โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
หากประเทศไทยไม่ถูกสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วไปก็คงยังไม่มีโอกาสได้รู้ว่า ที่ผ่านๆ มาในน่านน้ำไทยมีเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายออกทำการประมงอยู่กว่า 1 หมื่นลำ และเกือบจะทั้งหมดเป็นเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งกรมเจ้าท่าสำรวจพบว่าเป็นเรือที่ไม่มีทะเบียนถึง 16,900 ลำ ส่วนเรือที่ตรงตามทะเบียนจริงมี 28,000 ลำ จากจำนวนเรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 42,051 ลำ
เรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายกว่า 16,900 ลำดังกล่าวคือ ประจักษ์พยานของ “ความล้มเหลว” ในนโยบายการแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เป็นปัญหาเรื้อรังมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2503 ที่เริ่มนำเครื่องมืออวนลากที่จับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้นมาใช้ทำประมง
ทว่า จากการศึกษาวิจัยในปี 2513 พบว่า การทำประมงด้วยอวนลากส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินจนเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยในปี 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน เกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอย่างมหาศาล
สะมะแอ เจ๊ะมูดอ ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัดของไทย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 85% ของชาวประมงในประเทศ ต้องได้รับความเดือดร้อนจากเรือประมงพาณิชย์อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟอย่างสาหัสสากรรจ์
“ปี 2515 กระทรวงเกษตรฯ ห้ามทำประมงอวนลาก และอวนรุนในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง ป้องกันความขัดแย้งต่อชุมชน และไม่ให้ทำลายทรัพยากรมากเกินไป แต่ปรากฏว่า กลุ่มทุนจำนวนมากยังคงบุกรุกเข้ามาจับปลาในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร เรือประมงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของนักลงทุน พวกเขาลงทุนใช้เครื่องมือชั้นเลว เพื่อหวังกอบโกยทำร้ายทรัพยากรทะเลและชาวประมงอื่นๆ มาโดยตลอด แม้ว่าไทยจะมีนโยบายควบคุมเครื่องมือประมงเหล่านี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น พวกเขาก็ใช้วิธีการลักลอบทำอย่างผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมมักวิ่งเต้นจ่ายค่าปรับ แล้วกลับมาทำผิดต่ออีก”
จากการศึกษาของ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง พบว่า การแก้ปัญหาประมงของไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หลังพบว่าเครื่องมืออวนลากได้ส่งผลกระทบหลายด้าน โดยในปี 2523 กรมประมงประกาศไม่ออกใบอนุญาตทำประมงให้แก่เรือประมงอวนลากใหม่ เพื่อลดจำนวนในระยะยาว
แต่ด้วยความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ และกลุ่มประมงอวนลากในขณะนั้น ทำให้กรมประมงอนุญาตให้เรืออวนลากผิดกฎหมายที่ไม่มีทะเบียน ได้ไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน ซึ่งการแก้ปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้น 3 ครั้ง คือ ในปี 2525 ปี 2532 และปี 2539 เป็นนโยบายการแก้ปัญหาแบบไม่ฟังเสียงท้วงติงของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ
ล่าสุด คือปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอแก้ปัญหาประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย ด้วยการนิรโทษกรรมเรือเถื่อนเช่นกัน ซึ่งนโยบายการแก้ปัญหาลักษณะนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหา และควบคุมเรือประมงผิดกฎหมายได้จริง
บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ความเห็นว่า ผลประโยชน์จากเรือประมงพาณิชย์อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟผิดกฎหมาย ล้วนเกี่ยวโยงต่อกลุ่มข้าราชการ และนักการเมืองเกือบทุกพรรค และพบว่า สัตว์น้ำที่เรือเหล่านี้จับขึ้นจากทะเลคือ สัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด
“แล้วส่งขายให้แก่โรงงานปลาป่นในเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับ ‘เจ้าสัว’ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการ และนักการเมืองทุกพรรคและทุกรัฐบาล” บรรจง กล่าวก่อนเสริมว่า
สัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมหาศาลถูกจับไปส่งโรงงานปลาป่น เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงหมู ไก่ กุ้ง และปลาในฟาร์มเพาะเลี้ยงของบริษัทยักษ์ใหญ่ แหล่งอาหารโปรตีนของคนไทยจึงถูกแย่งชิงไปใช้ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ธุรกิจเรือประมงอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ยังก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานทาส แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนกล้าจัดการเพราะผลประโยชน์มันมหาศาล
