xs
xsm
sm
md
lg

“สุรินทร์” แจงจดลิขสิทธิ์วิวาห์ใต้สมุทรขอคงเอกลักษณ๋ 10 ปี จากนั้นใครทำเพื่อจังหวัดก็ให้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - “สุรินทร์ โตทับเที่ยง” แจงจดลิขสิทธิ์วิวาห์ใต้สมุทร 10 ปี เพื่อคงเอกลักษณ์ และชื่อเสียงที่สร้างสมมายาวนาน ชี้พร้อมให้ทุกภาคส่วนจัดงานโดยไม่คิดมูลค่า หากทำเพื่อจังหวัด และประเทศ

วันนี้ (26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายรานว่า นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานถาวรกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ตรัง และรองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อเดือน ก.ค.2548 ตนเองได้ไปยื่นจดลิขสิทธิ์งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร หรือ Trang Under Water Wedding Ceremony ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตามทะเบียนเลขที่ บ30478 โดยเจตจำนงที่ไปยื่นจดลิขสิทธิ์ดังกล่าวนั้นก็เพื่อต้องการให้ จ.ตรัง ได้เป็นเจ้าของกิจกรรมงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นความคิดริเริ่มของชาวตรัง จึงควรเป็นสมบัติของชาวตรัง

อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใน จ.ตรัง ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชนประสงค์จะขอเป็นผู้จัดงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรเพื่อประโยชน์ในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ จ.ตรัง และประเทศไทย โดยมิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์เป็นการส่วนตัว ตนเองยินดีที่จะมอบสิทธิในการจัดงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรให้โดยไม่คิดมูลค่าแต่ประการใด แต่ขอให้ติดต่อมายังตนเอง เพื่อจะได้หารือร่วมกันถึงแนวทาง และรูปแบบการจัดงาน เพราะอยากจะให้งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรได้คงเอกลักษณ์ และคำนึงถึงชื่อเสียงที่สร้างสมมาอย่างยาวนาน

นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง กล่าวอีกว่า งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรของ จ.ตรัง หรือ Trang Under Water Wedding Ceremony ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งถือเป็นการจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลครั้งแรกของประเทศไทย และอาจจะเป็นครั้งแรกของโลก โดยความคิดริเริ่มของตนเองในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้า จ.ตรัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ตรัง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และใช้กิจกรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยจัดมาก่อน

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรกของการจัดงานเป็นการดำเนินการขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภายใน จ.ตรัง โดยไม่คาดคิดว่างานจะมีความใหญ่โต หรือจะได้รับความสนใจอย่างมากมายเท่าใดนัก เพราะมีคู่บ่าวสาวร่วมงานเพียงปีละ 2 คู่เท่านั้น กระทั่งปี 2543 เมื่อการบินไทยได้เข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งด้านงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งได้ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเพื่อให้ยิ่งใหญ่ขึ้นในระดับนานาชาติ และมีการเชิญคู่บ่าวสาวจากทั่วโลกมาร่วมงานเป็นจำนวนมากถึง 30 คู่

ตั้งแต่ครั้งนั้นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรของ จ.ตรัง เริ่มเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ และทั่วโลก ตลอดจนได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกใน Guinness World of Record ว่า เป็นการจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้กลายเป็นภาพลักษณ์เฉพาะตัวของ จ.ตรัง

หลังจากนั้น ยังได้รับรางวัลต่างๆ อย่างมากมายตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา รวมถึงรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 2550 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น