xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงชุมพรยื่นหนังสือค้านวันหยุดทำประมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - ชาวประมงจังหวัดชุมพร ยื่นหนังสือคัดค้านให้ทบทวนมติการกำหนดวันหยุดการทำประมงเดือนละ 5-9 วัน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (Port in - Port out) หรือ pipo แก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตำบลปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร กลุ่มชาวประมงจาก 3 สมาคมชาวประมงในจังหวัดชุมพร กว่า 200 คน นำโดย นายพิศาล ศันติวิชยะ นายกสมาคมประมงปากน้ำชุมพร เข้ายื่นหนังสือผ่าน น.อ.บัณฑิตย์ ชื่นอิ่ม หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง เพื่อส่งต่อให้แก่ พล.ร.อ.ไกสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. กรณีมีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 58 ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน ที่ให้กำหนดวันหยุดทำการประมงอวนล้อมจับฝั่งอ่าวไทย ระบุทุกวันที่ 1-3 / 11-13 และวันที่ 21-23 รวม 9 วันของทุกเดือน และกำหนดวันหยุดทำการประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย ในวันที่ 1-3 และ 11-12 รวม 5 วันของทุกเดือน โดยเริ่มดำเนินการในช่วงแรกตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 58 เป็นต้นไป

โดยชาวประมงในจังหวัดชุมพร มองว่า มติข้อกำหนดดังกล่าวนั้นสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำประมงนั้นในแต่ละเดือนเรือจะหยุดทำประมงในช่วงเดือนหงายอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า “หยุดหงาย” เรือจะต้องจอดไม่ต่ำกว่า 7 วัน และมีเจอกรณีกำหนดวันหยุดในแต่ละเดือนของมติ ศปมผ.เข้ามาอีก ที่ให้หยุดทำประมงอีก 9 วันต่อเดือน ดังนั้น ชาวประมงทำประมงจะจับปลาได้จริงเพียง 13 วันเท่านั้น ซึ่งสวนทางต่อความเป็นจริงที่ชาวประมงต้องแบกภาระในการใช้ค่าจ่ายที่มีทุนสูงในแต่ละเดือน ไม่ว่าน้ำมัน ค่าแรง คำบำรุงรักษาและอื่นๆ

ชาวประมงยังบอกอีกว่า ในแต่ละปีในฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร จะมีช่วงฤดูปิดอ่าวให้สัตว์น้ำวางไข่เลี้ยงตัวอ่อนเป็นเวลา 3 เดือน โดยครอบคลุมทะเลอ่าวไทยในพื้นที่จังหวัดชุมพรทั้งหมด ซึ่งผิดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ที่ประกาศปิดฤดูปิดอ่าวเป็นเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ทำให้ชาวประมงในจังหวัดชุมพร จะต้องนำเรือออกไปนอกเขตที่กฎหมายกำหนดซึ่งไกลหลายไมล์ทะเล และมีทุนสูงใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับมีกฏหมายกำหนดให้เรือประมงต้องออกทำการประมงห่างจากฝั่ง 6 ไมล์ทะเล และห่างจากเกาะ 1.62 ไมล์ทะเล ทำให้เรือประมงขนาด 10-30 ตันกรอส ซึ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็กทุกประเภทเครื่องมือในจังหวัดไม่สามารถทำการประมงได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ทางทะเลมีเกาะต่างๆ มากที่สุดในฝั่งอ่าวไทย จึงไม่เห็นด้วยที่ ศปมผ. มีมติดังกล่าวออกมา

 
 





กำลังโหลดความคิดเห็น