แต่หลังจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ประกาศบังคับใช้กฎระเบียบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือ IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) อย่างเป็นทางการเมื่อ 29 ก.ย.2551 และกฎข้อบังคับนี้เริ่มมีผลต่อไทยในวันที่ 1 ม.ค.2553 การแก้ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายของไทยก็ได้ถูกจับตามองอย่างลับๆ จากคณะทำงานที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปแต่งตั้งให้ติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
แล้วก็พบว่า การแก้ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายของไทยไม่มีอะไรพัฒนาไปในทางที่ดีเลย จนนำมาสู่การให้ “ใบเหลือง” แก่ไทย
นับจากวันที่ได้รับใบเหลืองจาก EU รัฐบาลไทยมีเวลา 6 เดือนเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย โดยได้ออกมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง 2.การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU 3.การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 4.การพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้า-ออกท่าของเรือประมง 5.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ และ 6.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ดำเนินการภายใน 60 วัน มีผลเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
ส่งผลทำให้เรือประมงพาณิชย์ผิดกฎหมายกว่า 1 หมื่นลำ พากันมาจอดเทียบท่าไม่กล้าออกทะเล
มาตรการแก้ปัญหาครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเรือประมงผิดกฎหมายอยู่ในครอบครอง รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำประมงล้วนได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน นักการเมืองบางคนจึงต้องออกโรงนำเสนอทางแก้แบบเดิมๆ คือ ให้นิรโทษกรรมเรือเถื่อนเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านๆ มา
ขณะที่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการนิรโทษกรรมเรือเถื่อน พร้อมเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ยุติการทำลายล้าง แล้วหันมาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ภาคประชาชนเสนอแนะต่อรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐแต่อย่างใด
ล่าสุด 9 ก.ค.กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมประมงได้ส่งหนังสือตอบรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาสังคมต่อกรณีใบเหลืองประมงจากสหภาพยุโรป โดยกรมประมงได้จัดทำร่างนโยบายการบริหารจัดการประมงทะเลไทยที่มีแผนระดับชาติในการป้องกันและยับยั้ง IUU fishing และมีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสมาคมประมง ผู้ประกอบการ และประมงพื้นบ้านเข้าร่วมให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นต่อการจัดการในเรื่องนี้ โดยระบุว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือประมงทำลายล้าง 3 ชนิดคือ อวนลาก อวนรุน และเครื่องมือจับปลากระตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน
กรีนพีซ ระบุว่า การยืนยันจากกรมประมงนี้ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการฟื้นฟูทะเลไทย จากวิกฤตการทำประมงเกินศักยภาพที่ดำเนินสืบเนื่องมาหลายทศวรรษ และการยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ยังจะส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยมีโอกาสเติบโต และขยายพันธุ์ และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้บริโภค และสังคมไทยในระยะยาว
ส่วนนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่า การที่กรมประมงได้นำข้อคิดเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงในร่างนโยบายการจัดการดังกล่าว โดยเนื้อหาสำคัญคือ ไม่มีการนิรโทษกรรมเครื่องมือทำลายล้างทั้ง 3 ชนิด เป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดัน และรณรงค์ร่วมกันของประชาชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ต่อสู้เรียกร้องประเด็นนี้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาอย่างยาวนาน โดยความสำเร็จจากการรณรงค์ร่วมกันในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูทะเลไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมกันของชาติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
“การตอบรับ และตัดสินใจเรื่องไม่นิรโทษกรรมเครื่องมือประมงผิดกฎหมายทั้ง 3 ชนิด เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่ภาครัฐมีความใส่ใจนำข้อคิดเห็นจากประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการแก้ปัญหา และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลระดับชาติ และในอนาคตหวังว่าจะเกิดการจัดการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้ต่อไป”
ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายคนมองเห็นว่า การแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายของไทยที่เรื้อรังมานานกว่า 40 ปี เริ่มมีเค้าลางของความสำเร็จปรากฏให้เห็นบ้างแล้วในวันนี้