xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตหนุนต่อยอดภูมิปัญญา “ส้มควาย” พืชพื้นเมืองเป็นสินค้า OTOP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต หนุนต่อยอดภูมิปัญญา “ส้มควาย” พืชพื้นเมืองภูเก็ต เป็นสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด ภายใต้แนวคิด “ส้มควายมหัศจรรย์ นวัตกรรม OTOP ภูเก็ต” เผยปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในรูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งเวชสำอาง การแปรรูปอาหาร เป็นสินค้าตัวใหม่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายพัลลภ สิงหเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประชุมร่วมเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP (Knowlege Based OTOP : KBO) และการลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาส้มควาย ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ตให้เป็น OTOP เด่นของจังหวัดภูเก็ต แบบยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด “ส้มควายมหัศจรรย์ นวัตกรรม OTOP ภูเก็ต” มีนางวรรณธนา ไฝสีดำ พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต และผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มอนุรักษ์ส้มควายบ้านสาคู กลุ่มอนุรักษ์ส้มควายบ้านบางหวาน ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาส้มควาย ประธานเครือข่ายโอทอปจังหวัดภูเก็ต เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พลังงานจังหวัดภูเก็ต พาณิชย์จังหวัดภูเก็ต และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต เข้าร่วม

นายนิสิต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต มีผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้า OTOP จำนวนมากที่โดดเด่น และมีความหลากหลาย เช่น สับปะรด มุก ผ้าบาติก น้ำพริกพื้นเมือง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งอาหารพื้นเมืองมากมาย ที่มีประวัติเรื่องราวความเป็นมาส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังมีภูมิปัญหาชุมชนอีกมากที่รอการพัฒนาต่อยอด ซึ่งการพัฒนานั้นต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อสร้างทางเลือก ขณะนี้สังคมกำลังตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญดูแลสุขภาพ นิยมสินค้าออแกนิก

ส้มควาย เป็นไม้ยืนต้น พืชพื้นเมืองของภูเก็ต พบมากตามป่าเขาผสมอยู่กับต้นทุเรียนบ้าน และต้นไม้อื่นๆ ส้มควายภูเก็ต มีความมหัศจรรย์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลใหญ่เนื้อมาก และมากด้วยสรรพคุณทางยา ทางโภชนาการ ประโยชน์นานัปการ ดำรงอยู่คู่ชีวิตของชาวภูเก็ต แต่โบราณกาลสืบมา และปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในรูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งเครื่องเวชสำอาง การแปรรูปเป็นอาหาร เป็นสินค้าตัวใหม่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดภูเก็ต ชุมชนอย่างน้อย 2 ชุมชน คือ บ้านสาคู หมู่ที่ 3 ต.สาคู อ.ถลาง และบ้านบางหวาน หมู่ที่ 1 ต.กมลา อ.กะทู้ ยังคงพยายามที่จะรักษาและอนุรักษ์ต้นส้มควายให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป และที่สำคัญต้องการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องยั่งยืน เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดภูเก็ต เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้บริโภคที่หลั่งไหลเข้ามายังจังหวัดภูเก็ตมากมายในแต่ละปี

จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในปี 2558 เพราะสถานการณ์ของส้มควายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าขั้นวิกฤต ภาคเอกชน ธุรกิจมีความต้องการที่จะใช้พื้นที่พัฒนาเป็นเมือง หากไม่ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ส้มควาย และเพิ่มประชากรส้มควาย โดยการส่งเสริมการปลูกเพิ่ม ส้มควายในจังหวัดภูเก็ตอาจหมดไปก็ได้ และอีกประการหนึ่งจังหวัดภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว หากสามารถนำภูมิปัญญาส้มควายมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ก็สร้างมารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้

แต่อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ส้มควายให้อยู่คู่ป่าตามธรรมชาติ เป็นเรื่องยากหากทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ตนจึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาพูดคุย ลงนามความร่วมมือใน 3 เรื่อง คือ 1.จะร่วมกันอนุรักษ์ ไม่โค่น ไม่ตัด ทำลาย ปลูกเพิ่มเติม ให้ส้มควายคงอยู่ คู่ป่าเขาในจังหวัดภูเก็ตสืบไป 2.จะพัฒนาคิดค้น ออกแบบ สนับสนุนส่งเสริมตามภารกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำภูมิปัญญาส้มควายไปพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดต่อไป และ 3.จะสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP (Knowlege Based OTOP : KBO)ร่วมพัฒนา “ส้มควายมหัศจรรย์” สร้างอาชีพ และรายได้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน และพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

และในปี 2558 นี้ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต ประสานงานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยกันพัฒนาเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาส้มควาย ให้เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP แบบยั่งยืน ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาส้มควาย ให้เป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ OTOP (ส้มควายมหัศจรรย์ นวัตกรรม OTOP ภูเก็ต) และดำเนินการใน 3 ขั้นตอนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนต้นน้ำ คือ การอนุรักษ์และปลูกทดแทนส้มควาย ซึ่งจะมีการปลูกเพิ่มอีก 400 ต้น จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติประมาณ 4,000 กว่าต้น กลางน้ำ คือ กระบวนการดูแลรักษาและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และปลายน้ำ คือ การส่งเสริมช่องทางการตลาด นายนิสิต กล่าวในที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น