xs
xsm
sm
md
lg

ส่อทุจริต! ชาวสงขลาเดินหน้าฟ้องผู้ว่าฯ อีกคดี หลังพบพิรุธเพียบ คก.ป้องกันกัดเซาะชายหาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(ขอบคุณภาพจากเฟชบุ๊ก  Sompratana Ritphring)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคประชาชนจังหวัดสงขลา เดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ หลังพบว่าส่อมีการทุจริตในหลายประเด็น พร้อมเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้องร้อง มีผู้มาลงชื่อคึกคัก ขณะที่นักวิชาการจับผิดมีการลดขนาดโครงสร้างที่ใช้ในโครงการในวงเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายเท่าเดิม

วันนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการฟ้องคดีของเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สงขลา ที่ร่วมกันฟ้องศาลปกครองสงขลา กรณี นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและพวกกระทำโครงการป้องกันการกัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการไต่สวนฉุกเฉิน และเดินเผชิญสืบในพื้นที่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 

 
นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า เนื่องจากตุลาการศาลปกครองสงขลาให้ทั้งสองฝ่ายรวบรวมหลักฐานไปยื่นต่อศาลเพิ่มเติมภายในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) และเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลปกครองได้ลงเดินเผชิญสืบ และพบว่าเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง จึงนัดให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องไปพบกันอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย

“แต่ทางเราผู้ฟ้องก็จะยื่นฟ้องอีกครั้งในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการส่อทุจริต และกระบวนการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะจนถึงบัดนี้ผู้ว่าฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจนน่าแปลกใจว่าราชการทำได้อย่างไรซึ่งเราเตรียมพยานหลักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว”

ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ การรณรงค์ให้ภาคประชาชนมาช่วยกันลงชื่อสนับสนุนผู้ฟ้อง ซึ่งขณะนี้สำนักงานสงขลาฟอรั่มได้เปิดให้ภาคประชาชนมาร่วมกันลงชื่อสนับสนุนการฟ้องคดีในครั้งนี้ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้มาร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างคึกคัก
 

 
ด้าน ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ในเฟชบุ๊กส่วนตัว Sompratana Ritphring ระบุถึงข้อพิรุธของโครงการนี้โดยได้ลงภาพประกอบพร้อมข้อความระบุว่า

“การออกแบบโครงสร้างป้องกันชายฝั่งทะเลจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงกายภาพประกอบเพื่อการวิเคราะห์หาทั้งแรงกระทำ ขนาด รูปแบบ และอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบจากโครงสร้างรูปแบบนั้นๆ แน่นอนว่า แบบรายละเอียดนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแบบต้องแน่ใจว่าได้วิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว
 

 
ภาพแรก : โครงสร้างที่ออกแบบตามสัญญาจ้างเดิม หล่อ วาง และขุดกลับขึ้นมาแล้ว
 

 
ภาพที่สอง : โครงเหล็กรอการหล่อของโครงสร้างรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเปิดเผยต่อหน้าศาล (ตุลาการศาลปกครองสงขลา) ปรับเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย ลดจำนวนแท่งคอนกรีตลงเกินครึ่ง ประหยัดคอนกรีต และเหล็ก.... แต่งบประมาณยังคงเดิม!?!?
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น