โดย...นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในนามเครือข่ายพลเมืองสงขลา
“เครือข่ายพลเมืองสงขลา” คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วยเหตุ และผล ด้วยความเชื่อว่าเรามีไฟฟ้าที่เพียงพอได้โดยไม่ต้องพึ่งถ่านหิน และถ่านหินสะอาดไม่มีจริง มีแต่จะทำให้ชุมชนรอบข้างต้องรับพิษภัย
และจากการทบทวนรายงาน ค.1 ค.2 ค.3 พบว่า ยังมีประเด็นที่ยังต้องการความกระจ่างดังนี้
*** ประเด็นที่ 1 : ว่าด้วยทำไมต้องสร้างที่เทพา
1.ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ทั้งนี้ เพราะโรงไฟฟ้าจะนะ มีกำลังการผลิต 1,540 เมกะวัตต์แล้ว ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามที่ปรากฏในรายงาน ค.1 พบว่า ในปี 2557 ใน 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สตูล, พัทลุง และสงขลา ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งลำพังโรงไฟฟ้าจะนะ ก็สามารถผลิตได้เพียงพอแล้ว
2.หากมองภาพการใช้ไฟฟ้าจากภาคครัวเรือน จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จำเป็นเพียงใดที่ต้องมีกำลังผลิตถึง 2,200 เมกะวัตต์ ยิ่งกำลังการผลิตมากก็ยิ่งสร้างมลพิษมาก และไม่เป็นความยุติธรรมต่อคนในพื้นที่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก็จะสร้าง ที่ชุมพร และที่นครศรีธรรมราช ก็อยู่ในแผน เช่นนี้แล้วไฟฟ้าไม่เกินหรือ และจะสร้างใหญ่โตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนักใช่หรือไม่
3.จากทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกนาทับ และเชื่อมต่อด้วยสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) ที่มีรถไฟรางคู่ ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบท่อน้ำมัน-ก๊าซ และมีแนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมในแนวแลนด์บริดจ์ จึงทำให้มีความกังวลว่า แท้จริงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างที่เทพา เพราะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่สงขลา-สตูลในอนาคต จึงสร้างถึง 2,200 เมกะวัตต์ และเป็นที่ชัดเจนว่า คนสงขลาทุกภาคส่วนไม่ต้องการให้สงขลาเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมหนัก เช่น ระยอง
4.กรณีพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่มีถ่านหินลิกไนต์จำนวนมาก ความกังวลต่อเหตุผลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เลือกก่อสร้างที่ อ.เทพา ก็เพราะจะมีการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่สะบ้าย้อยในอนาคตใช่หรือไม่ เพราะในปัจจุบัน กฟผ.ก็ยังมีการทำกระบวนการประชาสัมพันธ์ หรืองานมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่สะบ้าย้อยอยู่ เหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อยจะนำมาสู่การย้ายหมู่บ้านและชุมชนออกมากกว่า 20 หมู่บ้านใน 3-4 ตำบล ซึ่งจะกระทบต่อชุมชนอย่างมาก
*** ประเด็นที่ 2 : ว่าด้วยการสร้างภาวะโลกร้อน
5.ไม่มีการระบุถึงปริมาณ CO2 ที่จะมีการปล่อยสู่บรรยากาศว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกวันละกี่ล้านตัน และควรมีการเปรียบเทียบกับผู้ปล่อยก๊าซเรียนกระจกรายใหญ่ของสงขลา คือ โรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อจังหวัด ส่งผลกระทบต่อ Carbon Credit ของประเทศ เป็นต้น อย่างไรบ้าง
