ปัตตานี - งานรำลึก “61 ปีการสูญหายของหะยีสุหลง” สะท้อนถึงบทเรียนของการใช้แนวทางสันติวิธีแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่รัฐควรนำเป็นบทเรียน
วันนี้ (15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา บรรยากาศของการจัดงานรำลึก 61 ปี การบังคับสูญหายของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา กับพวกอย่างไร้ร่องรอย ไร้กูโบร์ ไร้ที่ฝังกลบ ได้สะท้อนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องนำเป็นบทเรียน ไม่ควรปกปิดข้อมูล ควรเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเพื่อนำไปศึกษาความผิดพลาดที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำมาในอดีต
เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตราบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ ยากที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดร่วมกันได้ ซึ่งมีบรรดาเครือญาติ 10 สาย ผู้นำศาสนา ทหาร ตำรวจ เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน โดย นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ในฐานะญาติอาวุโสนั่งเป็นประธานในพิธี
โดย หะยีสุหลง นับเป็นปัญญาชนที่มาในรูปของผู้นำศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “ต่วนฆูรู ตะเยาะลง” ที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณ นำความสว่างให้แก่สังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดภาวะขาดผู้นำ และแน่นอนที่สุด หะยีสุหลง เป็นบุคคลที่ได้เลือกให้เป็นผู้นำ และเลือกใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งมีความสนิทสนมกับบุคคลในรัฐบาลในขณะนั้นเป็นอย่างดี
โดยเฉพาะ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หะยีสุหลง เคารพกฎหมายบ้านเมือง ไม่เคยคิดหนี ได้มีการเหมาแท็กซี่เดินทางขึ้นศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากตกเป็นผู้ต้องหา จัดหาทนายความต่อสู่คดีอย่างไม่หวั่น เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่า คำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่รวบรวมสำนวนกล่าวหาว่า หะยีสุหลง มีความผิดฐานขบถ ซ่องสุมกำลัง มีการสะสมอาวุธ รวมทั้งข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ
แต่ที่สุดแล้วอัยการกลับไม่นำสำนวนดังกล่าวให้ศาลพิจารนา มีเพียงคดีกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทรัฐบาลในขณะนั้น ศาลฎีกาพิพากษายื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกหะยีสุหลง เป็นเวลา 7 ปี แต่เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ประกอบความดีงามเป็นที่ประจักา ศาลจึงมีการลดโทษเหลือ 4 ปีเศษ
นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงว่า หะยีสุหลง เป็นบุคคลที่ได้เคารพในกระบวนการยุติธรรมของไทย ยอมขึ้นศาลต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา และยอมจำคุกอย่างมิได้ขัดขืนแต่อย่างใด นอกจากนั้น หะยีสุหลง ยังสร้างความชอบ สร้างความดีงามให้แก่บ้านเมือง ที่ยอมนำพาผู้นำศาสนา 100 ชีวิต ขึ้นเมืองกรุง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องอยู่กับรัฐไทย หลีกเลี่ยงการนำผู้นำศาสนาทั้ง 100 ชีวิต ไปพบกงสุลอังกฤษที่รอพบที่แม่น้ำสุไหงโก-ลก เพื่อผนวกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกับแผนที่ของประเทศมาเลเซีย ตามที่ได้มีการตกลงไว้แล้วก่อนหน้านั้นกับเจ้าหน้าที่กงสุลอังกฤษที่ประจำเมืองโกตาบารูในขณะนั้น
แต่ทำไม หะยีสุหลง ต้องกลับกลายเป็นบุคคลที่บังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และยังคงตราความผิดขบถจนตราบทุกวัน สร้างความหดหู่ ความเจ็บปวดของลูกหลาน ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้นำศาสนา ตลอดจนพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นต้นมา จนเกิดการหักเหไปเข้าป่า จับอาวุธปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในนามขบวนการกู้ชาติปาตานี เพื่อผดุงความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ยังคงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จนทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้เกิดการปะทุมาเรื่อยจนตราบปัจจุบัน ซึ่งวันนี้ทุกคนกลับเรียกร้องให้หันมาใช้แนวทางสันติวิธี เพื่อยึดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความสงบในพื้นที่อีกครั้ง
การจัดงานรำลึก 61 ปีในครั้งนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ภาพวาดของหะยีสุหลง ในหัวข้อ “บุคคลไม่มีที่ฝังศพ ย่อมมีสุสานทุกหนแห่ง” มีการอ่านบทกวีซีไรต์ อ่านบทกวีภาษามลายู สร้างความร้าวใจ และโศกเศร้าต่อการจากไปของหะยีสุหลง ในฐานะ “นักต่อสู้สันติวิธีของคนปาตานี”
นอกจากนั้น ยังมีการจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒินักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่าชีวประวัติของหะยีสุหลง มีการอ่านบันทึกในสมุดไดอารี่จากแพทย์ไทยพุทธเป็นเพื่อนสนิทของหะยีสุหลง ถึงคุณงามความดีที่ได้คุณูปการต่อดินแดนแห่งนี้
รศ.ดร.ลุตฟี จะปากียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามฟาฏอนี ได้กล่าวในระหว่างเข้าร่วมพิธีทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับว่า การจากไปของหะยีสุหลง ความจริงเขายังไม่ได้ตาย เขายังคงมีชีวิต เขาเป็นผู้พลีชีพในหนทางของอัลลอฮ ดังนั้น เขาย่อมไม่ได้ตามที่อัลลอฮตรัสไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน