xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อท่านนายกฯ ประยุทธ์เริ่มฟังชาวบ้าน กรณีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ทำไปทำมาผมกลายเป็นแฟนประจำของรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ไปแล้ว วันไหนไม่ได้ฟังก็ต้องค้นจากเว็บไซต์มาอ่าน มาสแกนหาประเด็นที่ผมสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องพลังงานซึ่งท่านได้พูดถึงมาหลายสัปดาห์ติดต่อกันแล้ว
 
ย้อนหลังไป 2 สัปดาห์ ท่านพูดเรื่องถ่านหินราคาถูก ถัดมาท่านพูดถึงเรื่องสายส่งเต็ม ไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ทั้งหมด “ถ้าอยากทำก็ทำใช้เองในบ้าน อันนี้เรายินดีอยู่แล้ว” (12 มิ.ย.58) และล่าสุด ท่านพูดถึงโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100%

ประเด็นที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาในคำพูดของท่านเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ท่านได้เปิดใจรับฟังเรื่องราวของชาวบ้านธรรมดาๆ ซึ่งไม่ค่อยได้มีโอกาสในการเสนอความเห็นใดๆ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่ท่านรับตำแหน่งนายกฯ ใหม่ๆ ได้เกิดกระแสต้านสัมปทานปิโตรเลียม มีคนตัดพ้อว่า “นายกฯ ฟังแต่ข้อมูลของทางราชการ” ท่านนายกฯ ก็สวนกลับทันทีว่า “ถ้าไม่ให้ผมฟังข้าราชการ แล้วจะให้ผมฟังใคร” 

ใครจะหาว่าผมเป็นคนอย่างไรก็ตาม แต่ผมเรียนตามตรงว่า ผมรู้สึกเห็นใจท่านนายกฯ ครับ เพราะท่านยืนอยู่ในตำแหน่งที่ถูกปิดล้อมด้วยคน และระบบราชการที่ไม่ทันสมัย นอกจากนี้ ตัวท่านเองก็ถูกฝึกมาด้วยระบบราชการทหารที่เข้มงวดกว่าปกติเสียอีก ที่สำคัญกว่านั้น พวกข้าราชการระดับสูงด้านพลังงานมักจะไปนั่งเป็นกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานด้วย ดังนั้น ข้อมูลรวมทั้งวิธีคิดของข้าราชการเหล่านั้นมักจะเพี้ยนไปตามผลประโยชน์ของหน่วยงานเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

ผมเองเคยได้รับคำแนะนำที่มีค่ามากจากอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งว่า “อย่าอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องออกไปหาชาวบ้านบ้าง เพราะการได้สัมผัสชาวบ้านนอกจากจะได้รับข้อมูลที่หาได้ยากแล้ว ยังได้รับอารมณ์ความรู้สึกติดไปด้วย” 

ชาวบ้านไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ดังนั้น ข้อมูลจากชาวบ้านจะถูกบ้างผิดบ้าง ผู้รับฟังก็ต้องพิจารณาเอาเอง แต่ที่สำคัญกว่านั้นการได้รับฟังจากชาวบ้านโดยตรงมันทำให้เกิดพลังความมุ่งมั่นภายในจิตใจด้วย เปรียบเทียบกันง่ายๆ ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ได้เห็น หรือเดินผ่านคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเห็นเพียงแค่ในรายงานท่านอาจจะไม่บรรลุธรรมก็เป็นได้

กลับมาที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ กับคำพูดในรายการล่าสุด ท่านก็ยังไม่ได้พบชาวบ้านหรอก ท่านพูดว่า

“ผมได้พบกับบุคคลต่างๆ ที่ได้มีส่วนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ผมอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ คือ ได้ยินมาจากชาวบ้านว่า ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในงานได้เล่าให้ฟังถึง พระครูวิมลปัญญาคุณ จากวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านเป็นนักประดิษฐ์ ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายชุมชนเข้มแข็งของรัฐบาลมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยได้นำโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงเรียนศรีแสงธรรม ที่เน้นการสอนนักเรียนให้พึ่งพาตนเองในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านพลังงานที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 100% เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวชายแดน และแหล่งเรียนรู้ชุมชนจนถึงเป็นต้นแบบโรงเรียนพลังงานเพื่อชาติ นอกจากนี้ ท่านยังได้ประดิษฐ์ “รถเข็นไฟฟ้าชุดนอนนา” เพื่อให้เกษตรกรได้นำไปใช้ตามท้องไร่ ทุ่งนาที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง โดยสามารถแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ สามารถปั๊มน้ำ สูบน้ำ เปิดไฟได้ ท่านได้เปิดอบรมให้ชาวบ้านที่สนใจไปแล้ว 2 รุ่น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก” 

