โดย...นพ.อนันต์ บุญโสภณ
ก่อนอื่นต้องขอเล่าเรื่องสักนิดก่อนว่า “เป็นหมอ” แต่ทำไมจึงมาสนใจเรื่องปฏิทิน และการคำนวณปฏิทินย้อนหลังเป็นพันๆ เป็นหมื่นปี และพัฒนามาเรื่อย 10 กว่าปีแล้วนี้เป็นมาอย่างไร
ความจริงเรื่องการคำนวณปฏิทิน 100-200 ปี เราก็เคยได้ยินได้ฟังมา และเคยเห็นในรายการโทรทัศน์มาก่อน แต่ไม่เคยสนใจอยากคิดได้บ้างเลย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องความสามารถของคนบางคนเท่านั้น และยังมีเรื่องอื่นๆ ให้สนใจอยู่มาก
จนวันปีใหม่ พ.ศ.2548 หลังเหตุการณ์ “สึนามิ” (26 ธันวาคม พ.ศ.2547) มาได้เพียง 6 วัน ขณะที่จะเปลี่ยนปฏิทินก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา และก็คิดไปได้ถึง 100 ปี ต่อมาก็คิดได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยปี ถึงหมื่นๆ ปี ถ้ายังใช้ปฏิทินแบบ “เกรกอเรียน” ต่อไป และเมื่อได้สร้างสูตรคำนวณวันทางจันทรคติ โดยประยุกต์เอาเลขที่ละเอียดถึงจุดทศนิยมมาใช้กับคณิตศาสตร์นาฬิกา หรือคณิตศาสตร์โมดูลาร์ มาสร้างเป็นสูตรที่สามารถคำนวณได้เป็นพันๆ ปี อย่างค่อนข้างแม่นยำ
ดังนั้น นอกจากได้ใช้ทายวันเกิดเพื่อนๆ เล่นแล้ว ก็ได้นำมาตรวจสอบ และศึกษาเกี่ยวกับเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงปฏิทินของประเทศไทยด้วย
ตัวอย่างการเล่นสนุกทายวันเกิด เช่น ผู้ที่เกิดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932 ) ก็บอกได้ในเวลาไม่กี่วินาทีว่า เป็นวันศุกร์
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประเทศไทยบันทึกวันเวลาตามการเปลี่ยนแปลงปฏิทินตั้งแต่สมัยไหน
จากกรณี “วันยุทธหัตถี” ที่เอามาเป็น “วันกองทัพไทย” ซึ่งเดิมคำนวณว่าตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 (ค.ศ.1592) แต่ต่อมา ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องใหม่ว่า ตรงกับวันที่ 18 มกราคม
ทำให้ผมสรุปได้ว่า การจะคำนวณวันเวลาในประวัติศาสตร์สำหรับประเทศไทยต้องถือเอาการเปลี่ยนปฏิทินจากแบบ “จูเลี่ยน” มาเป็นแบบ “เกรกอเรียน” ในปี ค.ศ.1582 เป็นสำคัญ
จึงจะคำนวณได้ว่า วันยุทธหัตถีนั้นตรงกับวันจันทร์ แรม 2 ค่ำเดือน 2 (เดือนยี่) ปีมะโรง ตามที่บันทึกไว้จริง จะไปถือตามบางเว็บไซต์ที่ว่า ประเทศไทยเปลี่ยนปฏิทินเป็นแบบเกรกอเรียนในปี ค.ศ.1752 ไม่ได้ เพราะจะทำให้วันที่ 18 มกราคมที่ว่านั้นกลายเป็นไปตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 2 ปีมะโรง แทนที่จะเป็นวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 2 ปีมะโรง ตามที่ระบุในประวัติศาสตร์
(หมายเหตุ : สมัยนั้นประเทศไทยยังให้ขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน ซึ่งทำให้เดือนมกราคม-มีนาคมเป็น 3 เดือนท้ายของปี แทนที่จะเป็น 3 เดือนแรกของปีอย่างปัจจุบัน)
ที่ได้เล่าตรงนี้ยาวหน่อยเพื่อเน้นว่า การบันทึกกาลเวลาในประวัติศาสตร์ไทยจะต้องถือเอาหลักการนี้ทุกครั้ง
คราวนี้ก็มาถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่บันทึกว่า ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2277 ว่าตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีขาลนั้น
จากการคำนวณ และตรวจสอบกับปฏิทินหลายอันในสื่อ ปรากฏว่า ถ้าเอาวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2277 (ค.ศ.1734) เป็นหลัก จะตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ แต่ถ้าจะเอาวันอาทิตย์เป็นสำคัญ ก็จะตรงกับวันที่ 18 เมษายน คำนวณได้เป็นแรม 1 ค่ำ
แต่ใน www.Payakorn.com ก็เป็นวันเสาร์ แต่เป็นวันขึ้น 14 ค่ำ ถ้าจะให้เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ และวันอาทิตย์ ก็ต้องเป็นวันที่ 18 เมษายน ...
ก็ต้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ช่วยพิจารณาด้วย