xs
xsm
sm
md
lg

“อับดุลลาตีฟ ขาวสะอาด”... “นักบุญ” แห่ง “ซอยนรก” ที่นราธิวาส?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร
 
อับดุลลาตีฟ ขาวสะอาด เป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนบ้านยี่งอน่าอยู่ หมู่ 7 ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557
 
อับดุลลาตีฟ มาทำเรื่องนี้เพราะวันหนึ่งเกิดระเบิดในตลาดยี่งอ เขาได้เห็นภาพของคนที่ประสบภัยแล้วคนอื่นในชุมชนกลับไม่ได้สนใจไยดีนัก ด้วยความอยากช่วยเหลือคนในชุมชน จึงเริ่มคุยกับคณะทำงานนำมาสู่แนวคิดการสร้างชุมชนเข้มแข็ง มีการเสนอรับการสนับสนุนจากโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
 
ครั้นเริ่มขับเคลื่อนปรากฏว่า พบน้ำหนักปัญหายาเสพติดที่ระบาดอยู่ในกลุ่มเยาวชนในหมู่ 7 ตำบลยี่งอ ซึ่งวงการยาเสพติดขนานนามว่า “ซอยนรก” เขาและคณะทำงานจึงมีเป้าหมายแน่วแน่จะเปลี่ยนชื่อ “ซอยนรก” ให้เป็น “ซอยสวรรค์” ให้จงได้
 
กิจกรรมใช้ศาสนาเป็นหลัก ชวนแกนนำเยาวชน 4-5 คนมาพูดคุย ต่อด้วยการจัดค่ายเยาวชนจิตอาสา สร้างจิตสำนึกให้เยาวชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ที่ตามมาเป็นการดึงครอบครัวมาพูดคุย ช่วยแก้ปัญหาเยาวชน นำหลักการทางศาสนาอิสลามมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 1.กองทุนซากาด เก็บเงินจากผู้มีรายได้ช่วยเหลือคนยากจนและมีปัญหา 2.ศูนย์พัฒนาสถาบันครอบครัวทำหน้าที่ช่วยคนที่ประสบปัญหา 3.ตั้งกลุ่มออมทรัพย์มัสยิดยาแมยี่งอ จัดสวัสดิการเจ็บไข้ได้ป่วย 4.รวบรวมกองทุนซากาดมาใช้ในลักษณะทุน
 
ในปีแรก อับดุลลาตีฟ ใช้ฐานคิด “รวมใจยี่งอเป็นหนึ่ง” แต่การเปลี่ยนซอยนรกเป็นซอยสวรรค์ทำยาก เขาใช้หลัก “ฮายาตุลตอยีบะห์” คือ หลักสร้างสุข และ “บาลดาตูลตอยีบะห์” หลักชุมชนน่าอยู่ตามหลักคำสอนอิสลลาม
 

 
โครงการระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ภายใต้ชื่อ “โครงการครอบครัวสร้างสุข ยี่งอน่าอยู่ คู่กระบวนการสภาซูรอ” อับดุลลาตีฟ ใช้แนวคิดสร้าง “ชุมชนของฉัน สวรรค์ของฉัน” ต้องการสื่อถึงความเป็นมิตรของคนในสังคมเดียวกัน
 
“ครอบครัวมี 2 ความหมาย อันแรกหมายถึง เทือกเถาเหล่ากอของแต่ละคน อีกความหมายหนึ่งคือ การอยู่ร่วมกันของชุมชน อย่างบ้านยี่งอนี่เราจะสร้างให้เป็นครอบครัวเดียวกัน คนที่มีอายุมากกว่า เราก็ถือว่าเป็นพี่ อายุน้อยกว่าเป็นน้อง นี่คือครอบครัวใหญ่”
 
คำว่า “สวรรค์” ในความหมายของทุกคนคือ สถานที่มีความสุข แต่ความหมายของเขายังหมายถึงการทำงานด้วยความสุขใจ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และการทำงาน มุ่งเน้นแลกกับผลบุญบนสวรรค์ที่ได้รับหลังเสียชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม
 
เขาใช้สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจ สร้างคนทำงาน ซึ่งกระบวนการมีแกนนำหลัก 5 คน ผลักดันตั้งสภาซูรอ คำว่า “สภาซูรอ” ตามวิถีอิสลาม หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนปรึกษาหารือ และเอามติ ข้อตกลงที่ได้เพื่อปฏิบัติ
 
กรณีของการขับเคลื่อนโครงการนี้ สภาซูรอมีเป้าหมายเฉพาะประเด็นครอบครัวเป็นหลัก มีเป้าหมายคนที่มาร่วมโครงการ 100 ครอบครัว มาตั้งเป็นสภาซูรอ ซึ่งพื้นฐานครอบครัวที่มาเข้าร่วมอับดุลลาตีฟ พบว่า มี 3 ประเภทคือ 1) ครอบครัวปกติ พ่อแม่ลูก อยู่ด้วยกัน ลูกไดรับการอบรมสั่งสอนจากบิดามารดา 2) ครอบครัวกลุ่มเสี่ยง มีลูกอยู่กับยาย พ่อแม่ไปทำงานมาเลเซีย หรือพ่ออยู่ต่างจังหวัด การที่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทำให้ไม่อบอุ่น 3) ครอบครัวที่มีปัญหา เขาสร้างแกนนำจากครอบครัวตัวอย่าง เลือกจากครอบครัวที่สามารถดูแลลูกให้ปลอดภัยจากอบายมุข และสิ่งเสพติดต่างๆ จนลูกประสบความสำเร็จ เป็นครอบครัวตัวอย่าง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครอบครัวกลุ่มเป้าหมาย
 
“เราเรียกผู้ปกครองกับเด็กมาอยู่ร่วมกัน และเชิญผู้รู้มาให้คำแนะนำ ทำกิจกรรมเสริมความรู้ให้แก่เด็ก เพราะเรามีเป้าหมายป้องกันดูแลเด็กจากสิ่งอันไม่ปรารถนา ไม่ว่าสิ่งเสพติด อบายมุข”
 

 
ในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน เขาใช้หลัก PPT ที่ย่อมาจาก Play คือ เอาเด็กที่ยังไม่เข้าวงจรปัญหามาเล่นฟุตบอล ทำกิจกรรม หรือการเล่นสนุกสนานตามประสาเด็ก และเยาวชน Party จัดงานแบบชวนเด็กมานั่งกินด้วยกัน พยายามทดแทนความสุขให้เด็ก และ Tour เอาเด็กไปเที่ยว ศึกษาดูงาน
 
“P-play P-party ทำแล้ว อย่างมานั่งทำกิจกรรม กินข้าวร่วมกัน อย่างอาหารเช้าที่เราเลี้ยงที่ลานมัสยิดเด็กก็มากัน”
 
ตอนแรกๆ คิดว่าจะใช้โอกาสพูดปัญหายาเสพติด ต่อมา คณะทำงานนำเสนอว่าไมควรเจาะจงปัญหาคนที่ประสบต่อปัญหาจริงมักไม่สบายใจต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ จึงหันมาพูดในภาพรวม
 
“อีกอย่างความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนก็ไม่ใช่ยาเสพติดอย่างเดียว ท้องก่อนวัย โทรศัพท์ เกมต่างๆ ที่เข้ามาเยอะแยะ เด็กจากซอยนรกนั้นความเสี่ยง 100% เราใช้ทฤษฎีป่าล้อมเมือง เอาชนะโดยเอาน้ำดีไปไล่น้ำเสีย”
 

 
เขาเล่าต่อว่า ช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา เด็กติดยาจากซอยนรกมาร่วมกิจกรรมโครงการแล้ว 3 คน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต่างอาสาบำบัดยาเสพติดตัวเอง มีการตอบรับกว้างออกไปเรื่อยๆ แต่เขายังต้องการขับเคลื่อนศูนย์พัฒนาสถาบันครอบครัว ที่มีสำนักงานอยู่ที่มัสยิดผ่าน 4 เสาหลักของชุมชน ประกอบด้วย นายกเทศบาล / ผู้นำศาสนา / ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน / ปราชญ์ชาวบ้าน
 
สภาซูรอ มีการวางระบบเอาว่า ในวันข้างหน้าหากครอบครัวไหนมีปัญหา เกินกำลังแก้ปัญหาเองในระดับครอบครัว จะมีการรวมตัว 4 เสาหลักเพื่อแก้ปัญหาให้เป็นกรณีๆ ไป
 
“บทบาทสภาซูรอ เราเคลื่อนครอบครัวผ่านกิจกรรมที่เราทำมาดังกล่าวแล้ว เรามีตัวแทนจากเทศบาล กรรมการมัสยิดกรรมการหมู่บ้าน ตัวแทนครอบครัวอยู่แล้วอีกชั้นหนึ่ง”
 
ที่ผ่านมา ทำงานมีการประชุมทุกเย็นวันจันทร์ หลังละหมาดอีซา เพื่อขับเคลื่อนสภาซูรอ เมื่อสภาซูรอมีความชัดเจนในตัวเอง ตั้งเป้าการประชุมสภา 2 ครั้งต่อปี หรือถ้ามีปัญหาเป็นกรณีพิเศษก็จะเรียกประชุม
 
“ความสำเร็จในปีที่ 2 ชัดเจนในการสร้างครอบครัวสร้างสุข สู่สังคมสันติสุข เรามีคำขวัญว่าจะจุดประกายความสุขทุกครัวเรือน”
 
คณะทำงานเป็นจิตอาสา แต่ละคนมีภาระเฉพาะส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยายามจะรวมตัวกันหลังละหมาด 2 ทุ่ม และหลังละหมาดวันศุกร์ เพื่อพาชุมชนเดินหน้าไปสู่ “ชุมชนของฉัน สวรรค์ของฉัน” ร่วมกัน

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น