xs
xsm
sm
md
lg

ประมงสงขลาหยุดออกเรือเลี่ยงถูกจับ “ส.รักษ์ทะเลฯ” แนะรัฐสั่งเลิกเครื่องมือทำลายล้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เรือประมงสงขลาทยอยหยุดออกเรือป้องกันถูกจับกุม เผยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรือที่ใช้เครื่องมือจับปลาไม่ตรงกับที่แจ้งในใบอนุญาต ขณะที่นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เสนอรัฐบาลออกประกาศยกเลิกการทำประมงด้วยเรืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟปลดล็อกใบแดงอียู ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
 

 
วันนี้ (1 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีที่ภาครัฐมีมาตรการจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา หลังจากที่กลุ่มอียูให้ใบเหลืองประเทศไทย ซึ่งเริ่มดำเนินการเป็นวันแรก พบว่า ที่ จ.สงขลา เรือประมงทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่จำนวนมากยังคงจอดลอยลำจนล้นท่าจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือประมงใหม่ จ.สงขลา ขณะที่บางส่วนทยอยกลับเข้าฝั่ง และขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือก่อนที่จะนำมาจอด และหยุดออกเรือเช่นเดียวกัน เนื่องจากเรือประมงใน จ.สงขลา ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือประมงที่ใช้ ทำให้บรรยากาศตามท่าเทียบเรือเริ่มเงียบเหงา รวมทั้งแพปลาพากันทยอยหยุดทำงาน เนื่องจากปริมาณสินค้าสัตว์น้ำที่ลดลงเพราะเรือประมงหยุดออกหาปลา
 

 
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา เปิดเผยว่า ในส่วนของ จ.สงขลา เรือประมงกว่า 1 พันลำ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องต่อการประมง เช่น แพปลา โรงน้ำแข็ง จะหยุดกิจการพร้อมกันทั้งหมดในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากร้อยละ 90 ของเรือประมงใน จ.สงขลา เป็นเรือที่มีอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือประมงที่ใช้ จึงต้องหยุดออกจับปลาเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
 

 
ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อปลดล็อกป้องกันการให้ใบแดงของกลุ่มอียู ว่า หากเป็นไปได้ต้องการเสนอให้รัฐบาลประกาศหยุดเรือประมงอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล เหมือนกับกรณีของประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ออกกฎหมายยกเลิกเรืออวนลากไปแล้ว

“แต่ในประเทศไทยพบว่า มีเรือประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะเรืออวนลากเพิ่มขึ้นถึง 16,000 ลำ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 4,700 ลำ ซึ่งเป็นการลักลอบสวมทะเบียนปลอมจาก 1 ลำ เป็น 5 ลำ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2523 ได้มีการควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนเรืออวนลากโดยไม่ต่ออาชญาบัตรให้ แต่กลับพบว่ามีจำนวนเรืออวนลากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
 
 

นายบรรจง กล่าวว่า ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายทั้งอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อียูให้ใบเหลืองแก่ไทยแล้ว ที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบต่อชาวประมงชายฝั่งใน22 จังหวัดของประเทศไทยนับแสนครัวเรือนที่ต้องเลิกอาชีพประมง และทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งล่มสลาย เนื่องจากอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง และในความเป็นจริงแล้ว 85 เปอร์เซ็นต์ของอาชีพประมงเป็นชาวประมงชายฝั่ง ส่วนที่เหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นการประมงผิดกฎหมาย กลับส่งผลกระทบในวงกว้างแต่เป็นกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมทั้งระบบ

“หากรัฐบาลประกาศยกเลิกเรือประมงเหล่านี้ เชื่อว่าภายใน 6 เดือนทรัพยากรสัตว์น้ำทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันก็จะกลับมาสมบูรณ์ และยังเป็นการปลดล็อกการให้ใบแดงของอียูด้วย แม้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยบ้างก็ตาม” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น