดน” จึงได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโรงไฟฟ้า ณ หมู่บ้านมาว ชอว์ง (Mwae Shawng) เมืองมะริด พร้อมกับสื่อไทย และสื่อพม่าอีกหลายสำนักในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดภาพ และเสียงของชาวบ้านให้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง
 
ตลอดการเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน ทัศนียภาพเต็มไปด้วยฉากหลังเป็นทิวเขา ฉากหน้าเป็นท้องทุ่งนา คือเสน่ห์ที่ชัดเจนของมะริด ระหว่างการเดินทางมีฝนโปรยตลอดทั้งวัน ทำให้คณะต้องจอดรถไว้ริมทางห่างจากชุมชนราว 3 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าเข้าไป ทันทีที่เดินทางถึงชุมชน เราพบป้ายข้อความไม่เอาถ่านหิน และคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน (เป็นภาษาท้องถิ่น) หลายจุด

 
จากการสอบถามนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ทราบว่า ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตื่นตัวต่อการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าในอนาคต และมีปฏิกิริยาต่อต้านมาโดยตลอด โดยพยายามสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกัน 25 หมู่บ้านในเมืองมะริด เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ชาวบ้านจากหมู่บ้านมาว ชอว์ง และทู เบียว (Tone Byew) กว่า 50 คนเข้ามาพบปะกับคณะสื่อ พวกเขาต่างคนต่างต้องการจะสื่อสารความในใจออกมาให้คนนอกรับรู้ถึงความกังวลที่มะริดจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ประเทศไทย หนึ่งในนั้นมี “จอง พู” ตัวแทนชาวบ้านที่รู้สึกกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมาก
 
เขายอมรับว่า ครั้งแรกที่มีสื่อไทยเข้ามาในพื้นที่ชาวบ้านหลายคนเข้าใจว่าเป็นตัวแทนบริษัทเข้ามาสำรวจ และเก็บข้อมูล บ้างเข้าใจว่าเป็นคณะสื่อที่มาทำข่าวให้บริษัทเอกชน และรัฐบาลไทย ชาวบ้านจึงกล้าๆ กลัวๆ ในการให้ข้อมูล แต่เมื่อคณะอธิบายเหตุผลในการลงพื้นที่ ชาวบ้านจึงลดความระแวงลง
 
“เราไม่รู้จริงๆ ว่าความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าคืออะไร แต่ตอนนี้บ้านเราไม่มีไฟฟ้า เราก็ยังใช้ชีวิตปกติได้ มีน้ำ มีนา มีปลา มีรายได้เข้ามาในหมู่บ้าน เราพอใจแล้ว วันนี้เราได้พูดกับพวกคุณ เราอยากให้รู้ว่าพวกเราหลายคนเคยไปทำงานในประเทศไทย และบางพื้นที่ของพม่าที่ติดชายแดนไทย เช่น ทวาย เกาะสอง เราเห็นความสกปรกของแม่น้ำที่เกิดจากโรงงานต่างๆ มากมาย เรารู้สึกกลัวจะติดเชื้อโรค เราไม่มีเงินค่ารักษาโรคแน่ๆ ถ้าเราป่วยขึ้นมา...” 
 
“ฝากถามบริษัทไทยด้วยว่า ทำไมต้องมาสร้างโรงไฟฟ้าในบ้านเรา โดยไม่ถามเราสักนิด เวทีเล็กๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลก็จัดไกลเกินกว่าเราจะเดินทางไปได้ เราเพิ่งรู้ข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง (ปี 2014) เราไม่มีเวลาเตรียมตัวอะไรเลยสักนิด แต่บริษัทไทยก็เข้ามาสำรวจแม่น้ำตะนาวศรีหลายครั้ง พอชาวบ้านรู้ตัว เราก็ขึ้นป้ายต่อต้านให้ชัดๆ ไปเลยว่า เราไม่เอาโรงไฟฟ้า” จอง พู ระบายความในใจ
 

 
เสร็จจากวงคุยเล็กๆ ชาวบ้านทั้ง 50 คน พาเราเดินไปยังแม่น้ำตะนาวศรี ที่มีท่าเรือเล็กๆ ของชุมชนตั้งอยู่ “เมียว ซู” ชาวประมงหนุ่มให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบริเวณแม่น้ำแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่ชาวมะริดอาศัยมาช้านาน แต่น้ำจะต้องเปลี่ยนไปเป็นสีดำ เทา กุ้ง ปลา และสัตว์น้ำอื่นคงต้องตายเกลื่อนหากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น
 
“ที่บ้านผมมีเครื่องมือหาสัตว์น้ำหลายชนิด ตอนนี้มีชาวบ้านหลายคนวางลอบดักกุ้งในแม่น้ำตะนาวศรี เป็นลอบของใครของมัน วางไว้เป็นวันกุ้งที่จับได้ก็อยู่ที่เดิม ไม่มีใครขโมย ความเคารพสิทธิในการหากินระหว่างกันทำให้ชุมชนอยู่อย่างมีความสุข และพอเพียง กุ้ง และปลาที่หาได้ชาวบ้านจะเอาไปขายที่ตลาดในเมืองมะริด รายได้ก็มีตั้งแต่วันละ 200-300 บาท ถ้าหาได้น้อยก็เก็บไว้กินเอง” เมียว ซู อธิบายถึงชีวิตที่เรียบง่าย
 
“ทุน จี” ชาวนามะริดที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรรม กล่าวถึงอุดมการณ์คนท้องถิ่นว่า ในการต่อสู้ของชาวบ้านจะไม่มีจุดจบด้วยการยอมให้บริษัทเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าง่ายๆ แม้ว่าบริษัทจะพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่า จะทำให้คนมะริดใช้ไฟฟ้าถูกก็ตาม แต่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการชีวิตเช่นนั้น
 
“คุณเห็นท้องนาเขียวๆ นี่ไหม คุณก็กินข้าว ผมก็กินข้าว ที่นาผมมีประมาณ 20 ไร่ พ่อกับแม่ให้มา ผมก็ตั้งใจจะให้ลูกๆ ครอบครองที่นาต่อไปเช่นกัน เพราะเราไม่อยากให้ลูกหลานจากบ้านไปทำงานที่อื่น เราทำนาไว้กินไม่ได้เอาไปขายเก็งกำไรกับใคร อย่างมากก็ขายข้าวสร้างรายได้เผื่อใช้จ่ายบางอย่างที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ฟุ่มเฟือย มันชัดเจนว่าเราช่วยตัวเองได้...”
 
“ผมยังแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลพม่าไม่คิดเหมือนกัน ทำไมเขาไม่ดีใจที่ประชาชนยืนได้ด้วยตัวเอง แต่กลับคิดจะเอาโรงไฟฟ้ามาทำร้ายคนในประเทศตนเอง มันเป็นความเห็นแก่ตัวนะ” ทุน จี ทิ้งท้าย 
 

 
ด้วยชุมชน มาว ชอว์ง เป็นชุมชนที่จัดว่าไกลปืนเที่ยง ไม่มีไฟฟ้า และยากต่อการเข้าถึงข่าวสารจากส่วนกลาง ทำให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลช้า นักศึกษากลุ่ม 88 เขตมะริด (อดีตกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองในพม่า และกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน) จึงได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมข้อมูลให้ชาวบ้านรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และรณรงค์คัดค้านเสมอมา
 
“โก เมียท” ตัวแทนกลุ่ม 88 อธิบายว่า มะริด เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเศรษฐกิจชุมชนอยู่ได้เพราะสังคมเกษตร ดังนั้น หากสร้างโรงไฟฟ้า ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม อีกครั้งรัฐบาลพม่าไม่ควรรีบร้อนในการเร่งรัดการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ กฎหมายสิ่งแวดล้อมของพม่ายังไม่เข้มแข็งพอ หากเกิดความผิดพลาดแล้วถามหาความรับผิดชอบหลังจากการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็จะยากตามไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ
 
“ข่าวลือที่ว่าจะย้ายชาวบ้านออกแล้วจ่ายค่าชดเชยให้นั้นใช้ไม่ได้แล้ว เพราะชาวบ้านหลายพื้นที่มีประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการยึดคืนที่ดินของรัฐเพื่อการลงทุนระดับชาติในอดีตนั้นมีหลายคนไม่ได้รับค่าชดเชย ชาวบ้านจึงไม่เชื่อใจรัฐบาลอีกแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่น่ากังวลคือ หากโรงไฟฟ้ามะริดเกิดขึ้น โอกาสเกิดภาวการณ์แย่งน้ำในมะริดจะสูงขึ้นด้วย รัฐบาลจึงควรยกเลิกโครงการส่วนทุนไทยก็ควรถอนตัวได้แล้ว” โก เมียท กล่าว 
 

 
สำหรับ “ออง นาย อู” ตัวแทนนักศึกษากลุ่ม 88 เขตตะนาวศรี เสริมข้อมูลว่า ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามะริด ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้กันน้อยมาก ทั้งๆ ที่ผลกระทบมีประมาณ 25 หมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านที่ต้องย้ายออกแน่ๆ ประมาณ 5 หมู่บ้าน รอบแม่น้ำตะนาวศรี และเขตเทือกเขาที่เป็นศูนย์กลางการสร้างโรงไฟฟ้า ได้แก่ 1.บ้านมาวชอว์ง (Mwae Shawng) 2.บ้านทูเบียว (Tone Byaew)  3.บ้านซานเซิท (San set) 4.บ้านแวริท (War rit) และ 5.บ้านดบี โกน (Thapya gone) ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้เป็นหมู่บ้านที่มีการต่อสู้ และเคลื่อนไหวมาต่อเนื่อง มีทั้งการติดป้ายรณรงค์ เดินขบวนต่อต้าน และการกระจายข้อมูลสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อให้รับรู้ถึงพิษภัยของถ่านหินมาตลอด
 
นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษา 88 ยังพยายามจะเสนอให้ทูตไทยในพม่า สื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาแล้ว แต่ก็ยังเงียบอยู่ โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ว่าอนาคตแผนการดำเนินการของบริษัทจะเป็นอย่างไร ที่รู้คือกระบวนการแรกบริษัทพยายามจะไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านยอมรับในโครงการ และมีการส่งคนเข้ามาสำรวจหลายครั้ง ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังคนแปลกหน้าเสมอ
 
“จุดก่อนของการเกิดโครงการโรงไฟฟ้าในพม่าคือ กฎหมายสิ่งแวดล้อมของพม่ายังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่ทั่วโลกนั้นกังวลต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และห่วงเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาก แต่คณะกรรมการกิจการลงทุนของพม่ายังคงทำงานโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ...”
 
“นอกจากนี้ ยังพบว่าช่องกฎหมายหลายอย่างด้านทรัพยากรธรรมชาติสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เช่น กฎหมายเหมืองแร่ กฎหมายป่าไม้ ยังไม่เคยมีจุดเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน ทั้งๆ ที่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวกับทรัพยากรของประเทศทั้งสิ้น...”
 

 
“อีกอย่างหนึ่งคือ ขณะนี้ภาคตะนาวศรีมีค่าไฟฟ้าแพงมากที่สุดในประเทศ อยู่ระหว่างหน่วยละ 300-1,000 จ๊าด ขณะที่ราคาไฟฟ้าในเมืองแค่หน่วยละ 25-40 จ๊าดเท่านั้น แม้บริษัทจะพยายามชี้นำว่า ถ้ามีโรงไฟฟ้าแล้วคนมะริดจะใช้ไฟถูก ก็ไม่มีใครเชื่อง่ายๆ เพราะตามข้อมูลทางวิชาการที่ได้รวบรวมมาพบว่า มะริดใช้ไฟฟ้าอย่างมากก็แค่ 50 เมกะวัตต์เท่านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามากถึง 2,000 เมกะวัตต์...”
 
“ดังนั้น ไฟฟ้าที่ได้มาส่งขายไทยแทบทั้งหมด อีกทั้งต้องแลกต่อหลายชีวิตในมะริด ดูแล้วยังไงก็ไม่คุ้มค่า” ออง นาย อธิบาย 
 
เขาย้ำด้วยว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยเห็นใจเกษตรกรพม่าบ้าง และควรเจรจากับรัฐบาลพม่าด้วยว่า ยังมีแก๊สธรรมชาติ และพลังงานทางเลือกอีกมากมายเพื่อนำมาใช้ โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแผนพัฒนาเก่าไปแล้ว ส่วนตัวต้องการให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนที่พึ่งพาธรรมชาติบ้าง
 
โดยที่ผ่านมา ตนเคยลงพื้นที่สำรวจ “มาบตาพุด” ของไทยมาแล้ว เห็นผลชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมในเมืองมาบตามุดนั้นไม่ได้น่าอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลถอดบทเรียนจากโรงงานส่วนนั้น แล้วเอามาเปรียบเทียบดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น หมายถึงการตายของแม่น้ำ และแหล่งเกษตรกรรม 
 

 
“ซอ โม อู” นักข่าวจากสำนัก Daily Eleven วิเคราะห์ว่า ขณะนี้สื่อกระแสหลักในพม่าที่สนับสนุนรัฐบาล พยายามให้ข่าวอีกแง่มุมหนึ่งของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมะริด โดยพยายามกล่าวถึงความจำเป็นในการมีโรงไฟฟ้า เพื่อลดราคาค่าไฟในภาคตะนาวศรี แต่คนท้องถิ่นก็ไม่ได้เชื่อข้อมูลจากสื่อฝ่ายรัฐทั้งหมด
 
โดยส่วนตัวมองว่า ภายหลังจากเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองบริหารประเทศ อาจเป็นไปได้ว่าโอกาสในยกเลิกโรงไฟฟ้ามีมากกว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน อีกทั้งการพัฒนากรอบการทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น หากฝ่ายการเมืองต้องการเสียงภาคประชาชนเพิ่มเติม อาจจะยอมรับข้อเสนอของนักพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงกฎหมายหลายๆ ฉบับทั้งกฎหมายการลงทุน กฎหมายทรัพยากรต่างๆ
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น