6.ปริมาณ CO2 ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลที่จะทำให้ปริมาณน้ำยางของสวนยางลดลงหรือไม่ (ทั้งนี้ นี่คือข้อบ่นหลักของชาวบ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงแยกก๊าซจะนะ ที่พบว่า สวนยางของเขามีน้ำยางลดลง) ถ้าตอบว่าไม่มีผล อ้างอิงจากหลักฐานใด เคยมีการศึกษาไหม ทำไมไม่ศึกษาเพื่อจะได้อ้างอิงผลการศึกษาได้อย่างมี Evidence-based แม้อาจไม่ศึกษาใน EIA แต่ก็ควรกำหนดเป็นวิจัยระยะยาว พื่อการตอบคำถามอย่างเป็นวิชาการ
*** ประเด็นที่ 3 : ว่าด้วยโลหะหนัก
7.ไม่ปรากฏการคำนวณ Mass Balance กรณีโลหะหนักว่า Mass In เข้ามาในจำนวนหนึ่งแล้ว จะมีการกระจายของมวลสารมลพิษไปในรูปแบบต่างๆ อย่างไรบ้าง ประเด็นนี้มีความสำคัญมากสำหรับภาคประชาคมสุขภาพ ในการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังด้านสุขภาพให้ตรงจุด ตัวอย่างเช่น สารหนูจำนวนมากที่ติดกับถ่านหินคิดเป็น 100% เผาไหม้แล้วสารหนูคงเหลือในเถ้าหนักในสัดส่วนใด หลุดไปกับเถ้าลอยเท่าใด ในจำนวนนั้นกระบวนการบำบัด NOx โดย SCR ดักจับสารหนูได้แค่ไหน กระบวนการ ACI ดักได้แค่ไหน กระบวนการ ESP ดักจับได้เท่าใด การใช้น้ำทะเลมาดักจับ SO2 จะพาสารหนูลงทะเลด้วยเท่าใด แล้วสุดท้ายปล่อยออกจากปล่องเท่าใด สิ่งเหล่านี้อ้างอิงงานวิชาการใด ความน่าเชื่อถือของงานั้นมากน้อยแค่ไหน อ้างอิงแต่เพียง Spec ของเครื่องจากบริษัทที่ขายใช่หรือไม่ ซึ่งควรต้องมีการศึกษาในทุกชนิดของโลหะหนัก เพื่อเป็นข้อมูลมลพิษพื้นฐานว่า จะมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในจุดใดบ้าง
8.เทคโนโลยี ACI กับความสามารถดูดจับสารปรอทนั้น ดูดจับปรอทได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขใด อ้างอิงข้อมูลมาจากแหล่งใด นำฝุ่นคาร์บอนนั้นไปบำบัดปรอทออกที่ไหน ทิ้งที่ไหน นอกจากดูดจับสารปรอทแล้ว สามารถดูดจับตะกั่ว สารหนู แคดเมียม นิเกิล หรือโลหะหนักอื่นๆ ได้มากน้อยเพียงใด ในสภาวะใด อ้างอิงข้อมูลมาจากแห่งใด
9.การนำน้ำทะเลมาบำบัด SO2 ทำให้อากาศร้อนที่มีโลหะหนักปะปนมาผ่านน้ำทะเลที่พ่นเป็นละออง จะทำให้เกิดการปะปนของโลหะลงสู่ทะเลหรือไม่ จากการศึกษาทราบหรือไม่ว่า ปริมาณปรอท แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู นิเกิล หรือโลหะหนักอื่นๆ นั้น มีปริมาณต่อปีที่ผ่านระบบนี้แล้วคงเหลือปริมาณที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศเท่าไร และปนเปื้อนไปกับน้ำทะเลเท่าไร ปริมาณที่ปนเปื้อนออกไปนั้นจะมีการกระจายตัวของโลหะหนักแต่ละชนิดจากจุดปล่อยน้ำอย่างไร มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการห้ามการจับสัตว์น้ำในบางพื้นที่รัศมีจากจุดปล่อยน้ำ กระแสน้ำในอ่าวไทยไหลจากเทพาไปสู่สงขลา ไปจนถึงอ่าวตัว ก. แล้วกระแสน้ำวนออกสู่ปลายแหลมญวน เช่นนี้แล้ว การวัด การเฝ้าระวัง ควรวัด ณ จุดใด อีกทั้งเนื่องจากปลาปูกุ้งนั้นสามารถว่ายน้ำไปมาได้ เช่นนี้แล้ว การปนเปื้อนของโลหะหนักสู่อาหารทะเลจะไม่
