ยะลา - เผยจันทร์ที่ 13 ก.ค.นี้ทุกปั๊มน้ำมันใน 3 จชต.จะปิดให้บริการ โดยเป็นผลการเจรจาระหว่าง “นายก อบจ.” กับ “ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จชต.” ที่ยะลาไร้ข้อสรุป ซึ่งยังต้องรอชง “เลขาธิการ ศอ.บต.” ให้ทำหน้าที่ท้าวมาลีวราชอีกครั้ง
ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันปิดให้บริการปั๊มน้ำมันทั้ง 3 จังหวัด กว่า 150 แห่ง ในวันพรุ่งนี้ (13 กค.58) หลังการเจรจาขอผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีของ อบจ.ในพื้นที่ไม่เป็นผล
ที่ห้องประชุมนิบงบนศาลากลาง จ.ยะลา ช่วงบ่ายวันนี้ (12 ก.ค.) ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางเข้าร่วมหารือ และหาข้อสรุปกับนายก อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลังมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงมาตรการที่ อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดได้เรียกเก็บภาษี ณ หัวจ่ายในทุกปั๊มน้ำมันในพื้นที่เพิ่มอีกลิตรละประมาณ 5 สตางค์ โดยการเข้าหารือร่วมกันในครั้งนี้ มีนายอุดร น้อยทับทิม รองผู้ว่าฯ ยะลา ร่วมเป็นสักขีพยาน อีกทั้งทำหน้าที่คนกลางในการร่วมให้ความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางฝ่าย อบจ.ทั้ง 3 จังหวัด มีเพียงนายมุขตา มะทา นายก อบจ.ยะลา เพียงผู้เดียวที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมหารือ โดยไร้วี่แววทั้งนายก อบจ.ปัตตานี และนายก อบจ.นราธิวาส หรือแม้กระทั่งการส่งตัวแทน ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ใช้เวลาหารือร่วมกันราว 2 ชั่วโมง
โดยฝ่ายชมรมผู้ค้าน้ำมันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ยืนข้อเสนอให้มีการผ่อนปรนกรณีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มที่หัวจ่ายลิตรละ 5 สตางค์ โดยให้เหตุผลว่า จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภค พร้อมกับให้ อบจ.ถอนแจ้งความต่อปั๊มน้ำมัน 3 แห่งใน จ.นราธิวาส
ขณะที่นายก อบจ.ยะลา ได้รับข้อเสนอ แต่ไม่สามารถจะตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวได้ ต้องมีการประชุมหาร่วมกับนายก อบจ.อีก 2 จังหวัด คือ ปัตตานี และนราธิวาสที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในวันนี้ก่อน
น.ส.สมหญิง ชัยรัตนมโนกร ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าน้ำมัน จ.ยะลา เปิดเผยว่า การหารือในวันนี้สรุปแล้วคือ ฝ่าย อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดยังไม่สามารถให้คำตอบตามข้อเสนอที่ได้ยื่นไป ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ผู้ประกอบการค้าน้ำมันใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยืนยันที่จะดำเนินการหยุดให้บริการ หรือปิดปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ในพื้นที่กว่า 150 แห่ง อย่างไม่มีกำหนด
ด้านรองผู้ว่าฯ ยะลา ในฐานะคนกลางกล่าวว่า ทางชมรมผู้ค้าน้ำมันต้องการให้ อบจ.ดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากคลังน้ำมัน ไม่ใช่เก็บจากหัวจ่ายในปั๊ม เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องมาเป็นผู้รับภาระ แต่ทาง อบจ.ไม่สามารถจะดำเนินการได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายที่จะต้องให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ เป็นผู้แก้ไขข้อกฎหมายเสียก่อน
“ความจริงเรื่องนี้ทาง อบจ.ได้มีการลดหย่อนการเก็บภาษีมาตั้งปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเวลาก็กว่า 16 ปีแล้ว เมื่อมีกฎหมายข้อบังคับมาทาง อบจ.เองจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างขัดข้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ ศอ.บต.เพื่อให้ประสานผู้ค้าน้ำมัน และ อบจ.มาเจรจาหาข้อยุติ หรือดำเนินการทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งจะต้องรอให้นำเสนอต่อ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต.อีกครั้ง”