xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (๑) : “บ้านฉานไม่เหลือไหร แหม็ดทั้งไผทั้งโหนด” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก httpwww.oknation.netblogSTCC20101207entry-5
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
“บ้านฉานไหม้ไหร  มีแต่ไผกับโหนด  อำเภอระโนด  จังหวัดสงขลา  ไม่ใกล้ไม่ไกล  แม่เคยไปเคยมา
 อยู่จังหวัดสงขลา  อำเภอระโนด”
 
กลอนโนรา หรือเพลงบอกข้างต้นนี้ เป็นบทกลอนวรรคทองที่คุ้นหูชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเมื่อประมาณกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  เมื่อกล่าวถึง “คนทุ่งระโนด” หรือชาวบก หรือชาวคาบสมุทรสทิงพระ  ดินแดนที่มีพืชท้องถิ่นสำคัญเพียง  ๓  ชนิด คือ  ข้าว  ไม้ไผ่  และ  ตาลโตนด หรือโหนด  ที่มักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนแถบนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย  จนได้ชื่อว่า “สามเกลอหัวแข็งแห่งทุ่งระโนด”
 
ข้าว - ธัญญาหารจากสวรรค์ที่มากับหมาเก้าหาง  มีเทพธิดาประจำต้นข้าว คือ แม่โพสพ  มีพิธีกรรม และความเชื่อมากมายที่เกี่ยวข้องต่อข้าว  และการทำนาที่กลายเป็นวัฒนธรรมข้าว หรือวัฒนธรรมชาวนา  เช่น  การแรกไถนา  การแรกเก็บเกี่ยว  การทำขวัญข้าว  การไม่จุดไฟเผานาข้าว  ฯลฯ
 
ทุ่งระโนด ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าว และอู่น้ำตาลของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และภาคใต้  โดยเฉพาะในยุคค้าข้าวของลุ่มน้ำปากพนัง หรือยุคโรงสีไฟ-โรงสีใหญ่  ระโนดเป็นตลาดค้าข้าวที่สำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และจังหวัดสงขลา  สัมพันธ์กับโรงสีแดง (หับ โห้ หิ้น) ที่นครนอกสงขลา
 
การทำนาในยุคก่อนๆ ก่อนจะมีชลประทาน หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ที่ตำบลบ้านขาว เมื่อปี ๒๕๒๒  เป็นการทำนาแบบยังชีพคือ  ทำเพื่อกินในครัวเรือน  ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก  ทำนาเพื่อเอาข้าวไว้กิน  เหลือกินจึงขายตามความจำเป็น  เช่น  เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยไม่สบายหนัก  เมื่อต้องส่งเสียลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าระดับภาคบังคับ  หรือเมื่อถูกดำเนินคดีร้ายแรงถึงติดคุกติดตะราง  เป็นต้น
 
การทำนาในยุคนั้น เป็นการทำนาปี หรือนาหยามตามฤดูกาล  เป็นนาน้ำฟ้า อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ  บางปีฝนฟ้าดีตกต้องตามฤดูกาลก็ทำนาได้ผล  บางปีก็แล้งจนข้าวม้าน (ไม่ออกรวง)  หรือบางปีน้ำท่วม  มีพาย  ข้าวกล้าเน่าเปื่อยเสียหาย  บางปีก็เสียหายติดต่อกันทั้งแล้ง และท่วม  จนต้องอพยพไปหาที่ทำกินในต่างถิ่นแดนไกล  เช่น  ในนิคมสร้างตนเองในจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้  หรือไปจับจองซื้อหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าในต่างจังหวัด  ตั้งแต่ชุมพรลงมา  หักร้างถางพงสร้างเป็นเรือกสวนไร่นา  เมื่อประสบความสำเร็จก็ชักชวนเพื่อนบ้านไปอยู่เพื่อความอบอุ่นและพึ่งพากันตามอัธยาศัย
 
ปัจจุบัน การทำนาได้เปลี่ยนไปเป็นระบบการทำนาเพื่อขาย  ใช้การว่าจ้างทุกขั้นตอน  เรียกว่าเป็น “ผู้จัดการนา”  ตั้งแต่จ้างไถ  จ้างหว่าน  จ้างหว่านปุ๋ย  จ้างพ่นยาปราบศัตรูพืช  และจ้างเก็บเกี่ยว  แรงงานในครอบครัวมีความจำเป็นน้อยลงกว่าเดิม  ประกอบกับคนรุ่นหลังไม่นิยมทำนา  เพราะเป็นอาชีพที่ต้องเหน็ดเหนื่อย  และราคาผลผลิตไม่แน่นอน หรือมีกำไรน้อย
 
ตาลโตนด  ได้ชื่อว่าเป็นพืชท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวทุ่งระโนด หรือชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพรองลงมาจากการทำนาคือ  อาชีพปาดตาลโตนด  เอาน้ำตาลมาแปรรูปเป็นน้ำผึ้งเหลว  น้ำผึ้งแว่น  น้ำส้ม  น้ำหวาก  และการต้มเหล้าเถื่อน  จนชุมชนตะเครียะ-ชุมชนหนึ่งของท่งระโนด มีชื่อเสียงในเรื่องการต้มเหล้าที่มีดีกรีร้อนแรงโด่งดังไปทั่วลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า “ดีเหมือนเหล้าเครียะ”
 
ต้นโหนด  เป็นไม้ตระกูลปาล์ม  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา  ต่อมา แพร่พันธุ์สู่อินเดีย  ศรีลังกา  และกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น  พม่า  กัมพูชา  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย และไทย  ตามเส้นทางของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  เส้นทางการค้า และเส้นทางเดินทัพของพม่า และไทย
 
ปรากฏหลักฐานว่า  ที่พุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  มีต้นโหนดกระจัดกระจาย  โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทางไปบ้านนางสุชาดา  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันสถาน  ที่แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ มีต้นโหนด  เช่นเดียวกับที่วัดตาลหนุ่มเวฬุวนาราม วัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกที่พระอรหันต์  ๑,๒๕๐  องค์เข้าเฝ้าฟังโอวาทปาฏิโมกข์ในวันมาฆบูชา
 
คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ  ลำต้นทำเครื่องใช้เครื่องเรือน  การก่อสร้าง  เชื้อเพลิง  แป้งสาคู  กาว  และที่เกาะของหอยนางรม  ทางใช้เป็นเส้นใยทำเชือก  เครื่องจักสาน และทำรั้วบ้าน  คอกสัตว์  เชื้อเพลิง  ใบทำพัด  เครื่องจักสาน  ปุ๋ยพืชสด  เผาเป็นเถ้าใช้ในแปลงนา  ช่อดอกใช้ผลิตน้ำหวาน  ทำน้ำผึ้ง  น้ำตาลปึก  น้ำตาลแว่น  เครื่องดื่ม  น้ำส้ม  ผลอ่อนทำอาหารคาว  ผลแก่ใช้บริโภคสด  เชื่อม  บรรจุกระป๋อง  ผลแก่ส่วนเนื้อมีสีเหลืองสดนำมาคั้นเอาเส้นใยออกใช้ปรุงขนมหวาน  เมล็ดเพาะจาวตาล  อาหารสัตว์  ตากแห้งทำเชื้อเพลิง
 
คุณค่าด้านการแพทย์แผนไทย  รากมีสรรพคุณใช้ขับปัสสาวะ และตาลขโมย  คุณค่าด้านสังคม ทำให้ชุมชนมีอาชีพหลากหลาย  มีการติดต่อค้าขายเกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยน  คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลของระบบนิเวศ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น