xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ว่าฯ ธำรงค์ เจริญกุล” ผู้สร้างหรือแก้วิกฤตหาดสมิหลา!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
รายงาน..ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
“นายธำรงค์ เจริญกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งเวลานี้ถือเป็นนักปกครองระดับสูงที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาว โดยเฉพาะเรื่องขัดแย้งกับภาคประชาชนมาต่อเนื่อง ทั้งที่เหลือเวลาประมาณ 1 เดือนจะเกษียณราชการ
 
ล่าสุด ยังไม่วายถูกเด็กนักเรียนร่วมกับภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา ในคดีจัดทำโครงการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครสงขลา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องรีบทำเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ในช่วงหน้ามรสุมที่กำลังจะมาถึงก็ตาม
 
คดีนี้มีขึ้นเมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 สงขลาฟอรั่ม โดยนางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ทั้งในฐานะผู้อำนวยการ และในฐานะส่วนตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ชมรม Beach for life โดยนายอภิศักดิ์ ทัศนี ทั้งในฐานะผู้ประสานงานชมรม และส่วนตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 3 กลุ่ม Crescent Moon lawyers (กลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสาฯ) โดย น.ส.อลิสา บินดุส๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มและส่วนตัว และผู้ฟ้องคดีที่ 4 กลุ่มประมงพื้นบ้านชุมชนเก้าเส้ง โดยนายสมพล ดีเยาะ ทั้งในฐานะรองประธานกลุ่มและส่วนตัว
 
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กรมเจ้าท่า และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เทศบาลนครสงขลา
 
โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ขอให้ระงับ และยกเลิกโครงการที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ มิ.ย.2558 และจะแล้วเสร็จ ก.ย.2558 เพราะหากปล่อยจนแล้วเสร็จจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชายหาด และขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อหยุดการกระทำทันที
 

 
น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความฝ่ายผู้ฟ้องระบุความไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการคือ บกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสาร และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไม่ขออนุญาต หรืออนุมัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าดูดทรายในทะเลและก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ไม่มีขออนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนชายหาด และไม่ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่สาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหาสาระอีกหลายประเด็น
 
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนฉุกเฉินได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องกับผู้ถูกฟ้องตกลงรับนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกัน 2 ก.ย.นี้ ณ ศาลปกครองสงขลา โดยมีข้อสรุปที่เห็นร่วมกันในวิธีแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ด้วยวิธีการเติมทรายในบริเวณชายหาดที่ถูกคลื่นกัดเซาะ ห้ามไม่ให้ใช้โครงสร้างแข็งที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงเป็นลูกโซ่ ซึ่งเป็นวิธีการที่หน่วยงานภาครัฐที่ทำมาเกือบ 20 ปี เพราะนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว กลับยิ่งซ้ำเติมให้การกัดเซาะชายหาดลุกลามออกไปเป็นบริเวณกว้าง 
 
ทั้งนี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ ศาลก็จะใช้อำนาจพิพากษาคดีนี้ตามกฎหมายต่อไป
 
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ฟ้องคดีหลักเป็นตัวแทนนักเรียนใน จ.สงขลา คือ นายอภิศักดิ์ น.ส.อลิสาและนายสมพล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสงขลาฟอรั่ม แต่เนื่องจากเยาวชนที่เป็นแกนหลักฟ้องคดีมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ศาลจึงแนะนำให้ฟ้องเป็นกลุ่ม โดยมีนางพรรณิภา รับเป็นผู้ฟ้องคดีร่วม
 
“เราต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการจัดการปัญหากัดเซาะชายหาดที่เรื้อรังมานานเกือบ 20 ปี โดยตลอดเวลาที่เกิดปัญหากัดเซาะชายหาดที่ผ่านมา ได้ทำให้เยาวชนใน จ.สงขลา มีความตื่นตัว อยากมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาปกป้องทรัพยากรชายหาด จนเกิดการรวมตัวกันขึ้นดังกล่าว”
 
นางพรรณิภา บอกเล่าและเสริมว่า เยาวชนที่สนใจในปัญหานี้ได้มารวมตัวกันในนามกลุ่ม Beach For Life เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลของสงขลาไม่ให้ถูกทำลาย โดยเฉพาะจากน้ำมือของมนุษย์
 
เยาวชนกลุ่ม Beach For Life ได้ศึกษาปัญหากัดเซาะชายหาดร่วมกับนักวิจัยในโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ศึกษาวิจัยพบว่า ในรอบ 30 ปีมานี้ประเทศต้องสูญเสียแผ่นดินชายฝั่งทะเลจากปัญหาถูกคลื่นกัดเซาะชายหาดไปเป็นแนวยาวไม่ต่ำกว่า 600 กิโลเมตร รวมเนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉพาะที่ดินพบว่า มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
 
แต่หากใช้ฐานคิดนี้คำนวณมูลค่าความสูญเสียครอบคลุมรอบด้าน ทั้งที่ดิน วิถีชีวิต โอกาสทางธุรกิจ มรดกตกทอดสู่ลูกหลาน การใช้ประโยชน์ทางตรง-อ้อม รวมถึงความรู้สึกที่ดีต่อชายหาด มูลค่าความเสียหายจะสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
 

 
ล่าสุด นักวิจัยได้ค้นพบทางออกสำหรับแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง และหาดนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นวิธีการที่ศึกษาแล้วพบว่า มีความคุ้มค่า และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเสนอให้รื้อโครงสร้างแข็งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะออกจากชายหาด แล้วให้หาดทรายฟื้นฟูตัวเองตามสภาพพลวัตของหาดทรายตามธรรมชาติ หากทำได้จะช่วยให้มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนชายหาดเพิ่มขึ้นถึง 60%
 
ขณะที่เยาวชนกลุ่ม Beach For Life ได้ประกาศใช้ธรรมนูญปกป้องชายหาดสมิหลาอย่างเป็นทางการเมื่อ มิ.ย.2557 พร้อมจัดตั้งสภาเยาวชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกมิติในการกำหนดนโยบายร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่า นโยบายต่างๆ ที่ผู้ใหญ่คิดจะไม่เป็นตัวการทำลายระบบนิเวศชายหาดเหมือนที่ผ่านมา
 
นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ นายธำรงค์ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ สงขลา ในยุคเริ่มของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยาวชนกลุ่มนี้จึงคาดหวังว่านโยบายคืนความสุขให้ประชาชนของ คสช.น่าจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาด แต่จนถึงขณะนี้คงไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
 
เพราะจู่ๆ นายธำรงค์ ที่มักจะอ้างว่า ได้มาเป็นผู้ว่าฯ สงขลา เพราะเรียนมัธยมรุ่นเดียวกับบิ๊กตู่ ได้สั่งการให้หน่วยงานในปกครองนำเครื่องจักรกลหนักไปตัดถนนเข้าสู่ชายหาดแหลมสนอ่อน เพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกเข้าไปรับทรายจากบริเวณนั้นไปเติมให้แก่ชายหาดชลาทัศน์ที่มีปัญหาถูกกัดเซาะ ซึ่งการตัดถนนทำให้ป่าสนชายหาดถูกทำลายเสียหายเป็นบริเวณกว้าง 
 
ขณะเดียวกัน มีการหล่อแท่งคอนกรีตไม่ต่ำกว่า 10 แท่ง แล้วนำไปฝังไว้ใต้พื้นทรายที่หาดชลาทัศน์ โดยระหว่างการไต่สวนฉุกเฉินเมื่อ 25 ส.ค. เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฟ้องคดีให้การต่อศาลว่า ยังไม่ได้ฝังแท่งคอนกรีตลงในหาดทราย ขณะที่ผู้ฟ้องยืนยันว่า ได้เห็น และถ่ายรูปไว้แล้วว่ามีแท่งซีเมนต์ถูกฝังอยู่ใต้พื้นทรายชายหาด จนศาลต้องนัด 2 ฝ่ายลงเดินสืบพยานชายหาดต่อ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
ปรากฏว่า กลางดึกของคืนวันที่ 25 ส.ค.ได้มีรถแบ็กโฮไปขุดแท่งคอนกรีตขึ้นมาจากพื้นทรายชายหาด ซึ่งผู้ฟ้องคดีมองว่า อาจเข้าข่ายเป็นการพยายามทำลายหลักฐาน และให้การเท็จต่อศาลเพื่อกลบเกลื่อนความผิด แต่นายธำรงค์ อ้างว่าขุดแท่งคอนกรีตขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่โครงสร้างแข็ง เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้
 
“เมื่อไม่อยากให้ใช้ก็ขุดออก ทำไปแก้ไขไป ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาดไม่มีวิธีไหนได้ผลดี 100% นี่เป็นแค่การทดลองเท่านั้น ในฐานะเป็นคนสงขลา และเป็นผู้ว่าฯ ผมมีสิทธิทำอะไรก็ได้กับชายหาดชลาทัศน์ ใครจะทำไม”
 
นี่คือวาทะของผู้ว่าฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องเส้นสายยุครัฐบาลทอปบูต และยังเป็นนักปกครองที่มีชื่อเสียด้านการใช้คำผรุสวาทที่บรรดาข้าราชการต่างพากันเอือมระอา
 
อีกทั้งในระหว่างเดินสืบพยายามชายหาดต่อหน้าตุลาการศาลปกครองสงขลา ผู้ฟ้องคดี และสื่อมวลชน นายธำรงค์ ยังกล่าวในทำนองว่า หากปัญหาเรื่องนี้ยังไม่จบก็จะยกชายหาดชลาทัศน์ให้กลุ่มสงขลาฟอรั่มเป็นผู้ดูแล ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อารมณ์ส่วนตัวในการแก้ไขปัญหา
 
ว่ากันว่า หลังเกษียณ นายธำรงค์ จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. จนเกิดข้อสงสัยตามมาว่า โครงการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ซึ่งนักวิศวกรรมศาสตร์ทางทะเลบอกว่าเป็นโครงการที่ไร้ซึ่งหลักการสิ้นดีนี้ เป็นการทิ้งทวนเพื่อปูไปสู่เส้นทางการเลือกตั้งหรือไม่
 
สำหรับนายธำรงค์ ก็เพิ่งมีปัญหากับเครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา จนเป็นข่าวครึกโครมใหญ่โตเรื่องจะตัดไฟที่บ้าน และยิงนักพัฒนาองค์ภาคเอกชน รวมถึงพาลด่ากราดอดีตผู้ว่าฯ สงขลา ที่นำเงินกองทุนกีฬาไปใช้มาแล้ว เมื่อครั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเวที ค.3 เมื่อปลาย ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนหน้าก็มีปัญหากับกลุ่มผู้ประกอบการประมงพื้นบ้าน และเคยมีปัญหาเข้าไปพัวพันยึดที่ดินสาธาระสมัยเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นต้น
 
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ที่สุดแล้ว 2 ก.ย.นี้ ผลทางคดีในศาลปกครองจะออกหัวหรือก้อย แล้วหลังเกษียณชีวิตของนักปกครองผู้อื้อฉาวคนนี้จะเป็นอย่างไร?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น