xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานพัฒนาที่ดินรณรงค์เกษตรกรพัทลุงไถกลบปอเทืองแทนใช้สารเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - สำนักงานพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมไถกลบปอเทืองเพื่อเสริมแร่ธาตุในดิน รณรงค์เกษตรกรพัทลุงให้ใช้การไถกลบปอเทืองแทนการใช้สารเคมี และมีการให้ความรู้แก่เกษตรกร พร้อมแนะวิธีการทำปุ๋ยหมักสูตรพระเทพฯ เพื่อนำไปใช้ที่บ้าน

วันนี้ (1 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทุ่งนาบ้านไสหลวง ท้องที่ ม.10 ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง สำนักงานพัฒนาที่ดินร่วมกับเกษตร ผู้นำท้องถิ่น จัดกิจกรรมไถกลบปอเทืองเพื่อเสริมแร่ธาตุในดิน และเป็นการขับเคลื่อนเมืองเกษตรเขียวที่จะลดปัจจัยการปลูกพืช และลดการใช้สารเคมีให้แก่เกษตร
 

 
โดยกิจกรรมในวันนี้ ทางสำนักงานพัฒนาที่ดิน ได้ให้องค์ความรู้แก่เกษตรกร พร้อมแนะวิธีการทำปุ๋ยหมักสูตรพระเทพฯ ให้แก่เกษตรกรนำไปใช้ที่บ้านจากการเอาเศษวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาทำการไถกลบตอซัง และการใช้ปุ๋ยน้ำหมักในการย่อยสลาย พร้อมทั้งการไถหว่านปอเทือง ลดการเผาตอซัง แก้ปัญหามลพิษในอากาศ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้มีการไถกลบปอเทืองที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งเพื่อทำเป็นปุยพืชสดในแปลง

ด้าน นายณรงค์ ทองเหล่ หัวหน้าสำนักงานสถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง กล่าวว่า โครงการรณรงค์งดเผาตอซังข้าว โดยให้มาใช้วิธีไถกลบลงดินแทน เนื่องจากในตอซังข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณอินทรียวัตถุอยู่กว่า 300 กก. ถ้าเกษตรกรเผาก็เป็นการทำลายอินทรียวัตถุ เมื่อปลูกข้าวรอบใหม่จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเติมกลับไปใหม่ ซึ่งความจริงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผามาไถกลบตอซังข้าวฟางข้าว
 

 
โดยปล่อยน้ำเข้านา และใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.2 หมักไว้ประมาณ 7 วัน ซึ่งน้ำหมักชีวภาพนี้จะเป็นตัวย่อยสลายตอซัง และช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ อินทรียวัตถุ ที่จะช่วยฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ยิ่งถ้าเกษตรกรมีการปลูกพืชปุ๋ยสดร่วมด้วย เช่น ปอเทืองในอัตรา 5 กก.ต่อไร่ปลูกไปประมาณ 45 วันแล้วไถกลบลงดิน จะได้ปริมาณน้ำหนักสดอยู่ที่ 2-3 ตันต่อไร่ จะได้ไนโตรเจนประมาณ 13 กก.ฟอสฟอรัส 12 กก.โพแทสเซียม 14 กก.ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่านา 1 ไร่ ผลผลิตข้าวเฉลี่ย 600 กก.จะต้องใช้ไนโตรเจนประมาณ 12-13 กก.ฟอสฟอรัส 11 กก.โพแทสเซียม 13 กก. ดังนั้น การปลูกปอเทืองจึงมีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับการทำนาในฤดูต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี

นายณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันการดำเนินโครงการได้เริ่มขึ้นในพื้นที่ ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน และได้ขยายไปยังพื้นที่ตำบล และอำเภออื่นของจังหวัดพัทลุงมากขึ้น เกษตรกรมีความตื่นตัวสูงในการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกข้าว ในการลดใช้สารเคมี แถมยังช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกมีสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งผู้บริโภคก็ลดความเสี่ยงจากสารปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ที่ติดกับผลผลิต
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น