ยะลา - คืบหน้ากรณีหลอกลวงร่วมทุนธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ล่าสุด ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งหลักฐานการร้องเรียนถึง DSI แล้ว ขณะที่ผู้เสียหายเผยคลิปบันทึกเหตุการณ์เข้าสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ประกอบการ
วันนี้ (2 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า จากกรณีที่มีผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจการจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ของห้างหุ้นส่วนจำกัด สมายทราเวล (2011) และมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 100 ราย เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ทางผู้เสียหายได้ส่งคลิปบันทึกภาพวิดีโอขณะที่เข้าพบกับ น.ส.ต่วนซารานี เจะอูเซ็น เจ้าของห้างหุ้นส่วนสมายทราเวล เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 ที่ผ่านมา โดยการเข้าพบดังกล่าวผู้เสียหายนับ 10 ราย ได้รวมตัวกัน และเข้าสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงจำนวนเงินที่ร่วมลงทุนไป แต่ไม่ได้รับเงินกลับคืนมา โดยผู้เสียหายมั่นใจว่า ถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันเข้าพบ น.ส.ต่วนซารารี
ซึ่งจากการเข้าพบมีผู้เสียหายได้บันทึกภาพเหตุการณ์ในขณะสอบถาม ซึ่ง น.ส.ต่วนซารานี บอกต่อผู้เสียหายทั้งหมดว่า จำนวนเงินดังกล่าวหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มของผู้ลงทุน แต่อยู่ที่ผู้ใดนั้นก็ไม่ทราบแน่ชัดต้องไปตรวจสอบกันเอง พร้อมทั้งบอกให้ผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีเอาเอง โดยหลังจากนั้น ห้างหุ้นส่วนสมายทราเวล ก็ได้ปิดทำการลงหลังจากนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. นายคุณากร สุทธิโมกข์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียหายนำหลักฐานเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการติดตามความคืบหน้า และร้องเรียนให้ทาง DSI และกองปราบปราม ได้เร่งติดตามคดีดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายทางธุรกิจจำนวนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท และมีผู้ที่ถูกหลอกลวงจำนวนมากกว่า 100 ราย โดยในส่วนของจังหวัดยะลานั้น ผู้เสียหายบางรายได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา และทางศูนย์ดำรงธรรมเองก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมไปติดตามความคืบหน้า ก็ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นคดีความเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “ในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง DSI แล้ว ขณะที่ผู้เสียหายบางส่วนยังกังวลว่าการไปแจ้งความที่กองปราบปรามนั้นจะไม่มีความคืบหน้า แต่จากการประสานยังไปทางกองปราบปราบ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า ได้ชี้แจงให้ผู้เสียหายร้องเรียนแจ้งความในพื้นที่เพื่อลดปัญหาการเดินทาง และเพื่อความสะดวกของผู้เสียหายเอง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวไปทางกองปราบปราม”
พร้อมยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ดำรงธรรมได้พิจารณาส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกรมสืบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาแล้ว โดยเห็นว่า หากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วไม่สามารถจะรับเป็นคดีพิเศษได้ ก็ให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไว้พิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป เนื่องจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นมีหน่วยงานที่สามารถจะดำเนินการเกี่ยวกับคดีในการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาทางทรัพย์สิน เช่น กองบังคับการปราบรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาทางเศรษฐกิจ เป็นขั้นตอนต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
เหยื่อธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบินยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงค์ธรรม ศอ.บต.หลังสูญเงินกว่า 400 ล้าน http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9580000058584