*** ประเด็นที่ 4 : ว่าด้วยผลกระทบต่อชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์น้ำ
10.การกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากการสร้างโครงสร้างแข็งที่จะสร้างล้ำเข้าไปในทะเล โดยเฉพาะจุดกำแพงสูบน้ำทะเลเข้ามาหล่อเย็น และกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนคอนกรีตลงไปในทะเลมากกว่า 500 เมตร และมีการขุดลอกร่องน้ำให้ลึก 3 เมตร ย่อมมีการกัดเซาะชายฝั่งทางด้านหมู่ 4 ปากบางเทพาอย่างมาก การศึกษาในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
11.โอกาสของชาวประมงพื้นบ้านกับการสูญเสียอาชีพการจับปลามีมากน้อยเพียงใด เพราะการที่เรือขนถ่านหินกินน้ำลึก 6 เมตร ในขณะที่ระดับน้ำที่ท่าเทียบเรือลึก 8 เมตร ทำให้มีระยะระหว่างเรือกับท้องน้ำเพียง 2 เมตร ความขุ่นจากการพัดของเครื่องจักร เสียง ล้วนมีผลต่อสัตว์น้ำ แต่การศึกษาไม่ได้ให้ละเอียดในเรื่องนี้เท่าที่ควร ครัวเรือนชาวประมงพื้นบ้านมีกี่ครัวเรือน รายได้เท่าไร หากเขาได้รับผลกระทบที่ทำให้รายได้ลดลง ทาง กฟผ.จะดำเนินการอย่างไร
12.บ่อเก็บเถ้านั้นเป็นพื้นที่เปิด น้ำซึมแทบไม่ได้ ดังนั้น ในฤดูฝนน้ำจะขังในบ่อนี้ หากฝนตกต่อเนื่องจะมีโอกาสในการที่จะเกิดน้ำล้นบ่อหรือไม่ รองรับฝนหนักได้ขนาดไหน จะมีการแก้ปัญหาน้ำล้นบ่อได้อย่างไร น้ำนั้นจะบำบัดอย่างไร หากกรณีที่เกิดพายุเข้าฝั่งจะเตรียมรับอย่างไร มีโอกาสเพียงใดที่น้ำจะท่วมบ่อ และพัดพาเถ้าลงทะเล
*** ประเด็นที่ 5 : ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมด้านผลกระทบต่อสุขภาพ
13.การศึกษาของ EHIA มีความตื้นของข้อมูลด้านสุขภาพอย่างมาก ภัยคุกคามด้านสุขภาพสำคัญต่อสุขภาพอย่างน้อย 4 ประการคือ
a.ก๊าซ SO2 NO2 และฝุ่น มีผลต่อโรคปอด หรือโรคทางเดินหายใจที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น
b.โลหะหนัก
i.ปรอท
ii.แคดเมียม
iii.นิเกิล
iv.ตะกั่ว
v.สารหนู
c.สาร PAH หรือ Dioxin
สิ่งที่รายงาน EHIA ควรระบุไว้คือ Prevelence และ Incidence ของแต่ละโรคของคนเทพาในปัจจุบัน เพื่อเป็น Base Iine Data สำหรับการเฝ้าระวังในอนาคตต่อไป (ข้อมูลเหล่านี้ต้องการการศึกษา ไม่มีระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน เพราะผู้ป่วยบ่อยครั้งเมื่อป่วยไปคลินิก ไปโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลข้างเคียงโดยสมัครใจ ทำให้โรงพยาบาลเทพาก็จะไม่รู้ความชุกของโรคเหล่านั้นอย่างแท้จริง)
14.ร่างรายงาน EHIA นั้นไม่ได้ศึกษา Worst Case Scenario เช่น กรณีที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ในกองถ่านหิน หรือไฟไหม้โรงงาน จะมี Model ของการแพร่กระจายมวลสาร และมลพิษไปในทิศทางใด จะต้องมีมาตรการทางด้านการรองรับภัยพิบัติด้านสุขภาพ หรือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร
*** ประเด็นที่ 6 : ว่าด้วยการย้ายครัวเรือนในพื้นที่ 2,962 ไร่ ในพื้นที่เวนคืน
15.ในร่าง EHIA ไม่ปรากฏจำนวนครัวเรือนที่ต้องถูกโยกย้าย จริงๆ ต้องระบุว่า บ้านไหน มีกี่ครัวเรือน ฐานะทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือ อาชีพใหม่จะเป็นอย่างไร กฟผ.อย่ารังแกคนจน
