ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เดินทางถึงภูเก็ตเตรียมเปิดรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เผยเครือข่ายชาวบ้านเกาะยาว จ.พังงา ประกาศพร้อมร่วมเคลื่อนไหวใหญ่ ด้านเครือข่ายผู้ประกอบการเกาะลันตาประชุมวางแผนเตรียมเคลื่อนใหญ่ไล่โรงไฟฟ้าถ่านหิน 6 มิ.ย.นี้ นักวิชาการยกข้อมูลแนะนายกฯ อย่าสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น
วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เดินทางถึง จ.ภูเก็ตแล้วในวันนี้ หลังจากที่เมื่อวานที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ไปรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา โดยเข้าพบปะกับแกนนำชาวบ้านในกลุ่มเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และกลุ่มแกนนำสตรีชุมชนเกาะยาว
โดยนายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ระบุว่า นับเป็นวันที่ 10 ที่ทีมแบ็กแพกเดินทางออกนอกชายฝั่งไปตามเกาะแก่งต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการรณรงค์ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา ดินแดนแห่งป่า นา เล สวยงาม และโดดเด่น ได้พบปะกับ 2 กลุ่มที่มีความเข้มแข็ง
“กลุ่มสตรีผ้าบาติก และชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยชุมชนเกาะยาวให้สัญญาใจว่าจะร่วมปกป้องอันดามันจากถ่านหินร่วมกัน พบกันอีกครั้งวันที่ 6 เดือนหน้าครับ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานที่ผ่านมา (29 พ.ค.) กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกาะลันตากว่า 50 คนได้ประชุมวางแผนจัดรูปแบบการเคลื่อนไหวต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ทางผู้ประกอบการได้ออกแถลงการณ์ในนามผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะลันตา ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่
ผู้เข้าประชุมรายหนึ่งระบุว่า “งานนี้ทีมลันตาแข็งขันเอาจริง ชัดเจน แล้วเจอกัน 6 มิถุนายน กฟผ.จะได้เห็นว่าไม่ใช่คนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่คัดค้านถ่านหิน”
ด้าน นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านพลังงานได้โพสต์ข้อความในเฟชบุ๊กส่วนตัว Decharut Sukkumnoed ระบุว่า กราบเรียน ท่านนายกรัฐมนตรี ตามที่ท่านมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าไม่พอ และต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยด่วนนั้น กระผมขอนำเรียนข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดของระบบไฟฟ้าไทยดังนี้
ปี พ.ศ.2558 ระบบไฟฟ้ามีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 27,198 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2558 ต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ในแผน PDP 2015 ซึ่งท่านเพิ่งพิจารณาอนุมัติไป 1,853 เมกะวัตต์ (หรือเกินไปมากกว่ากำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 2 โรง)
กำลังการผลิตติดตั้งที่มีอยู่ 34,780 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น เราจึงมีกำลังการผลิตสำรองเหลือในระบบ 7,582 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27.9 ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตสำรองมาตรฐาน (กำหนดไว้ร้อยละ 15) ไป 3,502 เมกะวัตต์ (เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 4 โรง) เทียบเป็นเงินลงทุนที่ต้องลงทุนเกินไปประมาณ 120,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ผู้บริโภคจะต้องรับภาระอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายทุกเดือน
ด้วยสถานการณ์ไฟฟ้าล่าสุดดังที่เป็นอยู่ กระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ระบบไฟฟ้าของไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบถึงร้อยละ 40 ในปี พ.ศ.2568
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ปรับเปลี่ยนแนวทางมิให้มีการเร่งสร้างโรงไฟฟ้าจนล้นเกิน และกลายเป็นภาระใหญ่สำหรับระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต