ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ผุดงานวิจัยใหม่แปรรูปยางธรรมชาติปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ลดความเปราะ “อิพ็อกซีเรซิน” ชี้ช่วยให้วัสดุมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และยังช่วยส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ยางธรรมชาติอีกด้วย
วันนี้ (23 มี.ค.) ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ และสมบัติเชิงกลของอิพ็อกซีเรซิน โดยใช้ยางธรรมชาติอิพ็อกไซด์ ซึ่งเป็นยางธรรมชาติที่ผ่านการดัดแปรทางเคมี เพื่อให้มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับอิพ็อกซีเรซิน และมีสมบัติที่เข้ากับอิพ็อกซีได้ดีขึ้น ว่าสามารถช่วยลดความเปราะของอิพ็อกซีเรซินลง
เหตุผลที่ต้องเป็นยางธรรมชาติอิพ็อกไซด์ เพราะปกติยางธรรมชาติมีความเข้ากันได้กับอิพ็อกซีเรซินน้อย ดังนั้น จึงต้องมีการดัดแปรโครงสร้าง อันเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ยางธรรมชาติ ในรูปแบบที่แตกต่างจากการใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยางพาราจะมีความนิ่ม เช่น แผ่นยาง หนังยาง เป็นต้น แต่งานวิจัยนี้จะช่วยให้วัสดุมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ลดความเปราะของวัสดุเหล่านั้นได้
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า อิพ็อกซีเรซิน เป็นวัสดุเทอร์มอเซตที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นวัสดุที่ใช้เป็นแผ่น IC งานก่อสร้าง และเคลือบพื้นโรงงานอุตสาหกรรม การจะแปรรูปอิพ็อกซีให้เป็นวัสดุที่ใช้งานได้ ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่เรียกว่า “กระบวนการแปรรูปเชิงปฏิกิริยา” เนื่องจากวัตถุดิบมีสถานะเป็นของเหลวที่เมื่อผ่านปฏิกิริยาการคงรูปกับสารเคมีที่เรียกว่า “สารคงรูป” จะได้วัสดุพอลิเมอร์ที่เป็นของแข็งแต่มีความเปราะ การเตรียมวัสดุอิพ็อกซีผสมยางธรรมชาติอิพ็อกไซด์ สามารถทำได้โดยการผสมอิพ็อกซีกับยางธรรมชาติอิพ็อกไซด์ในสภาวะน้ำยาง ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าในสภาวะของแข็ง หรือยางแห้ง
งานวิจัยดังกล่าว ผศ.ดร.พลพัฒน์ เป็นผู้จัดทำขึ้น โดยมีนักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา คือ น.ส.สุกันยา อุมารี และ น.ส.ยุวพร ไชยนรินทร์ เป็นผู้ช่วยวิจัย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Materials Science and Engineering