16.นอกจากครัวเรือนแล้ว ยังต้องย้ายมัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ หรือสุสาน 2 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน ต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างไร
17.ในรายงาน ค.2 ไม่ได้มีการจัดเวทีเพื่อการระดมความเห็นกลุ่มครัวเรือนที่ต้องย้ายออกเลย ทั้งๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักในฉับพลันทันที
*** ประเด็นที่ 7 : ว่าด้วยป่าชายเลน
18.ป่าชายเลนริมคลองตุหยงจะยังเป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติได้ไหม จะได้รับผลกระทบอย่างไร เป็นไปได้หรือที่จะได้รับผลกระทบอันน้อยนิด
*** ประเด็นที่ 8 : ว่าด้วยกระบวนการทำเวที ค.1 ค.2 ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่กระทำผิดกฎหมาย
19.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ที่มีการแจกข้าวสารอย่างเอิกเกริก เทียบเท่าการซื้อเสียงเพื่อจูงใจให้คนมาร่วมงาน เพื่อการอ้างว่ามีคนสนับสนุนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่สำหรับองค์กรที่อ้างว่าธรรมาภิบาลอย่าง กฟผ.
20.การจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ที่จัดเป็นวงย่อยๆ นั้น ไม่มีการรับฟังความเห็นจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ได้เข้าถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง มีเพียงเวทีในกลุ่มที่สนับสนุนเป็นสำคัญ
21.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 มีการปิดกั้นการเข้าร่วมในหลากหลายรูปแบบ เช่น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศข่มขู่ชาวบ้าน สร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้านกลุ่มที่เห็นต่างไม่กล้าเข้าร่วมเวที และการที่มีการกั้นลวดหนาม นำรถถังรถหุ้มเกราะมาปรากฏกาย มี ฮ. มีกองกำลังผสมพร้อมอาวุธ ทำให้ยิงสร้างความหวาดกลัว และบรรยากาศที่ปิดกั้น เช่นนี้จะถือว่าเวที ค.3 มีความชอบธรรม หรือมีความถูกต้องได้ไหม
22.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้งนั้น ควรมีการจัดการรับฟังในพื้นที่เมืองคือ อ.หาดใหญ่ หรือ อ.เมืองสงขลา รวมทั้ง อ.เมืองปัตตานีด้วย เพราะแท้จริงโรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่มากนั้นเป็นโรงไฟฟ้าที่จะสร้างผลกระทบต่อคนทั้งสงขลา และปัตตานี ไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะแต่คนเทพา จึงควรที่จะจัดการรับฟังความคิดเห็นในเขตพื้นที่เมืองพื้นที่เศรษฐกิจหลักของจังหวัดด้วย
*** ประเด็นที่ 9 : ความขัดแย้งในชุมชน
23.ความแตกแยกในชุมชนจากการดำเนินการผลักดันให้เกิดโครงการด้วยหลากหลายกลวิธี ทั้งการจ่ายแจกเงิน การเลือกพาไปดูงาน การใช้อำนาจอิทธิพล ทั้งหมดจะส่งผลต่อความเป็นชุมชนในเทพาอย่างไร
24.สถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้น หรือมีสถานการณ์ที่แย่ลง ทั้งในขณะก่อสร้าง หรือดำเนินการ ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาให้ลึกซึ้งแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ อ.เทพา เป็นอำเภอเสี่ยงต้นๆ ของ จ.สงขลา
คำถามทั้ง 24 คำถามนี้ รวบรวมจากความคิดเห็นของพลเมืองคนสงขลา ไม่เฉพาะคนเทพาที่มีความเป็นห่วงต่อสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว