เรื่อง/ภาพ : อริสา สีรัตน์, มารีหยาม มุเส็มสะเดา, ชเนตตี ศรีบุญนาค, จักรพงศ์ คงเพ็ง, เจนณรงค์ พินลานทุ่ม
นอกจาก “หาดสมิหลา” ที่ทำหน้าที่เป็น “ห้องรับแขกภาคใต้” ชนิดกระฉ่อนชื่อคู่บ้านคู่เมืองมานมนามแล้ว “เมืองสงขลา” ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยี่ยมเยือนอย่างไม่น่าจะรู้จักเบื่อ เพราะเมืองเก่าอายุอานามนับร้อยปีมากเสน่ห์แห่งนี้มีอะไรๆ ให้ตื่นตาได้ตลอดทั้งปี
“เขาตังกวน” คืออีกหนึ่งสถานที่มากมนต์ขลังคู่เมืองสงขลามาตั้งแต่โบราณกาล เป็นภูเขาเสียดยอดสูงสุดที่ตั้งอยู่ใน “เขตเทศบาลนครสงขลา” อ.เมือง จ.สงขลา ปัจจุบัน ขึ้นไปชมตัวเมืองในมุมมองของ “สายตาเหยี่ยว” ได้อย่างงายดาย ด้วยมีสถานีลิฟต์ขึ้นเขารอให้บริการ
แต่หากยังพิสมัยชื่นชอบการใช้ชีวิตแบบช้าๆ ก็สามารถเดินขึ้นทาง “บันไดนาคโบราณ” สร้างในสมัย ร.5 ที่รายรอบไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ อันเป็นบันไดเดียวกับให้พระภิกษุก้าวลงจากสวรรค์หลังออกพรรษาในประเพณีตักบาตรเทโวที่ถูกจัดขึ้นทุกๆ ปี
การเดินทางไปเยือนก็แทบไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อเข้าเขตนครสงขลา ก็จะเห็นเขาตังกวนตระหง่านตระการตา เมื่อเวียนวนแวะไปรับกลิ่นอายทะเลที่บริเวณหาดสมิหลาแล้ว ระหว่างทางสู่ “แหลมสน-สวนสองทะเล” สามารถแวบไปยังสถานีลิฟต์ขึ้นเขาได้แบบหาไม่ยากเย็นอะไร
เมื่อก้าวลงจากรถก็จะจ๊ะเอ๋กับบรรดา “เจ้าจ๋อ” หรือ “ลิงแสม” ฝูงใหญ่ และเป็นขาใหญ่เจ้าถิ่นที่จะลงเขามาคอยต้อนรับ อยากให้อาหารก็มีร้านรวงชาวบ้านให้บริการ ทั้งกล้วย หรือถั่ว บางตัวสัมผัสจับมือได้ หรือไม่ก็ทำตาบ้องแบ๊วน่าเอ็นดูมาสะกิดขออาหารเอง ดึงกางเกง หรือกระโปรงบ้าง ซึ่งก็ต้องระวังให้เด็กๆ อยู่ในสายตา และข้าวของจะถูกฉกชิง
ก่อนหรือหลังให้อาหารลิงบริเวณหน้าสถานีลิฟต์ขึ้นเขาตังกวน มีอาหารคนที่ต้องแนะนำว่าน่าลิ้มลองคือ “ไอศกรีมกะทิมะพร้าวอ่อน” ที่จะตักใส่ให้เห็นในกะลามะพร้าวอ่อนสดๆ ที่เนื้อถูกนำไปผสมในไอศกรีมแล้ว โดยเฉาะเฉือนเปลือกมะพร้าวไว้แบบสามารถหยิบจับได้สะดวกมือ แม้จะเป็นร้านแบบรถพ่วงข้างมอเตอร์ไซค์ แต่รสชาติไม่น้อยหน้าเหลา หรือภัตตาคารเชียวแหละ
แวะทักทายเจ้าถิ่นเสร็จสรรพ ชั่วพริบตาลิฟต์ก็จะพาขึ้นสู่ยอดเขาตังกวน สัมผัสแรกเมื่อโผล่พ้นประตูลิฟต์ก็คือ วิวทิวทัศน์ของท้องทะเลอ่าวไทยไกลสุดตา ใกล้ชายฝั่งเข้ามาคือ “เกาะแมว” ตามด้วย “เกาะหนู” ก่อนจะเป็นหาดทรายขาวทอดยาวเป็นแนวโค้งลับเหลี่ยมมุ่มของหาดสมิหลาตรงบริเวณรูปปั้นนางเงือก ใกล้ๆ กันมีอาคารโรงแรมบีพี สมิหลา บีช ผุดพรายแทรกตัวอยู่ในหมู่ทิวต้นสน
ก้าวออกจากตัวอาคารลิฟต์ก็จะพบ “ประภาคาร” สูงชะลูดโดดเด่น ทอดน่องต่อไปก็ก้าวขึ้นสู่ลานกว้างประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาตังกวน เริ่มจากนมัสการ “พระธาตุเจดีย์หลวง” อายุกว่า 700 ปี ว่ากันว่าสร้างเมื่อครั้งยังเป็นราชอาณาจักรนครศรีธรรมราช ทรงเจดีย์เป็นศิลปะสมัยทวารวดี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสงขลามาตั้งแต่ก่อร่างสร้างเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ช่วงเดือน ต.ค.ของทุกๆ ปีที่มีประเพณีลากพระ ก็จะมีพิธีเปลี่ยนผ้าห่มองค์พระธาตุเจดีย์รวมไปด้วย ถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัดทีเดียว
ต่อด้วยทักษิณาวรรต เพื่อไหว้สิ่งศักดิ์รอบๆ องค์พระธาตุเจดีย์ ประกอบด้วย พระพุทธรูป และรูปหล่อจำลองพระเกจิอาจารย์สำคัญๆ ของภาคใต้ เช่น พระพุทธชินราชจำลอง, หลวงปู่ทวด, สมเด็จพระพุฒาจารย์โต, พระปรมาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง, ตาหลวงเปรม วัดวิหารสูง จ.พัทลุง, พระสยามเทวาธิราช, พระพรหมสี่หน้า และ พระบรมรูป ร.5
จากนั้นตามด้วยพิธีกรรมที่เป็นสุดยอดนิยมของแทบทุกผู้คนคือ การตระเวนบันทึกภาพบนลานลดหลั่นกันไปตามมุมต่างๆ บนยอดเขาตั้งกวน ซึ่งมีให้เลือกสรรได้แบบ 360 องศา โดยเฉพาะภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่แทบจะจ่อปากทางเชื่อมระหว่าง “อ่าวไทย” กับ “ทะเลสาบสงขลา” จึงสามารถเลือกวิวทิวทัศน์ได้ทั้ง 2 ห้วงน้ำ อีกทั้งมองเห็น “เกาะยอ” ได้บางส่วน รวมถึง “หัวเขาแดง” และ “ท่าเรือนำลึกสงขลา” ที่ตั้งอยู่บนฟากฝั่งของ อ.สิงหนคร
แต่สำหรับตัวเมืองสงขลาที่ได้ฉายาว่า “เมืองสองทะเล” นั้น สายตาเหยี่ยวขณะเริงลมบนมองเห็นอย่างไร สายตาผู้คนที่ไปเยือนบนยอดเขาตังกวนเราก็สามารถเก็บภาพประทับใจได้ในแบบแทบไม่แตกต่าง
มีสิ่งที่น่าจะเป็นไฮไลต์สำหรับบรรดาคู่รักบนยอดเขาตังกวนด้วย นอกจากเก๊กท่าบันทึกภาพ “แผงหัวใจ” ที่วางอยู่ทั้ง 4 ทิศบนลานรอบล้อมองค์พระธาตุเจดีย์แล้ว ยังสามารถนำ “กุญแจรัก” ไปอธิษฐานไขแล้วล็อกบนแผงโลหะรูปหัวใจเบื้องหน้ารูปหล่อ “หลวงปู่ทวด” เพื่อให้เป็นสักขีพยานรักให้หวานชื่น ส่วนลูกกุญแจก็ให้โยนทิ้งลงหน้าผาในบริเวณนั้นเสียจะได้ช่วยล็อกชีวิตคู่ให้อยู่กันไปตราบนานเท่านาน
บนยอดเขาตังกวน ยังมีอีก 1 โบราณสถานสำคัญคือ “ศาลาพระวิหารแดง” หรือ “พลับพลาที่ประทับ” ทอดตัวหลบอยู่ในหมู่แมกไม้เบื้องต่ำจากลานประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ลงไม่มากนัก โดยมีบันได้ให้ทอดน่องขึ้น-ลงพอเหนื่อยนิดหน่อย
ตามประวัติระบุว่า สร้างในรัชกาลที่ 4 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมมลายู มาถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการ “พระธาตุเจดีย์หลวง” บนยอด “เขาตังกวน” จึงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารหลังนี้ต่อจนสำเร็จ แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้าง “บันไดนาค” ขึ้นจากพลับพลามายัง “พระธาตุเจดีย์หลวง” ซึ่งอีกด้านจากอาคารนี้ยังมีบันไดนาคให้สามารถเดินลงสู่ตัวเมืองสงขลาได้อีกด้วย
การมาท่องเที่ยว “เขาตังกวน” เป็นเรื่องไม่อยากเลย การเดินทางสะดวกมาก สามารถสอบถามผู้คนได้ทั้งเมือง หรือจะเลือกโดยสารรถตุ๊กตุ๊ก ก็แล้วแต่ สำหรับค่าบริการลิฟต์ขึ้น-ลงเด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท เปิดบริการตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เพิ่มเวลาเปิดเร็วขึ้นอีก 1 ชั่งโมง คือ 8โมงเช้า จนถึง 1 ทุ่ม สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงาน ททท.หาดใหญ่ (สงขลา-พัทลุง) 0-7423-1055 หรือเทศบาลนครสงขลา 0-7431-1015