xs
xsm
sm
md
lg

เผย “ภาษาไทยในโลกยุคดิจิตอล” ย่นย่อจนเสี่ยงสูญเอกลักษณ์และสุนทรียศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” นำทีมนักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคม ม.ทักษิณ นำเสนอผลการศึกษา “การใช้ภาษาไทยในโลกยุคดิจิตอล” พบข้อมูลที่น่าหวาดหวั่นในโลกยุคย่นย่อ จนภาษาไทยเสี่ยงสูญเสียเอกลักษณ์ และสุนทรียศาสตร์
 
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นำทีมนักวิชาการในคณะนำเสนอผลการศึกษาการใช้ภาษาไทยในโลกยุคดิจิตอล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติที่ผ่านมา พบมีการใช้ภาษาไทยแบบย่นย่อ ฉาบฉวย ส่งผลกระทบต่อเอกลักษณ์ สุนทรียศาสตร์ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ ชี้ต้องเร่งส่งเสริมการใช้ภาษาไทยรอบด้านท่ามกลางพลวัตสังคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
 
ดร.พัชลินจ์ จีนนุ่น ได้นำเสนอปัญหาการใช้ภาษาไทยในสื่อเฟซบุ๊ก (Facebook) ว่า เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันคือ การสื่อสารกันทางเฟซบุ๊ก ซึ่งถ้า “ใช้เป็น” ก็จะก่อประโยชน์ให้แก่ตัวผู้ใช้ และสังคมไม่น้อย เช่น จุดประกายให้ผู้อื่นนำการใช้ภาษาไปเป็นตัวอย่าง เพราะเห็นการใช้ภาษาที่ประณีตและสวยงาม ช่วยเพิ่มเครือข่ายทางสังคม ช่วยพัฒนาสายอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา ที่สำคัญคือ หากใช้ด้วยความตระหนักในคุณค่าที่เป็นภาษาประจำชาติด้วยแล้ว ก็จะเป็นการช่วยสืบทอดมรดกด้านภาษาให้คงอยู่ต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า การใช้ภาษาไทยในสื่อเฟซบุ๊กกำลังประสบปัญหา และส่งผลกระทบในวงกว้าง คุณค่า และเอกลักษณ์ของภาษาไทยค่อยๆ เลือนหายไป เช่น ใช้ภาษาพูดปนกับภาษาเขียน ใช้ภาษาฟุ่มเฟือย ใช้สรรพนามผิด ใช้คำขานรับผิด ใช้คำเรียกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ บัญญัติศัพท์ขึ้นเอง ออกเสียงไม่ถูกต้อง และใช้คำผิดหลักไวยากรณ์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีความรู้ด้านทักษะทางภาษาเพียงผิวเผิน การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการใช้ภาษาอย่างถ่องแท้ การขาดโอกาสที่จะเรียนรู้สุนทรียภาพ ความประณีต และความไพเราะของถ้อยคำจาก “ตัวอย่าง” ที่ดี
 
การที่สถาบันการศึกษาไม่เข้มงวดต่อการใช้ภาษาไทยของเด็กไทย การมีพฤติกรรมตามใจตัว การได้รับอิทธิพลการใช้ภาษาจากดารา สื่อมวลชน เพลง ละคร โทรทัศน์ และภาพยนตร์ และการสร้างกระแสจากการบัญญัติคำ วลีขึ้นใหม่ เมื่อมีคนมากดไลก์ (Like) มากๆ ทำให้รูปแบบการใช้ภาษานั้นๆ กลายเป็น “ชุดความรู้” ใหม่ที่คนนำมาอ้างอิงกัน จนกว่าจะมี “ชุดความรู้” ที่ใหม่กว่ามากดทับ “ชุดความรู้” เดิม และถือว่าเป็นการสร้างตัวตนของผู้คิดค้นด้วย
 
ผลที่ตามมาคือ สังคม (อาจ) จะพิพากษาได้ว่า เป็นผู้ไม่รู้จักกาลเทศะ ขาดสัมมาคารวะ ขาดการศึกษา ขาดการให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกัน ยิ่งหากผู้อ่านที่ขาดวุฒิภาวะเกิดนำรูปแบบการใช้ภาษานั้นๆ ไปเป็นแบบอย่างด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ภาษาดำดิ่งลงไป ผู้ใช้ภาษาจึงพึงระมัดระวัง และมีวิจารณญาณในการเล่นเฟซบุ๊กให้มากขึ้น เลือกใช้ให้ถูกต้อง เหมาะสม ก่อนที่จะพิมพ์ให้หยุดคิดสักนิดว่าเมื่อส่งข้อความไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อตน และสังคมหรือไม่ อย่าคิดเพียงสนุกไปวันๆ
 
ขณะที่ อ.วราเมศ วัฒนไชย  กล่าวถึงปัญหาการเขียนภาษาไทยว่า ภาษาของมนุษยชาติในระยะเริ่มต้นนั้นมักเป็นภาษารูปภาพดังที่เราพบเห็นบนฝาผนังถ้ำตามแหล่งอารยธรรมโบราณ แล้วจึงพัฒนามาเป็นตัวอักษรที่ดัดแปลงมาจากรูปภาพ ความมหัศจรรย์ของภาษามนุษย์ประการหนึ่งก็คือ การที่เราสามารถใช้ภาษาทั้งพูด และเขียนสื่อสารเรื่องราวได้อย่างไร้ขอบเขต สามารถสื่อสารถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้น เรื่องจริงหรือเรื่องเท็จได้แทบทั้งสิ้น ตลอดถึงสามารถสื่อความถึงความคิดอันลึกซึ้ง และความรู้สึกอันละเอียดอ่อนได้ ดังปรากฏในคัมภีร์ศาสนาและวรรณคดีของชาติ เป็นต้น
 
ทว่า ในปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความสามารถในการใช้ภาษาของมนุษย์กำลังค่อยๆ ลดน้อยถอยลง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยความรวดเร็วของระบบเทคโนโลยีทางการสื่อสารต่างๆ เมื่อผนวกเข้ากับวิถีชีวิตที่ต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา ทำให้มนุษย์ให้ความสนใจ หรือให้ความสำคัญต่อความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษาน้อยลง โดยเฉพาะรูปแบบการเขียนที่ดีค่อยๆ สูญหายไปจากชีวิตประจำวัน
 
ตัวอย่างที่พบเห็นได้คือ การเขียนบันทึกประจำวัน ซึ่งต้องอาศัยการเรียบเรียงที่เป็นลำดับขั้นตอนและการอธิบาย เพื่อให้เห็นภาพเหตุการณ์ และบุคคลที่เราเขียนถึงก็กำลังถูกแทนที่ด้วยเส้นเวลา (timeline) และเครือข่ายสังคม (Social Network) สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ก็คือ มีการนิยมใช้ตัวการ์ตูน (Sticker) ต่างๆ แทนคำพูด แทนอารมณ์ความรู้สึก และบางครั้งตัวการ์ตูนเหล่านี้ยังมีเสียงพูดแทนอีกด้วย
 
การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การต้านทานกระแสเทคโนโลยี แต่ควรส่งเสริม ฝึกฝนการเขียนที่มีการเรียบเรียงความที่ดี ทั้งในรูปแบบของการเขียนเรียงความ การตอบข้อสอบอัตนัย และการจดคำบรรยาย ที่สำคัญคือ ไม่ควรละเลยวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ทุกวิชา
 
นอกจากนี้ ผู้ใช้เครือข่ายสังคม (Social Network) และพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เด็กๆ ฝึกฝนการเขียน อาจจะเป็นการเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยอาจจะเขียนลงบนเส้นเวลา (timeline) บนเครือข่ายสังคม (Social Network) ตามความสะดวก และตามสมัยนิยม หากแต่ทุกครั้งที่เขียนควรเขียนด้วยภาษาที่เป็นระเบียบ ผ่านการเรียบเรียงมาแล้วเสมอ
 
ด้าน ดร.สมิทธิชา พุมมา กล่าวเสริมว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลนิสิตที่เรียนภาษาไทยพื้นฐานในระดับอุดมศึกษา พบว่า นิสิตมีความสามารถทางทักษะการใช้ภาษาด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนในระดับปานกลางเท่านั้น กล่าวคือ ทักษะการฟัง มีความตั้งใจฟังน้อยมาก ส่วนใหญ่จะก้มหน้าก้มตาใช้เครื่องมือสื่อสาร โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หรือที่เรียกว่า “สังคมก้มหน้า” ทำให้ฟังสิ่งต่างๆ ได้ไม่ดี ไม่จดจ่อ ทำให้ขาดทักษะในการสรุปความ และตีความ
 
ทักษะการพูด พบว่า ผู้ใช้ขาดความมั่นใจ และไม่กล้าแสดงออก ขาดการเตรียมตัว และการฝึกซ้อมที่ดี ขาดการวางโครงเรื่องที่เป็นลำดับ ทำให้พูดวกวน ขาดการพิจารณาเรื่องที่พูด หรือมีแนวคิดในทางลบ ทำให้เรื่องที่พูดเป็นการเข้าใจผิด ใส่ร้ายหรือไม่สร้างสรรค์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องของการออกเสียง เช่น การออกเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ไม่ชัดเจน
 
ด้านทักษะการอ่าน พบว่าผู้ใช้มีสมาธิสั้น ไม่จดจ่อต่อการอ่าน ทำให้อ่านและจับประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ได้ รวมไปถึงไม่สามารถตีความสัญลักษณ์ในเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี และออกเสียงผิด เช่น คำบาลี-สันสกฤต อักษรย่อ ตัวเลข เครื่องหมายต่างๆ การเว้นวรรคตอน
 
ส่วนทักษะการเขียนพบว่า มีพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนน้อย มีปัญหาเรื่องรูปแบบ เนื้อหา สะกดผิดบ่อย ที่พบบ่อย เช่น คำว่า ลายเซ็น อนุญาต คำนวณ  เฟซบุ๊ก เกมส์ ลิงก์โพสต์ อีเมล อินเทอร์เน็ต และดิจิทัล ซึ่งในท้ายที่สุดก็ส่งต่อความตกต่ำด้านการเรียนตามมาในที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น