xs
xsm
sm
md
lg

เห็นด้วยสร้างเขื่อนป้องกันกัดเซาะชายหาดสุรินทร์ แต่ต้องมั่นคงเกิดประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (ระยะที่ 2) พื้นที่ชายฝั่งหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เห็นด้วยในการก่อสร้าง แต่ต้องมั่นคง ใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน มองสร้างเขื่อนคอนกรีตบันไดเอียงเหมาะสม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล (อบต.เชิงทะเล) อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (ระยะที่ 2) พื้นที่ชายฝั่งหาดสุรินทร์ ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัล-แตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ร่วมจัดขึ้น โดยมีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง รองนายก อบต.เชิงทะเล ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน นักวิชาการ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

ผศ.ดร.เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง กล่าวว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 พบว่า การป้องกันชายฝั่งหาดสุรินทร์ ตำบลเชิงทะเล ควรเป็นโครงสร้างที่ถาวร เพื่อป้องกันตลิ่งมิให้เกิดการพังทลาย โดยประชาชน หรือผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่หลังหาดได้อย่างถาวร และผู้แทนผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่เห็นว่า แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและเหมาะสมมากที่สุด คือเขื่อนคอนกรีตบันไดเอียง ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ได้นำข้อคิดเห็นมาวิเคราะห์ออกแบบโครงสร้างป้องกันชายฝั่งให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีความสอดคล้องต่อสภาพพื้นที่ และความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

ทั้งนี้ เขื่อนคอนกรีตบันไดเอียง จะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 80 ล้านบาท โดยรูปแบบโครงสร้างความยาว 821 เมตรตลอดแนวชายฝั่ง โครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระดับสันเขื่อนสูงประมาณ 4 เมตร จากระดับน้ำทะเลกว้าง 2.50 เมตร ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะการก่อสร้างนั้นได้ศึกษา และวางมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว

ผู้แทนภาควิชาการ นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้ให้ข้อสังเกตต่อการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบันไดเอียง ว่า ควรศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และศึกษาสภาพข้อเท็จจริงของการเคลื่อนย้ายตะกอน และทิศทางลมมรสุม ที่สำคัญควรศึกษาความคุ้มทุนในการก่อสร้าง

ขณะที่ผู้แทนชุมชน กล่าวว่า หากจะสร้างเขื่อนดังกล่าวก็ขอให้มีความมั่นคงถาวร และใช้ได้ยาวนานเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เนื่องจากกระแสน้ำมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ด้าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ฝากให้ผู้แทนชุมชนช่วยสร้างความเข้าใจต่อคนในพื้นที่ว่า การก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ และทางจังหวัดจะกำกับดูแลการก่อสร้างให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น