เรื่อง/ภาพ : อริสา สีรัตน์, มารีหยาม มุเส็มสะเดา, ชเนตตี ศรีบุญนาค, จักรพงศ์ คงเพ็ง, เจนณรงค์ พินลานทุ่ม
“นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”
คำขวัญ จ.สงขลา ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างเป็นด้านหน้า ทั้งหมดที่อยู่นำขวัญนี้ล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับใครที่มาเยี่ยมเยือนสงขลาไม่ควรพลาด
สำหรับ “สวรรค์แดนใต้” ที่อยากจะพาทุกท่านไป “เที่ยวท่องล่องใต้” ครานี้ แม้คำขวัญของ จ.สงขลา จะไม่ระบุไว้โดยตรง แต่ก็เกี่ยวเนื่องไปในแทบจะทุกสิ่งที่กล่าวไว้
แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้แม้จะมีนกน้ำให้เพลินตาไม่มากมายนัก ขณะที่ไปเยือนห้องรับแขกภาคใต้ที่หาดสมิหลาแล้ว สามารถข้ามผ่านผืนแผ่นน้ำเล็กๆ อันเป็นปากทางเชื่อมต่อของสองทะเลคือ ทะเลอ่าวไทย กับทะเลสาบสงขลา เพื่อมาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ได้แบบง่ายๆ ด้วยการข้ามแพขนานยนต์สู่ อ.สิงหนคร แล้วมาข้ามสะพานป๋า หรือสะพานติณสูลานนท์ ในช่วงที่ 2 หรืออาจจะอ้อมนิดจาก อ.เมืองสงขลา ไปตามเส้นทางสู่ห้าแยกเกาะยอ แล้วเลี้ยงมุ่งหน้าสู่เกาะผ่านสู่สะพานติณสูลานนท์ ช่วงที่ 1 เมื่อมาถึงแล้วก็มีแหล่งสินค้า โดยเฉพาะของพื้นบ้านพื้นเมืองให้จับจ่ายใช้สอยติดไม้ติดมือไปเป็นของฝากมากมาย
แหล่งท่องเที่ยวที่เรากำลังพูดถึงก็คือ “เกาะยอ”
ผืนแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ มากมายไปด้วยเนินเขาสูงต่ำลดหลั่นกันไป แล้วเทลงเป็นพื้นราบสู่ชายฝั่ง มีขนาดของพื้นดินประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,275 ไร่ เป็นตำบลหนึ่งของ อ.เมืองสงขลา ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ใกล้กับปากทางที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย
นอกจากสภาพความเป็นเกาะที่น่าตราตรึงแล้ว ที่นี่ยังมากมายไปด้วยหลากสิ่งหลายอย่างที่มีมนต์ขลัง ซึ่งรอเชิญชวนให้ทุกคนได้ไปสัมผัส หากต้องการพักผ่อนหย่อนใจก็มีสถานที่พักแรมของชาวประมงพื้นบ้านกลางทะเลสาบรองรับอยู่หลายแห่ง
แต่ครั้งนี้เราลองมาสัมผัสเกาะยอแบบ “วันเดย์ทริป” หรือภายในวันเดียวก็เที่ยวได้แบบฉ่ำใจ
เราควรเดินทางเข้าสู่เกาะยอช่วงเช้าตรู่ ซึ่งจะได้มีโอกาสหยอกล้อกับสายหมอก และลมเย็น จากนั้นมุ่งหน้าไปบริเวณ “ตลาดเกาะยอ” ซึ่งก็อยู่บนเส้นทางหลัก เพื่อไปแวะมาฝากท้องมื้อเช้ากับ “ร้านข้าวยำใบยอป้าหนู”ที่สุดแสนจะขึ้นชื่อลือชาในเรื่องรสชาติเฉพาะถิ่น โดยมีใบยอเป็นส่วนประกอบหลัก และถือเป็นพระเอกของจานนี้เลย
ด้วยคุณประโยชน์ของ “ใบยอ” ที่มีมากมาย สามารถแก้แผลพุพอง รักษาอาการปวดศีรษะ หรือแก้ไข้ได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ใบยอเท่านั้นที่มีประโยชน์ ผักต่างๆ ที่ใส่ลงในข้าวยำล้วนมากมายสรรพคุณทางสมุนไพร และที่สำคัญพืชผักของร้านนี้ปลอดสารพิษเสียด้วย ส่วนเรื่องรสชาติก็อร่อยกลมกล่อมได้ส่วนผสมที่เข้ากันอย่างลงตัว เช่น “น้ำบูดู” “ข้าวยำ” “มะพร้าวคั่ว” “หมี่วุ้นผัด” ฯลฯ เสิร์ฟ “ไข่ไก่ต้ม” สักฟอง หรือหลายๆ ฟองก็ได้ มื้อนี้อิ่มสุดคุ้มเพราะเริ่มต้นแค่ 25 บาทเท่านั้นเอง
อิ่มมื้อเช้ากันแล้วก็ต่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์บนยอดเขาสูงที่สุดบนเกาะแห่งนี้คือ “วัดเขากุฏิ” วัดโบร่ำโบราณมากมายไปด้วยเป็นโบราณสถานที่ก่อสร้างมาแล้วนับร้อยๆ ปี เป็นที่ประดิษฐาน “สมเด็จเจ้าเกาะยอ” ปัจจุบัน ทางวัดเขากุฏิมีการพัฒนาทำให้ภายในบริเวณมีความสวยงามร่มรื่น อีกทั้งยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆ เกาะยอได้สวยงามขัดเจน จึงไม่แปลกใจเลยที่นักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ โดเฉพาะชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ต่างหลั่งไหลขึ้นเขาไปเยี่ยมชม และสักการะสมเด็จเจ้าเกาะยอจำนวนมากมาย
จากนั้นต่อไปเยี่ยมชมอีกวัดที่มากมายประวัติศาสตร์ไม่แพ้กันคือ “วัดท้ายยอ” เป็นวัดที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมอันล้ำค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา” อายุกว่า 200 ปี หลังคาใช้กระเบื้องดินเผาแบบพื้นถิ่นที่เรียกว่า “กระเบื้องเกาะยอ” อันเป็นลอนเก่าๆ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสาเรือนของกุฏิที่นี่จะไม่ฝังลงในดิน แต่จะตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งก็เป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้น
บริเวณหน้าวัดท้ายยอ มองเห็นวิวทะเลได้กว้างขวาง และชัดเจน ทำบุญแล้วยังได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมล้ำค่า และเสพธรรมชาติบริสุทธิ์ไปพร้อมกัน ช่างเปี่ยมสุขแท้จริง
ข้างๆ วัดท้ายยอ เมื่อขับรถออกไปทางเรียบริมทะเลจะมองเห็น “โฮมสเตย์” ที่ตระหง่านอยู่กลางน้ำในทะเลสาบเรียงราย เป็นที่สำหรับพักผ่อนชิลๆ กับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนฝูงก็ไม่ว่ากัน ได้บรรยากาศเหมือน “ปาร์ตี้กลางน้ำ” ร้องเพลงคาราโอเกะได้ในเวลาที่เหมาะควร โดยไม่มีใครรบกวน สถานที่พักแรกเหล่านี้มีข้าวของเครื่องใช้อำนวยสะดวกอย่างครบครันแทบไม่ต่างจากโรงแรม หรือบ้านตัวเอง
เมื่อได้เวลามื้อเที่ยงเราไปแวะซื้อ “สาหร่ายทะเลยำ” พร้อมทานเป็นอาหารกลางวันกัน ยำสาหร่ายทะเลของเกาะยอเป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนใคร เสิร์ฟพร้อม “ใบชะพลู” และ “พริกสด” ทานคู่กันด้วยการตักยำสาหร่ายใส่ในใบชะพลูที่ทำเป็นกรวยรองไว้ แล้วเด็ดพริกสดใส่ด้านบน หอใบชะพลูพร้อมใส่เข้าปาก
เวลาเคี้ยวยำสาหร่ายทะเลเกาะยอได้อารมณ์ประมาณรสชาติเมี่ยงคำ แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว ได้ความกรอบๆ และหนืดๆ จากสาหร่าย อร่อยจนหลายคนต้องมีกล่องที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ตามได้เรื่อยๆ ยิ่งรับประทานกันหลายๆ คนรับรองสนุกนัก ยำสาหร่ายทะเลที่นี่ก็ไม่แพงเลย แค่กล่องละ 20 บาท มีขายแทบตลอดเส้นทาง
ผ่านมื้อกลางวันแบบเบาๆ แล้วเราก็ไปทำความรู้จักกับ “พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” ซึ่งตั้งอยู่ภายใน “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” ซึ่งสถานที่แห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มหาวิทยาลัยทักษิณ”
ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวบนเกาะยอ ภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนภาคใต้ โดยถูกนำไปจัดแสดงให้แขกไปใครมาเยี่ยมเยือนสงขลาได้รู้จักความเป็นมาของคนปักษ์ใต้มากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว ภายในบริเวณสถาบันทักษิณคดีศึกษาแห่งนี้ยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็น “จุดชมวิว” ชนิดที่มองได้รอบตัวแบบ 360 องศา สามารถมองเห็นทะเลสาบสงขลา ซึ่งละลานตาไปด้วยเครื่องมือประมง และเรือประมงบนผืนน้ำที่หยอกล้อแดดอยู่ระยิบระยับ มองเห็นแผ่นดินเกาะยอ สะพานติณสูลานนท์ ฝั่งแผ่นดินใหญ่ทั้งเขต อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร ไกลลิบๆ เป็นทิวเทือกเบื้องหน้าโน้นคือดินแดน จ.พัทลุง
“ภาพถ่าย” และอาจจะรวมเลยถึง “ภาพวาด” อันถือเป็นสัญลักษณ์ของ “ทะเลสาบสงขลา” หรือ “สะพานติณสูลานนท์” ที่เป็นที่ชื่นชอบจำนวนมากมายเกิดจากที่นี่
ไปเที่ยวเกาะยอแล้ว สิ่งที่ห้ามพลาดที่ควรจะต้องซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน หรือนำไปฝากใครต่อใครก็ได้คือ “ผลิตภัณฑ์เกาะยอ” ซึ่งหาซื้อได้ที่บริเวณ “ตลาดเกาะยอ” ที่นี่ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าคุณภาพ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา หรือบรรดาอาหารทะเลแห้ง หรือผ่านกระบวนการถนอมอาหารหลากหายรูปแบบ ผลผลิตทางเกษตร โดยเฉพาะงานหัตถกรรมฝีมือแม่บ้านชาวเกาะยอทั้งจักสาน เสื้อผ้า
แต่ที่ต้องนับเป็นสินค้าดัง และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่คือ “ผ้าทอเกาะยอ” โดยเฉพาะลาย “ราชวัตถ์”ลวดลายที่ “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้พระราชทานชื่อลายผ้าดังกล่าวไว้ให้
ช่วงบ่ายๆ สามารถไปแวะสักการบูชา “พระนอนองค์ใหญ่” พระปฏิมาที่รูปลักษณ์สะดุดตา ณ “วัดแหลมพ้อ”สามารถมองเห็นความงดงามสง่าราศีขององค์พระได้เด่นชัดมาแต่ไกล ซึ่งเป็น “พระพุทธรูปปางปรินิพพาน” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระบาทมีลวดลายภาพศิลปะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2537 ประดิษฐานบนฐานที่ไม่สูงนัก
ทั้งนี้ เนื่องด้วยที่ตั้งวัดอยู่ใกล้ถนนเชิงสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่ 1 จึงทำให้เป็นสิ่งที่สะดุดตาของผู้ที่ขับรถผ่านไปมา เพื่อความเป็นสิริมงคลแวะสักการะสักนิด วัดแหลมพ้อแห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี และมีประติมากรรมที่ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาชมความเป็นเอกลักษณ์ของทางวัด
ก่อนออกจากเกาะกลับสู่แผ่นดินใหญ่ หากใครยังมีเวลา หรือไม่เร่งรีบอะไรนัก อาหารเย็นย่ำค่ำสนธยาบนเกาะยอก็มีให้เลือกได้หลากหลายร้าน และแต่ละร้านล้วนมีชื่อ และโด่งดังเรื่องรสชาติของอาหารทะเลแบบไม่แพ้กัน มีทั้งด้านในเกาะ หลังเกาะ ข้างเกาะ และโดยเฉพาะเส้นทางหลักหน้าเกาะมีเรียงราย หากเลือกร้านไม่ถูกลองถามคนสงขลาก็น่าจะเลือกสรรกันได้
ลิ้มลองรสชาติอาหารทะเลสุดแสนอร่อยไป สัมผัสคลื่นลมของ 2 ทะเลทั้งทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลาไป ชื่นชมกำซาบบรรยากาศพระอาทิตย์ตกน้ำ ตกดิน หรือตกลงกลางสะพานติณสูลานนท์ไป นี่จึงเป็นการปิดท้ายทริปเกาะยอที่ต้องนับว่าสุดยอดไม่น้อยเลย
อ้อ...สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ “เกาะยอ” ก็มีคำขวัญเป็นของตัวเองเช่นกัน...
“สมเด็จเจ้าเป็นศรี ผ้าทอดีล้ำค่า นานาผลไม้หวาน ถิ่นอาหารทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ สถาบันทักษิณลือนาม งดงามเรือนทรงไทย”