ท่านนายกฯ ยังได้กล่าวต่อไปว่า

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้น ยังคง (ก) มีข้อจำกัดตามกฎหมาย ตามระเบียบที่ยังไม่ทันสมัยนัก อาจจะไม่สอดคล้องต่อ (ข) นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน กำลังแก้ไขอยู่ ที่อยากเห็นพี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ รวมทั้งให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสังคมด้วย ผมได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา (ค) ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาความเป็นไปได้ ในการปรับปรุงกฎหมายข้อบังคับต่างๆ เพื่อส่งเสริมนโยบายของรัฐ อย่าให้ขัดแย้งกัน ให้ไปดูว่าทำได้หรือไม่ จะมีผลกระทบอะไร อะไรที่ทำได้ ช่วยได้ ก็ทำไป อะไรยังไม่ได้ก็ต้องทำความเข้าใจ (ง) ปัญหาของเราก็คือ การสร้างความเข้าใจที่มีต่อกัน และเราก็ไปหาหนทางอื่นมาทดแทนจะได้เป็นกำลังใจให้กันและกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์ได้” เครื่องหมายข้อ (ก) ถึง (ง) นั้นผมเติมใส่เข้าไปเองครับเพื่อให้ผู้ท่านอ่านเห็นประเด็นสำคัญ 4 ประการ คือ (ก) ขีดจำกัดทางกฎหมาย (ข) นโยบายของรัฐบาลให้ประชาชนเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือตนเอง และชุมชน สิ่งแวดล้อม (ค) มาตรการแก้ไข และ (ง) การสร้างความเข้าใจต่อกัน ซึ่งผมเองก็งงๆ อยู่ว่า ท่านนายกฯ หมายถึงอะไรกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อความที่ว่า “เราก็ไปหาหนทางอื่นมาทดแทน” ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะอ่านต่อไป ผมขออนุญาตเสนอแผ่นสไลด์ซึ่งผมได้นำเสนอในเวทีสัมมนาเรื่อง “สิทธิชุมชนและสิทธิการพัฒนา : จากองค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์” เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน นี้ซึ่งพอมองเห็นความสอดคล้องต่อสิ่งที่ท่านนายกฯ พูด
 

 
ผมว่าสาระสำคัญที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ พูดกับข้อความในแผ่นสไลด์ของผมคล้ายกันมากโดยบังเอิญครับ เพียงแต่ของผมมันดูหวือหวากว่า เช่น “ทุบกำแพงอุปสรรค” แต่ท่านนายกฯ ใช้ “ปรับปรุงกฎหมายข้อบังคับ”

ยิ่งนโยบายของรัฐบาลที่ท่านว่ามานั้นที่แท้ก็คือ “คุณค่าสำคัญสองประการของมนุษย์” นั่นเอง แต่ขอถามจริงๆ สัก 2 ข้อเถอะครับว่า ถ้าเราเคารพหลักคุณค่าดังกล่าวอย่างเคร่งครัดจริง โดยไม่หน้าไหว้หลังหลอกกันแล้ว (1) เราจะยังเรียกตัวเองว่าเป็นอิสระ หรือพึ่งตนเองได้ไหม ถ้าเรายังถูกบังคับ (ด้วยมือที่มองไม่เห็น) ให้ต้องซื้อพลังงานจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีใหม่ได้เปิดโอกาสให้เราผลิตใช้เองได้แล้ว และ (2) การใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งนักวิทยาศาสตร์สรุปแล้วว่า ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อโลกมากที่สุด ยังคงเป็นการเคารพต่อหลักคำสอนข้อที่สองที่พ่อแม่ของได้เราปลูกฝังอบรมมาตลอดอยู่หรือ?

คราวนี้เรามาว่ากันทีละข้อตามท่านนายกฯ ได้ปรารภมาตั้งแต่ (ก) ถึง (ง) กันครับ เรียกว่าผมขอเปิดทางเลือกให้ท่านนายกฯ ได้ฉุกคิด อย่างน้อยก็อาจทำให้ท่านไม่ตกอยู่ในสภาพ “ถ้าไม่ให้ผมฟังข้าราชการ แล้วจะให้ผมฟังใคร”

ข้อ (ก) เรื่องกฎระเบียบ หรือกฎหมายของการไฟฟ้าฯ ทั้งนครหลวง และภูมิภาคได้กำหนดว่าแต่ละหน่วยงานเป็นผู้ขายไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว ในแต่พื้นที่ที่ได้ตกลงแบ่งกันไว้แล้ว กฎระเบียบนี้คงมีมาตั้งแต่ 40-50 ปีมาแล้ว ตอนนั้นเทคโนโลยีใหม่ของมนุษย์ยังไม่เกิด มนุษย์ยังคงใช้หลักการของเครื่องจักรไอน้ำซึ่งได้ค้นพบมาเมื่อ 300 ปีมาแล้ว

เทคโนโลยีนี้นอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิตที่โรงไฟฟ้าถึง 60% ซึ่งกลายเป็นความร้อนแล้ว ยังก่อมลพิษมหาศาล ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พืชใช้สังเคราะห์แสง นอกจากเกือบไม่มีการสูญเสียพลังงานแล้ว ยังไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยน้ำเสียอีกด้วย

ที่หน่วยงานของรัฐอ้างว่า ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีราคาแพงนั้นไม่เป็นความจริงในปัจจุบันครับ ในอดีตอาจจะเป็นความจริง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ครับ นี่สะท้อนว่าหน่วยงานของรัฐ “ไม่ทันสมัย”

ปัจจุบัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า 43 รัฐจาก 50 รัฐ ได้ออกกฎหมายให้ไฟฟ้าที่ชาวบ้านผลิตเองได้กับไฟฟ้าที่บริษัทไฟฟ้าส่งไปขายชาวบ้าน สามารถไปมาหาสู่กันได้ และเมื่อถึงเวลาจดบันทึกการใช้ไฟฟ้าเพื่อคิดเงิน ก็คิดเงินกันตามที่ปรากฏในบิล โดยที่ราคาค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาจะถูกกว่าในประเทศไทย ในบางรัฐ เช่น มินนิโซตา ราคาที่เจ้าของบ้านขายจะมีราคาสูงกว่าที่ชาวบ้านซื้อเสียด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาถือว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ได้ช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกได้ บริษัทไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากมาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้ามาให้บริการวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ทางการไฟฟ้าฯ อาจจะคิดสั้นๆ ว่า การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจากโซลาร์เซลล์จะทำให้การไฟฟ้าสูญเสียรายได้ แต่ความจริงแล้วการไฟฟ้าสามารถลดต้นทุนที่มากกว่ารายได้ที่หายไปเป็นไหนๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกฝ่ายได้กำไร

หากไม่เชื่อว่าราคาค่าไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาถูกว่าประเทศไทยก็ลองดูจากภาพนี้ครับ ซึ่งเป็นมูลค่าไฟฟ้าที่ทางโรงเรียนในสหรัฐฯ สามารถประหยัดได้จากจากการติดโซลาเซลล์
 

 
ปัจจุบันนี้ ทุกๆ 2 นาที คนอเมริกันจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นหนึ่งหลัง ในขณะเมื่อปีกลายต้องใช้เวลานาน 3 นาที หรือกว่า 6 พันเมกะวัตต์ ในขณะที่ในแผนพีดีพี 2015 ไทยแทบไม่กระดิก

