xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.สงขลา เพิ่มมูลค่ายางพารา ศูนย์เทคโนโลยีโลหะฯ ชี้ทิศทางวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา รับลูกศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พัฒนาหลักสูตรงานวิจัย เพิ่มมูลค่ายางพาราครบวงจร

 
วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางคณะฯ ได้จัดประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2 ฉลอง 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์ และนักศึกษาของคณะฯ โดยได้เชิญ ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง ทิศทางการวิจัยยางพาราในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ และเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลายสาขา

 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ในฐานะคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องต่อศาสตร์ที่กล่าวมาโดยตรง มีความจำเป็นต้องให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และตระหนักถึงบทบาทสาขาวิชาที่ตนเองเรียนอยู่กับการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ยางพารา ประกอบกับทางคณะฯ เปิดรับนักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ซึ่งมีการสอน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อผลิตภัณฑ์น้ำยาง ยางแห้ง นอกจากนั้น ทางด้านชีววิทยา หรือแม้แต่เกษตรก็สามารถดูแลเรื่องพันธุ์ยางได้

ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ได้แก่ การศึกษาสารตัวเติมในยาง การทำโฟมจากน้ำยาง การทำถุงมือยาง ซึ่งที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ไปในระดับนานาชาติ คือ การวิจัยวัสดุยืดหยุ่นแบบเทอร์มอพลาสติกที่ทำจากยางพารา และการวิจัยอิพ็อกซีเรซิน ผสมยางอิพ็อกไซด์ (ENR) รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยงข้องทางอ้อม คือ ทำไม้เทียมจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา นอกจากนั้น ปัจจุบันมีอาจารย์ในโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ทำวิจัยเกี่ยวกับการทำไม้เทียมจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราโดยนำมาผสมกับเทอร์มอพลาสติก

 
ด้าน ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ยางพาราเป็นวัสดุที่ได้จากพืช ดังนั้น การทำงานวิจัยด้านยางพารา จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะวัสดุศาสตร์อย่างเดียว การทำงานวิจัยควรครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ยางพารา น้ำยางพารา ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ฟองน้ำยางพารา ยางแห้ง เช่น อะไหล่รถยนต์ ล้อรถยนต์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง เช่น ไม้เทียมจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา ตลอดจนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านยางพารา รวมทั้งห่วงโซ่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพารา 

ในด้านนโยบายการวิจัยด้านยางพารา ขณะนี้หน่วยงานวิจัยและแหล่งทุนวิจัยหลายแห่ง เช่น สกว. วช. สวทช. กำลังพัฒนาการบริหารงานวิจัยให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ในการพัฒนาด้านยางพาราอย่างครบวงจร
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น