ท่านนายกฯ ไปติดกับดักเรื่องสายส่งเต็ม สายส่งแพง รับซื้อทั้งหมดไม่ได้ เรื่องนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวครับ ที่สำคัญซึ่งประเทศเยอรมนีทำสำเร็จก็คือ การจัดลำดับความสำคัญว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงสะอาดสามารถขายได้ก่อน ส่งไปได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน พวกสกปรกขายได้ทีหลัง ดังนั้น เรื่องสายส่งเต็มเป็นมายาคติเท่านั้นเอง แต่จริงแล้วการสนับสนุนพ่อค้าพลังงานสกปรกสำคัญกว่า

ยังมีมายาคติอีกอย่างหนึ่งว่า พลังงานจากแสงแดดไม่แน่นอน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวเมฆมาบัดบังแดด ไม่เสถียร เป็นต้น ทำให้การผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักต้องได้รับผลกระทบ ยุ่งยากในการจัดการ

ผมมีหลักฐานจากโครงการโซลาร์เซลล์โรงเรียนในประเทศออสเตรเลีย (http://www.solarschools.net) จำนวน 1,500 โรง ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ละโรงมีกำลังผลิตแค่ 2-4 กิโลวัตต์ เป็นความจริงครับว่า อาจจะมีปัญหาฝนตก เมฆบัง ในบางโรงเรียน แต่เมื่อนำมารวมกันทั้งประเทศ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะสามารถคาดหมายได้ กล่าวคือจะกระจายตัวเป็นรูประฆังคว่ำตามเวลารับแสงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจดค่ำ ภาพนี้เป็นภาพสดๆ ประจำวันที่ 21 มิถุนายน จนถึงเวลาบ่าย 2 ที่ผมนั่งเขียนบทความอยู่ (ที่เห็นว่ารูปเบี้ยวทางขวามือเพราะยังไม่ถึงเวลาพระอาทิตย์ตก ในวันนี้ผลิตไฟฟ้าได้แล้วเกือบ 16,000 หน่วย คิดเป็นเงินก็กว่า 5 หมื่นบาท เสียดายแดด!)

สรุปก็คือ ทั้งประเทศมันจะเป็นอย่างนี้เองทุกวัน ใครๆ แม้แต่เด็กชั้นประถมศึกษาก็พยากรณ์ได้ 
 

 
ผมได้อธิบายความเห็นของท่านนายกฯ ครอบคลุมไปถึงข้อ (ข) และ (ค) เรียบร้อยแล้วครับ คงเหลือแต่ข้อ (ง) ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านหมายถึงอะไรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เราก็ไปหาหนทางอื่นมาทดแทน”
 
ในความเห็นของผมแล้ว ท่านจะไปหาหนทางอื่นมาทดแทนโดยการละเลยเหตุผลเชิงนโยบายในข้อ (ข) ของท่านเองไม่ได้นะครับ ไม่ได้จริงๆ ท่านเป็นชายชาติทหารที่ดูเข้มแข็ง ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม หรือเชื่อใคร

ในตอนท้ายท่านเรียกหา “กำลังใจให้กันและกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์” เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ผมเชื่อว่าประชาชนพร้อมจะให้กำลังใจกำลังใจท่านอย่างท่วมท้น ขอให้ท่านหนักแน่น ค้นหา และทำความจริงให้ปรากฏ สำหรับผลสัมฤทธิ์ก็แค่พลิกฝ่ามือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องวางแผนนาน เห็นผลทันตา ไม่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 6-8 ปี เหมือนโรงไฟฟ้าขนาดยักษ์

แต่ท่านจะเหยาะแหยะแล้วให้กลุ่มผลประโยชน์มาหากินบนผลประโยชน์ของชาติของประชาชนไม่ได้ สำนวนคนปักษ์ใต้โบราณที่คนรุ่นใหม่คงไม่ค่อยได้ยินแล้วว่าอย่า “ลอยช้อนตามเปียก” (คำว่าเปียก หมายถึงข้าวต้มในภาษาภาคกลางครับ) หรือไม่มีหลักการของตนเอง แต่ชอบเออออห่อหมกกับเขาเสมอไป มาถึงตอนนี้ผมเชียร์ท่าน ถ้าท่านรู้จักฟังชาวบ้าน เคารพประชาชน และทำอย่างจริงจังพร้อมมุ่งมั่นตามนโยบายในข้อ (ข) ที่ท่านพูดเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น